เสรีภาพสื่อยุคโควิด วารสารศาสตร์แห่งความจริงยิ่งสำคัญ

 

เสรีภาพสื่อยุคโควิด วารสารศาสตร์แห่งความจริงยิ่งสำคัญ

 

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ Cofact.org เปิดเผยว่า ทุกวันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีถือเป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) ที่กำหนดโดยองค์การยูเนสโก (UNESCO) โดยแต่ละประเทศจะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพในการจัดสัมมนาใหญ่ ปีนี้ต้องงดกิจกรรมแต่ยังมีการรณรงค์ออนไลน์ทั่วโลก ปีนี้ยูเนสโกได้กำหนดธีมวันเสรีภาพสื่อในยุคโรคระบาดโควิด19 ว่า “วารสารศาสตร์ที่ปราศจากความกลัวและความลำเอียง” (Journalism without Fear or Favor) หมายถึงควรเน้นรายงานข้อเท็จจริงรวมถึงแสวงหาความจริง

และ รณรงค์เรื่องการสื่อสารในยุควิกฤตโควิด19 ว่า เราต้องใช้แนวคิดในการตั้งคำถาม “อย่าปล่อยข่าวลือ ร่วมค้นหาความจริงด้วยการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อมูลข่าวสาร เป็นช่วงเวลาที่เราต้องการความจริง และ สรีภาพสื่อในการค้นหาความจริงยิ่งขึ้นกว่าเดิม” รวมทั้งได้ขอบคุณสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่อย่างหนักในช่วงโรคระบาดนี้และบอกว่านอกจา หมอ พยาบาล แล้วก็มีข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริงในการช่วยชีวิตคนได้ และ ในยุคนี้สื่อมีความสำคัญเสมือนเป็นหน้ากากป้องกันไวรัสข่าวลวง

เอกสารเผยแพร่ขององค์การยูเนสโกสรุปประเด็นสำคัญในเรื่องเสรีภาพการแสดงออกและพัฒนาการของสื่อในยุคโควิด19ไว้ดังนี้

  1. ข้อมูลลวงด้านโรคระบาด(Dis-infodemic) ที่อันตรายเกิดขึ้นมาซ้ำเติมปัญหาโรคระบาดให้หนักหน่วงขึ้น
  2. มีองค์กรสื่ออิสระเกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลข่าวสารลวง (Fact checkers) ที่ท้าทายและจำเป็นมากยิ่งขึ้น
  3. บรรษัทแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียลุกขึ้นมาช่วยแก้ปัญหาแต่สังคมก็เรียกร้องความโปร่งใสในปฏิบัติการณ์มากขึ้นอีก
  4. กฎกติกาของรัฐนำไปสู่มาตการที่กระทบสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น
  5. การทำงานของนักข่าวที่ต้องการเปิดเผยข้อเท็จจริงให้คนรับรู้ ทำให้มีความเสี่ยงต่อชีวิต
  6. ผลกระทบจากโรคระบาดในทางเศรษฐกิจอาจส่งผลต่อความอยู่รอดขององค์กรสื่อ
  7. ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาดที่เกิดขึ้น ยังมีโอกาสในการยืนหยัดหลักการวารสารศาสตร์

ทีมงาน Cofact.org ได้สรุปความบางส่วนจากเอกสารขอองค์การยูเนสโกว่าด้วยเรื่องปัญหาข่าวลวง ตั้งแต่การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เกือบทุกประเทศทั่วโลก ทำให้การเผยแพร่ข้อมูลเท็จแพร่ไปเร็วไม่แพ้เชื้อไวรัส ข้อมูลลวงเหล่านั้นมีผลต่อเส้นทางการติดเชื้อ และทำให้เกิดความสับสนในการรับมือโรคระบาดทั่วโลกของแต่ละสังคมด้วย

จากรายงานขององค์การยูเนสโก นายอังตอนียู กูแตรึช เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ได้ออกมาเตือนว่าการแพร่กระจายของข้อมูลลวงถือเป็นศัตรูใหญ่ในการรับมือกับโรคระบาด เช่นเดียวกับทางองค์การอนามัยโลก(WHO) ที่ได้ให้คำนิยามโรคระบาดข้อมูลข่าวสารว่าเป็นโรคอันดับสองรองจากโรคระบาดโควิด19 เพราะการระบาดของข้อมูลข่าวสารหรือ “Infodemic” (อินโฟเดอมิก) คือสภาวะความท่วมท้นของข้อมูลที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วทั้งจริงบ้างลวงบ้าง ส่งผลให้ผู้คนไม่สามารถหาแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือและไว้ใจได้เมื่อถึงเวลาจำเป็นต้องใช้ ดังนั้นหลักการทางวารสารศาสตร์จึงเป็นหัวใจสำคัญในยุคโรคระบาดข้อมูลข่าวสารนี้ เพื่อต่อสู้กับมายาคติ ข่าวลือทั้งหลาย ป้องกันไม่ให้ข้อมูลลลวงแพร่กระจายต่อไปวงกว้าง

สุภิญญาสรุปประเด็นว่า ได้มีข้อเรียกร้องให้บรรษัทแพลตฟอร์มด้านสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ เฟซบุ๊ก ยูทูป กูเกิ้ล ทวิตเตอร์ และอื่นๆ ออกมาร่วมรับผิดชอบแก้ปัญหาให้มากขึ้นแม้ที่ผ่านมาจะทำบ้างแล้วแต่ยังไม่มากพอ เช่นการลบเนื้อหาที่พิสูจน์แล้วว่าเท็จและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ การขึ้นคำเตือนผู้ใช้งาน การสนับสนุนงบประมาณให้สื่อในแต่ประเทศร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง การแบ่งรายได้จากโฆษณา และการเปิดเผยข้อมูลเพื่อความโปร่งใสในการดำเนินงานของบรรษัทด้านแพลตฟอร์มการสื่อสารต่อสาธารณะให้มากขึ้น อย่างไรก็ตามการกำกับดูแลเนื้อหาโดยแพลตฟอร์มยังต้องเป็นไปตามหลักการด้านสิทธิมนุษยชนที่รองรับเสรีภาพในการแสดงออก การจำกัดเนื้อหาต้องแน่ชัดแล้วว่าไม่ขัดต่อหลักเสรีภาพพื้นฐาน เป็นต้น

สุภิญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า Cofact.org ร่วมแสดงเจตจำนงสนับสนุนแนวทางและข้อเสนอขององค์การสหประชาชาติและยูเนสโกในเรื่องดังกล่าวในวาระวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกปีนี้ พร้อมทั้งทำงานเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมในเมืองไทยร่วมกันตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่กระทบต่อสุขภาพของประชาชนในภาวะโรคระบาดโควิดยังคงดำเนินต่อไป เพราะเราก็เชื่อมั่นในวารสารศาสตร์แห่งความจริงโดยปราศจากความกลัวและความลำเอียง การไม่เชื่อหรือเชียร์อะไรโดยง่ายแต่ต้องมีการสืบค้นข้อมูลว่าอะไรจริงอะไรลวงเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันของสังคม ผู้ใช้สื่อต้องตั้งสติในการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารที่กระทบสุขภาพและหยุดแพร่การระบาดของไวรัสข่าวสาร ดังคำขวัญรณรงค์ของยูเนสโกที่ว่า “เราต้องไม่ปิดตา (จากความจริง) เพื่อปกป้องตัวเราเอง” (แม้ว่าจะต้องใส่หน้ากากเพื่อปิดจมูกและปากป้องกันตนเองจากเชื้อไวรัสโคโรนาก็ตาม)

ที่มาข้อมูล https://www.thereporter.asia/th/world-press-freedom-day/