เปิดคำอภิปราย กสทช. ประวิทย์และ กสทช. สุภิญญา กรณีสำนักงาน กสทช. ฟ้องนักวิชาการและสื่อมวลชน
จากกรณีที่กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ที่ประกอบไปด้วย พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาท หมายเลขดำที่ 3172/2556 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2556 โดยมีนางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และนางสาวณัฎฐา โกมลวาทิน ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ตามลำดับ
ต่อมา กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา และ กสทช. สุภิญญา กลางณรงค์ ได้จัดทำวาระการประชุม กสทช. เรื่อ งการยื่นฟ้องหมิ่นประมาทต่อนักวิชาการและสื่อมวลชน เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม กสทช.ครั้งที่ 9/2556 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2556 วาระการประชุมที่ 5.16 ซึ่งที่ประชุมได้รับฟังคำชี้แจงแล้วมีมติรับทราบ และหลังจากการประชุมฯ ได้มีการนำคำอภิปรายของ กสทช. ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่นำเสนอเป็นข่าวในเว็บไซต์ของสำนักงาน กสทช. ตลอดจนทางหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ดังนั้นสำนักงาน กสทช.จึงได้เรียบเรียงคำอภิปรายจากเทปบันทึกเสียงของ กสทช. ประวิทย์ และ กสทช. สุภิญญา ในการประชุม กสทช.ดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้ข้อมูลอย่างรอบด้านและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างครบถ้วน โดยมีรายละเอียดดังนี้
กสทช. ประวิทย์ฯ กล่าวอภิปรายในฐานะผู้เสนอระเบียบวาระดังกล่าวในเบื้องต้นว่า: วาระนี้เป็นเรื่องที่เสนอร่วมระหว่างผมและ กสทช.สุภิญญาฯ เรียนให้ทราบว่า โดยหลักการอยากให้แยกการพิจารณาเป็นการใช้สิทธิฟ้องในนามบุคคลของทั้ง 4 ท่าน ซึ่งไม่ก้าวล่วง แต่ในส่วนนี้เป็นประเด็นที่อยากหารือเฉพาะในส่วนของสำนักงานฯว่าจะมีแนวทางอย่างไร ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพราะประเด็นที่อาจจะเกิดคำถามคือสำนักงาน กสทช. ซึ่งมีส่วนในการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ด้วย เมื่อเกิดกระบวนการที่เป็นปัญหาในเนื้อหา เฉพาะ ในส่วนของเนื้อหาที่นำเสนอผ่านรายการโทรทัศน์ มีกระบวนการกำกับดูแลลักษณะอื่นไหม ในฐานะองค์กรกำกับดูแล นอกจากใช้สิทธิ์ชั้นสุดท้ายคือการไปฟ้องศาลโดยตรง ในอีกส่วนหนึ่งขอสอบถามว่ากระบวนการที่สำนักงานฯจะไปแจ้งความดำเนินคดี หรือไปฟ้องศาลก็ตามแต่ ส่วนใหญ่ผ่านการพิจารณาในชั้นไหนบ้าง เพราะเท่าที่ผมจำได้แม้แต่กรณีมือถือจีนสำนักงานฯ ก็ยังพยายามเอาเข้าเป็นมติที่ประชุม หรือกรณีที่มีการดำเนินคดีผู้เข้าร่วมการจัดการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะก็มีการพิจารณา ในที่ประชุมว่าจะมีระดับอย่างไร ว่าเรื่องไหนที่สำนักงานฯ คิดว่าดำเนินการโดยจะต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการไม่ว่าชุดใดก็ตามแต่ หรือเรื่องไหนที่ดำเนินการได้เลย และในกระบวนการดำเนินการได้เลยก็เป็นทางเลือกอีกเหมือนกันว่า โดยปกติถ้าเป็นหน่วยงานราชการ ตามมติ ค.ร.ม. กระบวนการจะต้องไปแจ้งความดำเนินคดีเท่านั้น ไม่ใช่ไปดำเนินการเอง โดยเฉพาะเป็นกรณีที่ผู้ถูกแจ้งหรือผู้แจ้งเป็นหน่วยงานรัฐทั้งคู่จะเกิดปัญหาความลักลั่น สมมติอัยการเป็นทนายให้โจทก์และอัยการเป็นทนายให้จำเลย ดังนั้น อัยการสูงสุดจะชี้เองว่าจะควรหรือไม่ควรอย่างไร เรื่องแบบนี้ก็เป็นปัญหาเชิงนโยบาย โดยหลักการแล้วกระบวนการในการดำเนินการทางคดีก็มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มกว่าค่าใช้จ่ายในการแจ้งความดำเนินคดี เช่น ตอนนี้เราฟ้อง ขสมก. เรื่องไม่เสียค่าธรรมเนียมเลขหมาย แต่เราให้อัยการเป็นคนดำเนินการ ถ้าอัยการสั่งไม่ฟ้อง ก็สั่งไม่ฟ้อง ถ้าสั่งฟ้องก็สั่งฟ้อง ดังนั้น ประเด็นตรงนี้จึงเป็นดุลพินิจของหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนกฎหมายของรัฐจะได้ชั่งได้ว่าอะไรเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น จึงเป็นประเด็นว่ากระบวนการอย่างนี้ควรจะมีการดำเนินการเป็นขั้นตอนอย่างไร เช่น ไม่แน่ใจว่าเลขาธิการมีบันทึกให้หน่วยงานใดรวบรวมข้อเท็จจริงหรือไม่ มีบันทึกให้หน่วยงานกฎหมายไหนให้ความเห็นข้อกฎหมายไหมว่าเข้าอะไรอย่างไร และดำเนินการครั้งสุดท้ายรายงาน ประธาน กสทช. รับทราบหรือไม่อย่างไร เพราะขั้นตอนที่ผ่านมาผมไม่ได้รู้ในรายละเอียด จึงเป็นประเด็นว่าลักษณะนี้ควรจะมีแนวทางอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องมันคาบเกี่ยวกันระหว่างการฟ้องในนามบุคคลและฟ้องในนามองค์กร ถ้าเป็นการฟ้องในนามองค์กรแล้วมีการเอ่ยถึงว่าอาจจะใช้สิทธิ์ร้องคดีในเขตอำนาจศาลได้ทั่วราชอาณาจักร ถ้าเป็นเอกชนเป็นบุคคลธรรมดาผมว่าเข้าใจได้ แต่เมื่อเป็นหน่วยงานรัฐประกาศอย่างนี้กับผู้อื่นก็เลยไม่แน่ใจว่าสัญญาณเป็นเรื่อง การเรียกร้องความยุติธรรมหรือเป็นการสร้างภาระให้กับผู้ถูกฟ้องคดีหรือไม่อย่างไร และผมไม่แน่ใจว่าตอนนี้แนวทางปฏิบัติของศาลในการดำเนินการ กับคดีที่ถูกฟ้องลักษณะทั่วราชอาณาจักรนี้ ศาลมีแนวทางอย่างไร เพราะมิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาเรื่องทรัพยากรของรัฐอีก เพราะท่านต้องไปฟ้องๆๆๆรายจังหวัดก็ต้องลงทุน แล้วคุ้มกับผลตอบแทนหรือความยุติธรรมที่จะได้รับหรือไม่อย่างไร จึงอยากฟังความเห็นของสำนักงานฯ และอยากหารือแนวปฏิบัติว่าต่อไปเรื่องการฟ้องคดีควรจะมีแนวทางมากน้อยอย่างไร นี่คือในส่วนที่ผมนำเสนอ แต่ในส่วน กสทช. สุภิญญาฯ ซึ่งเป็นผู้ร่วมเสนออาจมีประเด็นเพิ่มเติมโดยเฉพาะในเรื่องเสรีภาพหรือเรื่องการกำกับดูแลกิจการวิทยุโทรทัศน์
กสทช. สุภิญญาฯ กล่าวว่า: จากประเด็นข้อกฎหมาย ขอเสริม กสทช.ประวิทย์ฯ ในประเด็นแรก ถ้าฟ้องในฐานะหน่วยงานของรัฐ เราจะฟ้องเองได้เลยทันทีหรือไม่ ควรจะต้องมีกระบวนการในการพิจารณาอย่างที่ กสทช.ประวิทย์ชี้แจงหรือไม่ หากเทียบกับกรณีอื่น ๆ ที่ร้ายแรงกว่านี้ ประเด็นนี้สำนักงานต้องตอบให้ชัดเจน ประเด็นที่สอง ดิฉันคิดว่าการฟ้องเกิดผลกระทบทางลบมากกว่าทางบวก ในส่วนตัวของดิฉันซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ขณะนี้มีการถกเถียงกันถึงแนวทางไม่ว่าจะเป็นตามร่างประกาศที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 37 หรือแนวทางการกำกับดูแลตนเองตามมาตรา 39 และ มาตรา 40 ดังนั้นการที่ กสทช.ไปฟ้องหมิ่นประมาทสถานีไทยพีบีเอส จึงเป็นการกระทบต่อแนวทางเรื่องการส่งเสริมการกำกับดูแลตนเอง กล่าวคือ เรากำลังรณรงค์ว่า หากสื่อมีการพาดพิงต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลาย เราจะต้องส่งเสริมให้เขากำกับตนเองก่อน ด้วยการเปิดให้มีการชี้แจง ให้สมาคมวิชาชีพตักเตือน หากมีความผิดพลาด หรือขัดกับกฎหมาย จึงจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของกรรมการ หลักที่ควรจะเป็นที่ดิฉันและบอร์ดกสท.ต้องทำตามกฎหมายคือ ส่งเสริมให้สื่อกำกับกันเองตามกรอบจรรยาบรรณ และมีกลไกการร้องเรียนวิชาชีพ แต่ถ้าองค์กร กสทช.เองไปดำเนินการฟ้องร้อง ย่อมทำให้สังคมสับสนต่อกระบวนการตรงนี้ที่เรากำลังทำงานอยู่
ในฐานะ กสทช.ด้านสิทธิเสรีภาพ ดิฉันไม่อยากก้าวล่วงการตัดสินใจของท่านทั้งสี่ แต่จะขออภิปรายด้วยความปรารถนาดีว่า จากประสบการณ์ที่เคยถูกฟ้องหมิ่นประมาทมาก่อน และจากกระแสข่าวที่ตอบกลับจากสื่อมวลชน และนักวิชาการ ตลอดจนผู้ที่เคยเป็นมิตรกับเรา ก็ทำท่าจะไม่เป็นมิตรด้วย นอกจากนี้เรื่องยังกำลังลุกลามไปยังองค์กรต่างประเทศ ปฏิกริยาเหล่านี้จะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี อย่างไรก็ตาม ในมุมของผู้ที่อยากเห็นความขัดแย้งหรืออยากเห็นการตรวจสอบ ย่อมพอใจในกระบวนการฟ้องร้องและอาจนำกรณีดังกล่าวมาเพื่อใช้เป็นการตรวจสอบ กสทช.มากขึ้น โดยส่วนตัวจึงเห็นว่า กรณีการฟ้องร้องเช่นนี้มีผลลบมากกว่าผลบวกในระยะยาว แม้ว่าสุดท้ายแล้วท่านผู้ฟ้องอาจคิดว่าจะเป็นฝ่ายชนะคดีก็ตาม แต่ว่าบาดแผลระหว่างการฟ้องร้องอาจจะเกินเยียวยาก็ได้ จึงอยากขออนุญาตแนะนำผู้ฟ้องว่า ควรใช้วิธีการทบทวนหรือเจรจาจะเป็นการเหมาะสมกว่า ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นส่วนตัว
แต่โดยหลักการ คิดว่า ในฐานะสำนักงาน ฯ คงต้องคำนึงถึง กระบวนการทางกฎหมายหรือผลกระทบในระยะยาวที่เป็นนิติบุคคลทั้งหมด สำหรับผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อ ซึ่งจะขัดแย้งกับแนวทางที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายส่งเสริมให้สื่อกำกับดูแลกันเอง เนื่องจากเราเป็นหน่วยงานด้านกำกับดูแล แม้ว่าท่านจะอยู่ในฝั่งกิจการโทรคมนาคม แต่ท่านฟ้องสถานีโทรทัศน์ซึ่งเป็น ผู้ได้รับใบอนุญาตที่กสทช.กำกับดูแลอยู่ ขณะเดียวกันไทยพีบีเอสก็เป็นองค์กรของรัฐ เท่าที่ทราบข่าวอัยการได้รับที่จะว่าความให้กับไทยพีบีเอสแล้ว ดิฉันคิดว่า ถ้าองค์กรของเราจะไปสู้คดีกับอัยการจะเป็นเรื่องวุ่นวายมาก ดิฉันเรียนประเด็นนี้ไว้เพื่อให้พิจารณาทางอื่นที่ดีกว่านี้ และเพื่อให้มีทางออกที่ดีกับทางกทค.ด้วย
หากทาง กทค.เป็นห่วงเรื่องกรณีคลื่น 1800 เมกะเฮิรซ ท่านก็จะเห็นได้ว่า เมื่อเวลาผ่านไปคนก็จะวิจารณ์ในเรื่องอื่น และหากท่านมีเหตุผลที่ดีและมีผู้บริโภคสนับสนุน ท่านก็ไม่ต้องกลัว เพราะที่ผ่านมา มีทั้งฝ่ายที่เข้าใจ ส่วนฝ่ายที่ไม่เข้าใจก็มีสิทธิ์วิจารณ์ แต่หากยิ่งมีการฟ้องจะทำให้เรื่องนี้อยู่ตลอดไปและแรงขึ้นเรื่อย ๆ
ดิฉันเห็นว่า แทนที่จะไปฟ้องศาลเลย ควรจะมีกลไกอื่น เช่น ทำไมไม่ไปร้องเรียน กรรมการนโยบายไทยพีบีเอส ไม่ร้องเรียนสภาวิชาชีพ หรือร้องมาที่ กสทช.พลโท ดร.พีระพงษ์ฯ ก็ได้ เพราะ ท่านมีอำนาจในการวินิจฉับเนื้อหาก่อนที่จะไปถึงขั้นศาล การไปขั้นศาลคือทางสุดท้ายที่ความเสียหายไม่อาจเยียวยาได้ตามกระบวนการกำกับดูแลกันเองหรือกำกับดูแลร่วม ตลอดจนการกำกับเนื้อหาตามมาตรา ๓๗ ของพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ การที่กระโดดไปฟ้องศาลเลยนั้นจะเป็นการสร้างมาตรฐานและการกำกับดูแลที่ทางฝั่ง กสท.กำลังออกแบบกันอยู่จะรวนเร ดิฉันไม่ได้ตัดสิทธิ์การฟ้อง แต่พยายามอภิปรายให้เห็นว่ามีระดับของสิทธิในการโต้ตอบ (Right of Reply) ซึ่งคือการที่จะทำให้เกิดการวินิจฉัยหรือทบทวนเวลาสื่อนำเสนออะไรที่อาจจะกระทบกับสังคมหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
กสทช. ประวิทย์ฯ กล่าวอภิปรายเพิ่มเติม: ขอเรียนว่า1) ผมพยายามมุ่งประเด็นเรื่องการฟ้องคดีกับใครก็ตามแต่ที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของเรา ซึ่งต่อไปอาจเกิดปัญหา คือครั้งนี้ถึงแม้เราฟ้องบุคคลที่ดำเนินรายการ แต่สถานีซึ่งเป็น นิติบุคคลถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่และได้ติดต่ออัยการมาแก้ต่างในฐานะการปฏิบัติหน้าที่ ปัญหาตอนนี้คือว่าเขาเป็นผู้รับใบอนุญาตจากเรา แล้วต่อไปจะเกิดข้อพิพาทเรื่องวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ว่าเป็นปฏิปักษ์กันอยู่ การใช้ดุลพินิจชอบหรือไม่ชอบอย่างไร ปัญหานี้ถ้าเป็นบุคคลอื่นยังอาจจะมีความอ่อนไหวน้อยกว่า แต่ถ้าเราเล่นกรณีนี้กับผู้รับใบอนุญาตเราไม่ว่าจะฝั่งโทรคมนาคม หรือฝั่งกระจายเสียง ก็จะเจอโจทย์นี้ ยกตัวอย่างง่ายๆ ผมไม่ได้สรุปนะครับ แต่ว่าผมรู้สึกว่าสมัยหนึ่งซึ่งมี operator รายหนึ่งฟ้องเรื่อง 3G หลังจากนั้นมติไม่เป็นคุณกับเขาเลย เขาก็รู้สึก เฉพาะบริษัทนี้จะทำอะไร เนื่องจากคุณฟ้องคดีอยู่ อะไรก็ไม่เป็นอำนาจเรา เราไม่อนุมัติทำนองนี้ ซึ่งทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมไม่เติบโต ฉะนั้นโดยหลักความสัมพันธ์ระหว่างเรากับ operator ควรอยู่ภายใต้ Regulation หรือกฎหมายที่กำหนด ไปทำความสัมพันธ์ที่ผิดปกติ ซึ่งอาจจะจำเป็นหรือไม่จำเป็นนั้นก็เรื่องหนึ่ง ดังนั้นตรงนี้อยากให้ระมัดระวัง อันที่ 2) ถ้าสำนักงานฯ เข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ควรเด็ดขาดที่สำนักงานฯ จะใช้คำว่าฟ้องทั่วราชอาณาจักร ใช้สิทธิ หน่วยงานของรัฐใดก็ตามไปฟ้อง ทั่วราชอาณาจักร ผมว่าไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ เอกชนทำได้บุคคลธรรมดาทำได้ ดังนั้น ตรงนี้ต้องพยายามแยกให้ออกว่าส่วนไหนเป็นสิทธิส่วนบุคคล ส่วนไหนเป็นสิทธิของสำนักงานฯ และอยากที่บอกการฟ้อง ทั่วราชอาณาจักรเป็นการเพิ่มภาระงบประมาณไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าคุ้มหรือไม่ และกระบวนการขั้นตอนแนวทางในการดำเนินการของศาลในปัจจุบันมีการรวมสำนวนรวมคดีหรือไม่อย่างไร ก็ต้องไปศึกษา และผมอยากให้มีความรอบคอบในการรวบรวมข้อเท็จจริง ไม่แน่ใจว่าท่านตั้งคณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงหรือไม่ และตั้งคณะกรรมการให้ความเห็นทางกฎหมายหรือไม่ว่าสมควร (1) เจรจา (2) มี Notice เตือน (3) ฟ้อง คือมีลำดับขั้นหรือไม่ ยกตัวอย่างผมไม่แน่ใจ ตอนที่เคยทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เวลาผมให้ข่าวอะไรเอกชนยื่น Notice เต็มไปหมด เขาจะไม่เริ่มต้นด้วยการฟ้องเลย คือพูดง่ายๆเขาจะโทรมาเจรจาด้วยซ้ำไป หรือฟ้องแล้วก็ยังมีกระบวนการเจรจาอยู่ ไม่แน่ใจว่าลำดับขั้นตอบการดำเนินการของสำนักงานฯ เป็นอย่างไร หรือคิดว่าไม่ต้องมี Notice ฟ้องได้เลย และต้องใช้ดุลพินิจว่าแล้วลักษณะนี้เราจะเลือกใช้ วีธีการแจ้งความดำเนินคดีหรือฟ้องเองอาจจะต้องมี criteria ว่ากรณีไหนอย่างไร ไม่เช่นนั้นเราจะเป็นหน่วยงานฟ้อง ปกติถ้าแจ้งความดำเนินคดีก็ตรงไปตรงมา แล้ว criteria แบบไหนที่ท่านจะฟ้องดำเนินคดีเอง แล้วปัญหาคือว่าภาระค่าใช้จ่ายตรงนี้ การนำเงินงบประมาณซึ่งควรใช้ในการกำกับดูแลหรือไปพัฒนาอุตสาหกรรมมาใช้ตรงนี้ ได้มองผลกระทบมากน้อยแค่ไหนอย่างไร แล้วที่อ้างถึงจริยธรรมว่าพนักงานต้องรักษาชื่อเสียง ผมก็อยากให้ลองติดตามกระแสสังคมหรือกระแสทางวิชาการว่าตกลงไม่รู้ก่อนฟ้องกับ หลังฟ้องชื่อเสียงดีขึ้นหรือแย่ลง โดยเฉพาะกรณีที่เราเป็น Regulator และเมื่อเดือนก่อนตามที่มีการ รายงานการดำเนินการ กสทช.สุภิญญาฯ เชิญ FCC มาพูดถึง เขาก็บอกชัดเจนว่า Regulator ต้อง Thick skin คือถูกวิพากษ์วิจารณ์ตลอดต้อง Thick skin แล้ว Regulator FCC ไม่ทะเลาะกับใคร ไม่ว่าเสียงข้างมากเสียงข้างน้อยหรือกับคนภายนอกเขาไม่ทะเลาะด้วย ไม่ประกาศท่าทีเป็นปฏิปักษ์ เขาต้องรู้จุดยืนของตัวเขา หรือสำนักงานฯ ว่าเราเป็นหน่วยงานบริการสาธารณะของรัฐ แน่นอนบุคคลสาธารณะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ว่าต้องมีขอบเขตว่าระดับไหนอย่างไร ตรงนี้ผมจึงไม่แน่ใจว่าทั้งหมดทั้งมวลทางเลขาธิการ ได้รายงานประธาน กสทช. ก่อนหรือไม่ แล้วมีความเห็นอย่างไร ขั้นตอน ไม่เฉพาะกรณี้นี้แต่กรณีต่อไปจะเป็นอย่างนี้อีกไหม อยากให้ชี้แจงทำนองนี้
ต่อมา กสทช. ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้ชี้แจง ความดังที่มีการเผยแพร่ไปแล้ว หลังจากนั้น กสทช. ประวิทย์ฯ จึงกล่าวอภิปรายอีกครั้ง: เกรงว่าจะเข้าใจผิดว่าผมสนิทกับใคร โดยหลักแล้วนักวิชาการที่มาเป็นกรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมผ่านกระบวนการสรรหา แล้วแต่งตั้งโดยกรรมการ กทช. โดยที่เจ้าหน้าที่หรือผู้อำนวยการสถาบันไม่มีสิทธิ์ยุ่งเกี่ยว ดังนั้น ผมไม่เคยรู้จักอาจารย์เดือนเด่นฯ มาก่อนที่จะเข้ามาเป็นกรรมการสถาบันฯ จนตอนนี้ก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจบที่ไหน
ขอเรียนว่าที่ปรากฏเป็นข่าวเพราะมีการเผยแพร่ข่าวบอกว่า คนถูกฟ้องอ่วม และมีการถ่ายภาพคำฟ้องหน้าแรกส่งกระจายตาม E-mail นักข่าวได้รับ ดังนั้น คนเผยแพร่ข่าวตรงนี้ อาจจะหลุดจากสำนักงานฯ หรือคนในสำนักงานฯ ก็ว่ากันไป แต่ข่าวที่เป็นข่าวเพราะว่ามีคำต่อท้าย อย่างที่พิมพ์อยู่ในวาระการประชุม “ดังนั้น โจทก์ทั้ง 5 จึงอาจใช้สิทธิ์ฟ้องร้องคดีในเขตราชฐานได้ทั่วราชอาณาจักรด้วย” อันนี้ไม่ได้แปลว่าในคำฟ้องมี แต่ข่าวที่ปล่อยไปมี นักข่าวก็ไปกระพือกันใหญ่ แล้วโดยหลักถามว่าทำอย่างไร ถ้าท่านเลขาธิการจำได้ ผมมีบันทึกขอสำนวนฟ้องในส่วนของสำนักงานฯ แต่ผมยังไม่ได้ แต่บังเอิญวันนี้ ท่านแจกก่อน คือเราก็อยากอ่าน เพื่อจะได้วางท่าทีถูก เพราะอ่านจากข่าวอาจจะลำบาก แต่ตอนนี้ผมขออะไรอาจจะไม่ค่อยได้จากสำนักงานฯ นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
แล้วก็ผู้บริหารสื่อเองยังบอกด้วยซ้ำว่าผู้บริหารระดับสูงสำนักงานฯ บอกว่า ชิงฟ้องเวลาถูกฟ้องจะได้มีน้ำหนักแล้วก็อยากถอนฟ้อง แต่พอข่าวออกไป ค่ำวันนั้นไม่รู้เด็กสำนักงานฯ คนไหนไปเขียนข่าวว่าไม่ถอนฟ้อง แน่นอนนี่คือในส่วนสำนักงานฯ ส่วนของกรรมการท่านเข้าใจว่าเป็นสิทธิ์ ผมไม่เคยแตะอยู่แล้วที่แต่ละท่านใช้สิทธิ์ ดังนั้นตรงนี้สัญญาณจากสำนักงานฯ ก็สับสนเอง ท่านไปพูดกับสื่อแบบหนึ่ง แล้วเย็นก็มีปล่อยข่าวประชาสัมพันธ์ในนามสำนักงานฯ โดยใครที่ท่านอาจจะไม่ดูแลอีกส่วนหนึ่ง เราก็เลยอยากรู้ว่ากระบวนการอย่างนี้ควรจะมีเป็นระบบ เป็นขั้นตอน อาจจะต้องให้ท่านประธานฯ กำกับดูแล แล้วก็โดยหลักวันนี้ที่พยายามเสนอเป็นเรื่องของสำนักงานฯ เท่านั้น ผมไม่กล้าแตะเรื่องของกรรมการแต่ละท่าน เลยอยากให้มีการวางแนวการดำเนินคดีลักษณะนี้ โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับผู้รับใบอนุญาตซึ่งจะเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติราชการทางปกครองตามมา และก็อยากให้มีความรอบคอบ อย่างเช่น การรวบรวมข้อเท็จจริง ในส่วนของสำนักงานฯ ไม่ใช่ส่วนของกรรมการ 4 ท่าน ผมไม่ก้าวล่วง การให้ความเห็นของสำนักกฎหมายของสำนักงานฯ ว่าควรดำเนินการในระดับไหนอย่างไร มีขั้นมีตอนอย่างไรไหม แน่นอนว่า ถ้าเป็นบุคคลท่านฟ้องได้เลย ส่วนของสำนักงานฯ ควรเป็นลักษณะนั้นหรือไม่ เพราะแม้แต่กระบวนการกำกับดูแลเราก็มีการแจ้งคำสั่งมีการแจ้งเตือนมีขั้นตอนต่างๆเป็นลำดับชั้น สำนักงานฯ ควรจะมีวิธีการอย่างไรไหม และชัดเจนอย่างที่ผมยืนยันมาตลอดว่า สำนักงานฯ ไม่ควรให้ข่าวใดๆ ว่าอาจจะฟ้องไป ทั่วราชอาณาจักร นี่เฉพาะในส่วนของสำนักงานฯ แล้วชัดเจนว่าสำนักงานฯ คงไม่ใช่เงินจากกระเป๋าท่านเลขาธิการ เป็นงบประมาณของสำนักงานฯ ดังนั้น การดำเนินการฟ้องคือต้นทุนที่เราใช้ในการกำกับดูแล ส่วนของแต่ละท่านเข้าใจว่าท่านใช้เงินของท่าน ไม่ก้าวล่วงอยู่แล้ว ก็เลยอยากมุ่งเน้นไปส่วนของสำนักงานฯ เป็นหลัก
กสทช.สุภิญญาฯ กล่าวเสริมว่า: ประเด็นที่ทั้งกสทช.ประวิทย์ฯ และดิฉันนำเสนอ ท่านอาจจะเห็นว่า เราชอบทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับท่าน แต่ดิฉันอภิปรายด้วยความปรารถนาดีว่า ข้างนอกได้เครื่องมือแล้วที่จะตรวจสอบ กสทช. ท่านจะให้เขาดำเนินการต่อ ถือเป็นสิทธิ์ของท่าน แต่ว่า เราก็เป็นส่วนหนึ่งใน กสทช. เราก็รักองค์กรนี้ ที่อภิปรายมานี้เพื่อให้ท่านคิดว่าผลลัพธ์ตอนท้ายจะเป็นผลเสียมากกว่า แม้ท่านจะมีความมั่นใจอย่างไรก็ตามแต่วิธีการที่ท่านใช้ (Proportionate Means) ต่อเรื่องบางเรื่อง ท่านใช้วิธีที่เบามาก ขณะที่บางเรื่องท่านใช้วิธีที่แรงมาก กระบวนการทั้งหมดท่านเลขาธิการได้ปรึกษาท่านประธาน กสทช.หรือไม่ ท่านในนามสำนักงานฯ ได้สอบถามฝ่ายกฎหมายของ สำนักงานฯ ไหม มี Notice ไหม ถ้าถูกเล่นงานกลับจะตอบคำถามเหล่านี้ยากทั้งหมด ในส่วนสำนักงานฯ ต้องปกป้องตรงนี้ด้วย การที่ท่านบอกว่า การฟ้องร้องเพื่อปกป้องชื่อเสียงขององค์กร ตอนนี้ชื่อเสียงถูกวิจารณ์มากกว่าตอนก่อนจะฟ้องเสียอีก ท่านควบคุมผลกระทบในทางลบนี้อย่างไร ในฐานะที่เราเป็นองค์กรกำกับดูแล เราโต้แย้งกับผู้วิจารณ์เราโดยใช้ข้อมูลแย้ง เช่น ถ้าเขาบอกว่าผลเสียหายแสนกว่าล้าน ท่านก็โต้กลับไปว่าไม่เสียหายขนาดนั้น เหมือนเช่นที่รัฐบาลโต้กลับในคดีจำนำข้าว หรือเรื่องต่าง ๆ สังคมจะได้เรียนรู้ไปด้วย ผู้วิจารณ์ไม่ได้กล่าวหาว่าเราทุจริตคดโกง แค่บอกว่า ประมูลแล้วจะทำให้เสียหายทางเศรษฐกิจ เราก็โต้แย้งกลับไป ดิฉันเห็นว่า ประเด็นต่าง ๆ ที่ผ่านมายังไม่มีประเด็นใดที่ไม่สามารถโต้แย้งในพื้นที่สาธารณะได้ เท่าที่ติดตาม เขาก็ไม่ได้วิจารณ์ท่านเลขาธิการหรือสำนักงานฯ แต่วิจารณ์สิ่งที่เป็นนโยบายสาธารณะ ดิฉันเห็นว่าสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องกลั่นกรองให้รอบคอบก่อน อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้คือจุดยืนของดิฉันที่ไม่เห็นด้วยกับการฟ้องร้อง เพราะว่าขัดหลักสิทธิเสรีภาพ ขัดกับหลักธรรมาภิบาล ถ้าหากท่าน กทค.ทั้งสี่ท่าน จะเดินหน้าฟ้องโดยส่วนตัวก็ว่าไปตามแนวของท่าน ส่วนสำนักงานฯ จะเดินหน้าฟ้องร้องต่อ ดิฉันจะต้องทำบันทึกคัดค้านและสงวนความเห็น ท่านอาจจะต้องเตรียมสู้คดีนี้ต่อสังคมสาธารณะที่อาจจะฟ้องกลับหรืออะไรก็ตามแต่
อย่างไรก็ดี เนื่องจากที่ประชุมเพียงมีมติรับทราบในระเบียบวาระนี้ โดยไม่มีการพิจารณาในประเด็นใดๆ ตามเสนอทั้งสิ้น กสทช. ประวิทย์ฯ จึงแจ้งว่า: ผมจะทำบันทึกความเห็นในประเด็นที่พูด แต่ผมไม่ก้าวล่วงสิทธิส่วนบุคคล แต่เฉพาะองค์กรว่าดำเนินการแล้วมีผลกระทบ อาจจะต้องมีแนวทางอย่างไร ท่านเลขาธิการฯ ช่วยตอบด้วยว่าตอนฟ้องเรียนท่านประธาน กสทช. หรือไม่
ด้าน กสทช.สุภิญญาฯ ก็แจ้งที่จะเปิดเผยความเห็นเช่นเดียวกัน: ดิฉันจะจัดทำบันทึกเปิดเผยความเห็น อย่างไรก็ตามตามที่ได้มีการอภิปรายพาดพิงถึงการฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทที่เกิดกับดิฉันนั้น ดิฉันขอแก้ไขว่าดิฉันไม่ได้ถูกอดีตนายกรัฐมนตรีฟ้องร้อง แต่ถูกบริษัทเอไอเอสฟ้อง และคล้ายกับคดีฟ้องร้องในครั้งนี้คือ บริษัทฟ้องว่าดิฉันไปกล่าวหาเขาว่า เขารวยขึ้นหนึ่งหมื่นห้าพันล้านบาท เพราะว่านโยบายของรัฐบาล บริษัทได้ฟ้องดิฉันเหมือนที่ท่านกำลังฟ้องคือ กล่าวหาว่าดิฉันกุตัวเลข หลังการสู้กันในศาล ดิฉันชนะคดี ก่อนที่ศาลจะตัดสิน ได้มีการมาขออ้อนวอนให้ดิฉันยุติคดี แต่ดิฉันไม่ยุติ แล้วอยากจะเรียนท่านว่า เมื่อเกิดการฟ้องร้องคดี ไม่มีใครไปจัดตั้งใคร องค์กรต่างประเทศจะเรียกแขกเอง ดิฉันเป็นที่รู้จักจนมาเป็น กสทช.ได้ ก็เพราะถูกฟ้องร้อง ถ้าไม่ถูกฟ้องคดีนั้น ก็ไม่มาถึงวันนี้ จึงอยากเรียนอย่างตรงไปตรงมาว่า ยิ่งท่านฟ้องจะทำให้อาจารย์เดือนเด่นฯ และคุณณัฎฐา กลายเป็น Defender ของ freedom of speech ซึ่งถ้าในมุมของเอ็นจีโอ ไม่อยากให้ท่านถอนฟ้อง อยากให้สู้คดีกันถึงที่สุด เพราะในคดีที่ดิฉันถูกฟ้องคนก็จะบอกว่า อย่าถอยนะต้องสู้ถึงที่สุดเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการรณรงค์ ถ้าพูดในมุมของเอ็นจีโอ ท่านไม่ต้องถอนฟ้อง ท่านสู้ไปอย่างนั้น แล้วจะทราบเองว่าใครได้ใครเสีย แต่ที่วันนี้ดิฉันพูดมาในฐานะที่เป็น กสทช. เป็นคนในที่พูดด้วยความปรารถนาดีว่า สุดท้ายลักษณะคดีแบบนี้ท่านจะทำให้คนที่ถูกฟ้องเป็นวีรบุรุษ หรือ วีรสตรีขึ้นมาโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้มีการจัดตั้ง เพราะว่า เรื่องแบบนี้จะเรียกร้ององค์กรต่าง ๆ เข้ามาทั้งหมด เพราะเขาก็รู้สึกว่า เป็นการขัดสิทธิเสรีภาพในระดับสากล สำหรับดิฉันจะขอสงวนความเห็นในส่วนการฟ้องร้องโดยสำนักงานฯ ขอบคุณค่ะ
1.อ่าน! คำอภิปรายกสทช.ประวิทย์-สุภิญญา กรณีสนง.กสทช.ฟ้องนักวิชาการและสื่อมวลชน
2.อ่าน! เนื้อหาวาระ+5.16+เรื่องการยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อนักวิชาการและสื่อมวลชน
ขอขอบคุณที่มา
เวบไซต์สำนักงานกสทช. www.nbtc.go.th