1668 ไม่ฟรี อดีต กสทช. ชี้ กสทช. ชุดรักษาการต้องแอคทีฟกว่านี้

1668 ไม่ฟรี อดีต กสทช. ชี้ กสทช. ชุดรักษาการต้องแอคทีฟกว่านี้

ขอบคุณที่มา https://www.prachachat.net/ict/news-722863?fbclid=IwAR16hiRIBJcSU340p0m1oYsd9Ds4R9u7BMs3BTZNyfEBvCU9fEoFo7MaVkw

1668 ไม่ฟรี ดีอีเอสเร่งประสานยกเว้นค่าบริการสายด่วนโควิดจาก กสทช. ด้านอดีต กสทช. สุดทน ชี้ กสทช. ชุดรักษาการ ต้องแอคทีฟกว่านี้ เร่งทำ-ลดความซับซ้อนกระบวนทำงาน

วันที่ 24 กรกฏาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเหตุการณ์ที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ข้อความว่า ลูกศิษย์มีการโทรเบอร์ 1668 สายด่วนหาเตียง ของกรมการแพทย์ แต่โทรจนเงินหมด เลยสงสัยว่า ไม่ฟรีจริงหรือ จึงติดต่อขอข้อมูลไปยังผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ คำตอบคือ เบอร์นี้มีการคิดค่าบริการ

ต่อจากนั้น นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช.ได้ชี้แจงว่า สายด่วน 1668 เป็นหมายเลข ที่กรมการแพทย์ขอใช้งาน โดยขอยกเว้นค่าธรรมเนียมมาแล้ว เนื่องจากเป็นหน่วยงานรัฐ แต่ยังไม่ได้มีการยื่นขอยกเว้นค่าบริการเรียกสายมายัง กสทช. ทำให้คนที่โทรเข้ามาตอนนี้ ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายตามปกติ

ทั้งนี้ ได้รับประสานจาก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือดีอีเอส จะส่งหนังสือ ขอให้หมายเลขที่ให้บริการเกี่ยวกับโควิด-19 ทุกเลขหมาย เป็นเบอร์ที่ได้รับการยกเว้นค่าบริการเรียกสาย ซึ่งหากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส กล่าวว่า ได้ส่งจดหมายขอความอนุเคราะห์ ไปยัง กสทช. ในการพิจารณายกเว้นค่าบริการสำหรับการใช้บริการเลขหมายแบบสั้น 4 หลัก ซึ่งเป็นเบอร์โทรสายด่วนขอคำปรึกษา และประสานขอเตียงสำหรับประชาชนกรณีติดเชื้อโควิด-19 ตลอดจนเลขหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งค่าบริการข้อความสั้นสำหรับระบบบริหารจัดการผู้ป่วยติดเชื้อติดเชื้อโควิด ที่ต้องกักตัวที่บ้าน

“กสทช. เป็นหน่วยงานกำกับดูแลบริษัทผู้ให้บริการมือถืออยู่แล้ว เราจึงอยากขอความร่วมมือให้ กสทช. ประสานขอความอนุเคราะห์ไปยังโอเปอเรเตอร์ทุกราย ให้ประชาชนเข้าถึงเบอร์ติดต่อเหล่านี้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อแบ่งเบาภาระประชาชน และเป็นการร่วมมือร่วมใจกันช่วยให้ประเทศไทยผ่านวิกฤติในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19”

ล่าสุด นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กสทช. ได้ออกมาทวีตข้อความบนทวิตเตอร์ว่า “ตอนแรกเห็นข่าวนี้ในทวิตเตอร์ นึกว่าเฟคนิวส์ไหม ลองโทรถามคนใน กสทช. ยังไม่ฟรีจริง เบอร์สำคัญอื่นๆเช่น 1330 ด้วยก็ยังไม่ฟรี เห็น กสทช. เงียบไปหลังการระบาดและล็อกดาวน์รอบนี้ นึกว่าทำงานง่ายๆกันไปแล้ว เหลืองานยาก ๆ เช่น เน็ตฟรีในการช่วยเด็กเรียนหนังสือ แต่สรุปงานพื้นฐานก็ยังไม่ได้ทำ พอมีคนร้องเรียน เลยต้องทำเอกสารชงเข้าบอร์ดกันอีกพักนึงกว่าจะเสร็จ”
“ทำไมเรื่องแบบนี้ พรก.ฉุกเฉิน ถึงใช้งานไม่ได้ แต่จริง ๆ ไม่ต้องใช้ พรก.ฉุกเฉิน ก็ได้ เรื่องยกเว้นค่าโทรแบบนี้ ในสถานการณ์เช่นนี้ มันไม่ได้ซับซ้อนเกินไป ประเด็น คือ หลายหน่วยงานภาครัฐขาด sense of urgency ว่าอะไรด่วน ควรเร่งทำ ต้องมีวอร์รูมมาคิดเรื่องการช่วยเหลือประชาชนมานานแล้ว ไม่ใช่มีข่าวทีก็คือลงโทษช่องทีวีที่วิจารณ์ทางการเมือง เหนื่อย ไม่อยากจะต่อว่าแล้ว ฝากบอร์ด กสทช. ที่รักษาการมาจะสิบปี ต้องแอคทีฟกว่านี้ค่ะ และ ทีมสำนักงานด้วย เอาใจช่วย แต่ก็ต้องกดดัน ว่าจะทำจดหมายเปิดผนึกถึง กสทช.บ้างแล้ว ในฐานะอดีต กสทช. เผื่อจะมีความหมายบ้าง”
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสายด่วนของหน่วยงานรัฐ เพื่อรองรับการให้บริการข้อมูล ตรวจสอบสิทธิประโยชน์ ให้คำปรึกษาแนะนำและประสานงานกับเจ้าหน้าที่ เช่น การหาเตียง การเตรียมความพร้อมเมื่อพบว่าติดเชื้อการให้บริการ ได้แก่ เลขหมาย 1330, 1323, 1422, 1442, 1646, 1668, 1669 และ 1506 เป็นต้น