เปิดดาวน์โหลดฟรี! คู่มือการผลิตรายโทรทัศน์โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของสตรี

กสทช. เปิดดาวน์โหลดฟรี! คู่มือการผลิตรายโทรทัศน์โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน
และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของสตรี

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า หลังจากการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ผู้หญิงในสื่อ” เมื่อวันศุกร์ที่ 1 เม.ย. 2559  ได้มีการแลกเปลี่ยนประเด็นที่เกี่ยวข้องเรื่องภาพของผู้หญิงในสื่อ โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่ติดตามและให้ความสนใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องนี้มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเวทีสาธารณะ อาทิ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์  ส่งสัมพันธ์  คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณอัจฉรา อัชฌายกชาติ ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ คุณชลิดา เอื้อบำรุงจิต รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์(องค์การมหาชน) คุณนิธิพันธ์  วิประวิทย์ ผู้เริ่มแคมเปญ “เลิกเผยแพร่คติการล่อลวงข่มขืนว่าเป็นสิ่งปกติ”(ในเวบไซต์ change.org)  ดำเนินรายการโดย คุณณัฎฐา โกมลวาทิน   ThaiPBS  ซึ่งนางสาวสุภิญญา กล่าวว่า การจัดงานมีตัวแทนช่องทีวีต่างๆ มาร่วมนั่งฟัง ในเวทีได้มีการสะท้อนปัญหาเป็นระยะๆ ซึ่งส่วนใหญ่ช่องทีวีมีท่าทีในการรับฟังนำไปคิดวิเคราะห์ทบทวนและปรับปรุงแก้ไข รวมทั้งหลังมีเรื่องร้องเรียนหลายอย่างก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้น อย่างประเด็นรณรงค์ลดมายาคติพระเอกข่มขืนนางเอกในละคร ที่ผ่านมา กสทช.เคยเปิดเวทีและมีการถกเถียงกับผู้เขียนบทละครโทรทัศน์ ตอนนั้นเห็นต่างกันหลายเรื่องแต่ตอนนี้คิดว่ามีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นหลายมิติ ส่วนตัวก็ขอให้กำลังใจช่อง ผู้จัด บริษัทผลิตละคร คนเขียนบท ผู้กำกับและนักแสดงที่ต้องการสร้างสรรค์ละครไทยในมิติใหม่ๆที่จะทำให้สังคมก้าวไปข้างหน้า

นอกจากนี้สำนักงาน กสทช. ได้ร่วมกับนักวิชาการทำงานศึกษาที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติทางจริยธรรมโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของสตรีในการนำเสนอข่าวและรายการทางโทรทัศน์ โดยใช้วิธีการศึกษาจาก 1.การวิจัยเอกสาร (Documentary Research) เก็บข้อมูลงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ในประเทศไทยที่เกี่ยวกับจริยธรรมสื่อมวลชนในประเด็นผู้หญิงย้อนหลัง 10 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548-2557 2. ศึกษาข้อบังคับจริยธรรมและแนวปฏิบัติของสื่อมวลชนในประเด็นผู้หญิงขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนในประเทศไทยและกรณีศึกษาต่างประเทศ 3. การวิเคราะห์วาทกรรม (Discourse Analysis) เพื่อพิจารณาหาประเด็นอคติทางเพศต่อผู้หญิงในข่าวและรายการโทรทัศน์   4.การสนทนากลุ่ม (Focus Group) ผู้เชียวชาญด้านข่าว โฆษณา ละคร และ ตัวแทนองค์กรภาครัฐและภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านผู้หญิง ซึ่งผลการศึกษาพบว่า แนวปฏิบัติทางจริยธรรมโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของสตรีในการนำเสนอข่าวและรายการทางโทรทัศน์ ในด้านหลักความถูกต้อง หลักภววิสัย หลักสิทธิมนุษยชน หลักความเป็นส่วนตัว หลักศีลธรรม หลักความหลากหลาย หลักความยุติธรรม หลักความรับผิดชอบ โดยแบ่งเป็น แนวปฏิบัติสำหรับรายการข่าว ได้แก่ การสัมภาษณ์ การจัดวางองค์ประกอบมุมกล้อง และการนำเสนอภาพข่าว การกำหนดประเด็นข่าว ภาษาข่าวแนวปฏิบัติสำหรับรายการละคร และแนวปฏิบัติสำหรับรายการโฆษณา รวมทั้งข้อเสนอเชิงนโยบายต่อ กสทช. ในการสร้างกลไกที่เอื้อให้สื่อมวลชน ภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านความเป็นธรรมทางเพศ และผู้ชม สามารถมีส่วนร่วมในการนำจริยธรรมและแนวปฏิบัติรายการโทรทัศน์โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง ไปใช้ในระดับของการปฏิบัติจริง มีการสร้างแรงจูงใจโดยการสนับสนุนในเชิงงบประมาณ หรือ รางวัลสำหรับการสร้างสรรค์ผลงานของสื่อมวลชนที่มีเนื้อหาส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง และเรื่องอื่นๆ โดย สำนักงาน กสทช. ได้เปิดให้สื่อมวลชนและผู้เกี่ยวข้องสนใจดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มที่เปรียบเสมือนคู่มือแนวปฏิบัติในการทำงานด้านสื่อต่างๆ ได้ที่ https://broadcast.nbtc.go.th/data/academic/file/590300000002.pdf

ดาวน์โหลดที่นี่

Download (-สตรี1.pdf,PDF, Unknown)