ครบรอบ1ปี-สุภิญญาประเมินกสท.ยังมีปัญหา

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวในงานเสวนา NBTC Public Forum เรื่อง “1 ปี กับความสมหวังหรือไม่สมหวังของสังคมไทย” โดยเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการ ตัวแทนภาคประชาชน ถึงการทำงานของ กสทช. ใน 1 ปีที่ผ่านมา ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค ว่า การกำกับดูแลของ กสทช. นับจากนี้จะดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา ทั้งด้านโทรคมนาคมและด้านวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งยอมรับว่าปัจจุบันมีปัญหาจำนวนมาก เนื่องจากการเกิดขึ้นของกสทช. ล่าช้ากว่า 14 ปี

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกสทช. ในฐานะกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า การประเมินผลงานกสทช. ในระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมา ในแง่การทำงานด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.เรื่องการออกกลไกเพื่อกำกับดูแล และเรื่องการออกกฎหมายต่างๆ คิดเป็นความสำเร็จ 80-85%

ส่วนเรื่องการกำกับดูแลในกิจการ กสท.ยังค่อนข้างมีปัญหา และยังไม่สามารถกำกับดูแลได้ 50%

นาย อนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระ ผู้คัดค้านการประมูล 3 จี กล่าวว่า การทำงานของกสทช. 1 ปีที่ผ่านมาล้มเหลวในแง่ของกฎหมายและองค์กร โดยกฎหมายต่างๆ ที่กสทช.ประกาศใช้ ไม่สามารถทำให้เกิดการแข่งขัน และไม่ได้ดูแลเรื่องอัตราค่าบริการได้ เช่น ในต่างประเทศค่าบริการอินเตอร์เน็ตมีอัตราที่ถูก จากการสำรวจของบริษัท แม็คแคนซี่ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมถึงไทย ราคาต้นทุนบวกอัตรากำไรต่อจำนวน 1 เมกะบิต (Mbps) อยู่ที่ 3 สตางค์ และการให้บริการด้านเสียง (วอยซ์) ต้นทุนอยู่ที่ 12 สตางค์ บริการข้อความสั้น (เอสเอ็มเอส) 20 สตางค์ ปัจจุบันประเทศไทย 1 Mbps ต่อ 10 บาท นักธุรกิจ 1 Mbps ต่อ 10 สตางค์ ทำให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของผู้ด้อยโอกาส

ด้าน ตัวแทนภาคประชาชนรายหนึ่งกล่าวว่า เรื่องการแก้ปัญหาการคงสิทธิเลขหมาย (นัมเบอร์พอร์ตทิบิลิตี้) ปัจจุบันมีกระบวนการขั้นตอนที่ยุ่งยาก ซ้ำซ้อน และใช้เวลาการโอนย้ายเลขหมายไปยังอีกผู้ให้บริการเป็นเวลาหลายวัน ซึ่งกสทช.กำหนดไว้ให้ผู้ให้บริการต้องโอนย้ายให้สำเร็จภายใน 3 วัน

 

ข้อมูลข่าวจาก  ข่าวสด