1 ปี กสทช. นักวิชาการรุมจวก

นักวิชาการ-ภาคประชาชน จวก 1 ปี กสทช.ล้มเหลวมากกว่าสมหวัง ทั้งตัวกฎหมาย การกำกับค่าบริการ ควบคุมผู้ประกอบการ และดูแลผู้บริโภค

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดงานเสวนา NBTC Public Forum เรื่อง “1 ปี กับความสมหวังหรือไม่สมหวังของสังคมไทย” โดยเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากมุมมองของนักวิชาการ ตัวแทนภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในแวดวงโทรคมนาคม และกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ถึงแนวทางการกำกับดูแลตลอดระยะเวลาการทำงานของ กสทช.ใน 1 ปีที่ผ่านมา

นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยว่า การกำกับดูแลของ กสทช.นับจากนี้จะดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไข ปัญหาทั้งด้านโทรคมนาคม และด้านวิทยุโทรทัศน์มากขึ้น

ทั้งนี้ ยอมรับว่าปัญหาปัจจุบันมีจำนวนมาก เนื่องจากการเกิดขึ้นของ กสทช.ล่าช้าไปกว่า 14 ปี ทำให้ปัญหาที่ต้องจัดการและควบคุมดูแลเกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งต้องใช้เวลาในการกำหนดแนวทางแก้ไข ขณะเดียวกัน คณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.ต้องแสดงถึงความโปร่งใสในการกำกับดูแลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ทั้ง ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค เพื่อป้องกันปัญหาอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ บอร์ด กสทช. และบอร์ดกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า สำหรับการประเมินผลงาน กสทช.ในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ในแง่การทำงานด้าน กสท. แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. เรื่องการออกกลไกเพื่อกำกับดูแล และเรื่องการออกกฎหมายต่างๆ คิดเป็นความสำเร็จประมาณ 80-85% ส่วนในเรื่องการกำกับดูแลในกิจการ กสท.ยังค่อนข้างมีปัญหาอีกมาก และยังไม่สามารถกำกับดูแลได้ให้ความสำเร็จแค่ 50%

ด้าน ดร.อนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า การทำงานของ กสทช. 1 ปีที่ผ่านมาล้มเหลวในแง่ของกฎหมาย และองค์กร โดยกฎหมายต่างๆ ที่ กสทช.ประกาศใช้ ไม่สามารถทำให้เกิดการแข่งขัน และไม่ได้ดูแลเรื่องของอัตราค่าบริการได้ เช่น ในต่างประเทศอัตราการเข้าถึง และค่าบริการอินเทอร์เน็ตมีอัตราที่ถูก จากการสำรวจของบริษัท แม็คแคนซี่ ในประเทศที่พัฒนาแล้วรวมถึงประเทศไทย ราคาต้นทุน บวกอัตรากำไรต่อจำนวน 1 Mbps อยู่ที่ 3 สตางค์ และการให้บริการด้านเสียงต้นทุนอยู่ที่ 12 สตางค์ บริการข้อความสั้น (เอสเอ็มเอส) 20 สตางค์ ปัจจุบันประเทศไทยราคาทั่วไปอยู่ที่ 1 Mbps ต่อ 10 บาท แต่ถ้าเป็นแพกแกจจะอยู่ที่ 1 Mbps ต่อ 10 สตางค์ ทำให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกับผู้ด้อยโอกาส

“ภายหลังจากศาลมีคำสั่งยกคำร้องกรณี การกำหนดวันหมดอายุการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงิน (พรีเพด) โดย กสทช.สั่งปรับวันละ 1 แสนบาท บริษัท ทรูมูฟ จำกัด แล้ว กสทช.ก็ยังไม่สามารถทำอะไรผู้ประกอบการได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ผมไม่เห็นด้วยอย่างแรกคือ การผูกขาดของธุรกิจดาวเทียม ทั้งที่ กสทช.ก็ทราบดีแต่ก็ไม่ทำอะไรเลย และหากถ้าวงโคจรใดหลุดไปผมคงไม่พอใจอย่างมาก เพราะวงโครจรถือเป็นทรัพย์สินของประเทศชาติ”

ขณะเดียวกัน สื่อวิทยุ และโทรทัศน์ ก็เกิดปัญญาใหญ่มาก คือ 1. ไม่สามารถเข้าไปยุ่งกับเรื่องโครงสร้างได้ 2. เนื้อหา (คอนเทนต์) ปัจจุบันไม่มีการรู้เท่าทันสื่อทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคม โดยแนะว่าควรที่จะนำเงินกองทุนมาสนับสนุนการรู้เท่าทันสื่อในระดับการศึกษา ต้นๆ

ส่วน ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูตร คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตั้งแต่ กสทช.ก่อตั้งขึ้นมาเป็นเหมือนมือใหม่หัดขับ ดังนั้น กสทช.ควรจะมากำกับดูแลปัญหาที่มีสะสมมากว่า 10 ปี โดยเฉพาะการทำงานด้าน กสท. เนื่องจากไม่มีหน่วยงานใดมากำกับดูแลก่อนหน้านี้ ซึ่งต่างจาก กทค.ที่มีการดูแลของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช.มาก่อนหน้านี้

“ปัญหาที่เห็นได้ชัดคือ กรอบการทำงานร่วมกัน ระหว่างบอร์ดของแต่ละฝั่ง คือบอร์ด กสท. และ กทค. เพราะที่ผ่านมาต่างคนต่างทำไม่มีการทำงานวิจัยถึงผลดีและผลเสียในการแก้ ปัญหามาก่อน ทั้งเรื่องโทรคมนาคมและวิทยุโทรทัศน์”

อย่างไรก็ตาม กสทช.ยังจะต้องเผยแพร่ข้อเท็จจริงให้แก่ผู้บริโภค และ กสทช.จะต้องออกกฎเกณฑ์เพื่อบังคับผู้ประกอบการเอกชนทั้งฝั่งวิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม ให้เปิดเผยข้อเท็จจริงแก่ผู้บริโภคในทุกๆ เรื่องเช่นเดียวกัน เนื่องจากที่ผ่านมาผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบมาโดยตลอด

ทางด้านนายสุธรรม อยู่ในธรรม คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การทำงานของ กสทช.ที่ผ่านมาโดยเฉพาะเรื่องการออกกฎหมายในกิจการโทรคมนาคม เท่าที่ผ่านมาถือว่าเป็นการออกกฎหมาย และกำหนดเกณฑ์ของ กทค.ไม่ถือว่าเป็นการผิดกฎหมาย แต่เป็นเพียงการใช้กฎหมายที่ผิดเจตนารมณ์ รวมถึงแผนแม่บท กสทช.ไม่มีการระบุการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในตลาดตั้งแต่ต้น และโครงสร้างที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเลย

“การประมูล 3G ที่ผ่านมา ผมมองว่าหากเป็นในต่างประเทศจะให้ระยะเวลาสำหรับผู้ประกอบการเตรียมตัวกัน เป็นปีๆ บางประเทศก็ถึง 3 ปี แต่สำหรับประเทศไทย แค่ 3 เดือน มันเหมือนเป็นการเตรียมตัวน้อยและเป็นการล็อกให้กับผู้ประกอบการรายเก่าอยู่ แล้ว เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้าร่วมประมูลไม่สามารถเตรียมตัวได้ทัน ในระยะเวลาสั้นๆ อยู่แล้ว จึงทำให้การแข่งขันในตลาดไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรม”

ขณะที่การกำกับดูแลของบอร์ด กสท.ควรที่จะควบคุมมากกว่ากำกับ เนื่องจากที่ผ่านมายังกลัวๆ กล้าๆ เรื่องอำนาจและหน้าที่ในการเรียกคืนคลื่นความถี่ในกิจการวิทยุและโทรทัศน์ อีกทั้งทุกวันนี้ยังมีสื่อโทรทัศน์ที่เป็นของรัฐ แม้จะมีกฎหมายของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ออกมาแล้ว 5 ปี แต่ก็เหมือนการทำหน้าที่ของ กสท. กลัวคนที่มีอำนาจมีคลื่นอยู่แล้วเสียใจ ไม่กล้าเอาคืน ก็เกิดอาการกลัวๆ กล้าๆ ไม่เปิดการแข่งขันในตลาดให้มีการแข่งขันอย่างเสรี

นอกจากนี้ ในภาคประชาชนได้กล่าวว่า ปัญหาในกิจการโทรคมนาคม เรื่องการแก้ปัญหาการคงสิทธิเลขหมาย (นัมเบอร์พอร์ทาบิลิตี) ปัจจุบันมีกระบวนการขั้นตอนที่ยุ่งยากซ้ำซ้อน และใช้เวลาการโอนย้ายเลขหมายไปยังอีกผู้ให้บริการทั้งขาเข้าและขาออกเป็น เวลาหลายวัน ซึ่งตามกำหนดเดิมที่ กสทช.กำหนดไว้ให้ผู้ให้บริการต้องโอนย้ายให้สำเร็จภายใน 3 วัน ขณะที่ปัญหาเรื่องการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G มีปัญหาเนื่องจากไม่มีระเบียบในการติดตั้ง โดยทำให้เกิดความเสี่ยงและเกิดอันตรายต่อผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในบริเวณการ ตั้งเสาสัญญาณนั้นๆ

 

ข้อมูลข่าวจาก  ผู้จัดการ online