อย.ผนึกข้อมูลช่องรายการทำผิดกม.ผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหาร และยา ก่อนรับใบอนุญาตยาว

 

อย.ผนึกข้อมูลช่องรายการทำผิดกม.ผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหาร และยา ก่อนรับใบอนุญาตยาว 

          วันนี้(๕ ก.พ. ๕๖) ห้องสื่อมวลชน อาคารอำนวยการ ชั้น ๒ สำนักงานกสทช. ซอยพหลโยธิน ๘ (สายลม)    สามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ กสทช.สุภิญญาฯ และรองเลขาธิการ อย.ศรีนวลฯ ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้า      มติบอร์ดกสท. หลังอย.พบช่องรายการทีวีดาวเทียม(กิจการไม่ใช้คลื่น) ฝ่าฝืนการโฆษณา อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้รับอนุญาต

กสทช.สุภิญญา  กลางณรงค์ กล่าวว่า เมื่อวานนี้(๔ ก.พ.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ได้พิจารณาแนวทางการกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรทัศน์เกี่ยวกับการออกอากาศรายการหรือการโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตโฆษณาตามกฎหมาย ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ส่งข้อมูลการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางโทรทัศน์ดาวเทียมที่พบการฝ่าฝืนกฎหมาย ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี พบ 8 ช่องรายการที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการฯ(ไม่ใช้คลื่นความถี่) ดังนี้ BOX Film, เบาใจ Channel, OHO Channel, KM Channel, Hit Station, Hit Square, 40-50 Channel และMonkol Channel ทั้งนี้ ถือว่า ทั้ง ๘ ช่องรายการ เป็นตัวอย่างของผู้ประกอบการที่มีความตั้งใจเข้าสู่กระบวนการกำกับดูแลและพบว่ายังมีช่องรายการอื่นที่เคยกระทำผิดและยังไม่ได้ยื่นขออนุญาต

ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหาร หรือ อย. กล่าวว่า ทาง อย. ได้ทำหนังสือถึงประธาน กสทช. เรื่อง ขอให้พิจารณาข้อมูลการประกอบการอนุญาตกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์สำหรับการให้บริการฯ(กิจการไม่ใช้คลื่น) หรือช่องรายการทีวีดาวเทียม ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลกิจการภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของ กสทช. ประกอบกับมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่าง กสทช.และหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เรื่องการกำกับดูแลโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย หรือมีลักษณะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ตั้งแต่วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๕ รวมถึงการมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๔ ว่าด้วยการจัดการปัญหาโฆษณาที่โอ้อวดเกินจริงและไม่ได้รับอนุญาต ทางวิทยุกระจายเสียง สื่อโทรทัศน์ และอินเตอร์เน็ต ซึ่งข้อมูลเฝ้าระวังที่ทาง อย.ได้ส่งข้อมูลมาให้ กสทช.เป็นผู้ที่กระทำการโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตและทำผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒, พระราชบัญญัติยา พ.ศ. ๒๕๑๐ และพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งมีโทษปรับไปเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งขอให้ผู้ประกอบการระมัดระวังไม่ให้มีความผิดซ้ำซ้อนอีก เพราะจะต้องดำเนินการเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ทาง อย.จะเฝ้าระวัง   การโฆษณาที่เข้าข่ายโอ้อวดเกินจริง และผิดกฎหมายอย่างเข้มข้นมากขึ้น โดยร่วมมือกับเครือข่ายอสม. อย.น้อย และสาธารณสุขจังหวัด โดยจะมีการประสานงานกับ กสทช. ด้วย

…………………………………….