กสทช.สุภิญญาฯ แถลงข่าว 18 เม.ย.56

กสท.ลงมติให้เฉพาะหน่วยงานความมั่นคงของรัฐ สามารถขอทีวีดิจิตอลช่องความมั่นคง ด้าน กสทช.สุภิญญาเดินหน้าจับมือจุฬาฯ เปิดเวทีวิชาการชี้ประเด็นสำคัญ ยกกรณีต่างประเทศตั้งเกณฑ์บิวตี้คอนเทสต์เปิดเผย-รัฐทำทีวีวิทยุน้อย  

เมื่อวานนี้ (๑๗ เม.ย. ๒๕๕๖) ที่ประชุม กสท. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์) พิจารณาและลงมติ เรื่อง คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์        บริการสาธารณะประเภทที่สอง เพื่อความมั่นคงของรัฐ ระบุผู้รับใบอนุญาตต้องเป็นหน่วยงานรัฐเท่านั้น           อีกทั้งต้องมีกฎหมายรองรับอำนาจหน้าที่เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ในการพิทักษ์รักษา ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ รักษาเอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดน รวมทั้งการรักษาความสงบเรียบร้อย            ในประเทศ ทั้งนี้ผลโหวตด้วยเสียงข้างมาก ๓ : ๑ : ๑  โดยกรรมการเสียงข้างน้อยงดออกเสียงและไม่เห็นชอบมติตามลำดับ

ต่อกรณีดังกล่าว กสทช.สุภิญญา กลางณรงค์ เปิดเผยว่าตนเป็นผู้ลงคะแนนไม่เห็นชอบมติที่เกิดขึ้น      เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกำหนดคุณสมบัติอย่างเฉพาะเจาะจงหรือเป็นการล็อคสเปคเพื่อให้สิทธิเฉพาะกับหน่วยงานรัฐด้านความมั่นคง โดยให้ความหมายเกี่ยวกับความมั่นคงอย่างจำกัด ซึ่งจะส่งผลให้เฉพาะกระทรวงกลาโหม กองทัพ     และตำรวจเท่านั้น ที่เป็นผู้มีสิทธิขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการฯ บริการสาธารณะประเภทที่สอง เพื่อความมั่นคง   ของรัฐในทันที

อีกทั้งยังเห็นว่าเป็นการเห็นชอบกติกาในส่วนย่อยโดยไม่คำนึงผลของการอนุญาตให้ประกอบกิจการ      ประเภทบริการสาธารณะในภาพรวมทั้งหมด ซ้ำยังไม่ครอบคลุมเงื่อนไขเกี่ยวกับสัดส่วนเนื้อหาและผังรายการ      ตลอดจนการหารายได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกจับตาเป็นพิเศษเนื่องจากบริการสาธารณะประเภทที่สอง “เพื่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยสาธารณะ” กฎหมายเปิดให้หารายได้จากการโฆษณาได้ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สาธารณะยิ่งมีข้อกังขามากขึ้น ดังนั้นการทำหน้าที่ของ กสท. ซึ่งต้องตอบสาธารณะให้ได้ว่านโยบาย       ที่เกิดขึ้นเป็นการกระจายสิทธิการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ไปสู่หน่วยงานนอกภาครัฐมากน้อยเพียงใด            เพื่อให้หน่วยงานนอกเหนือจากรัฐมีโอกาสทำหน้าที่ให้บริการข้อมูลข่าวสารที่แตกต่างแก่สาธารณะตาม                   ที่กฎหมายรับรองสิทธิ หรือเป็นเพียงการเพิ่มสิทธิให้กับหน่วยงานรัฐอื่นๆ เท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตามตนเห็นว่า กรณีดังกล่าวยิ่งสะท้อนถึงความจำเป็นที่จะต้องมีหลักเกณฑ์การอนุญาต            ให้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์บริการสาธารณะในภาพรวม โดยเฉพาะการอนุญาตให้ประกอบกิจการในประเภทบริการสาธารณะที่ต้องใช้กระบวนการพิจารณาความเหมาะสมในเชิงคุณภาพ หรือการประกวด (beauty contest)  และเป็นกติกาใหญ่ที่นำมาใช้ในการอนุญาตให้ประกอบกิจการเพื่อให้บริการสาธารณะ            ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย  

จากการศึกษาดูงานในต่างประเทศของสำนักงาน กสทช. ตนเองพบว่า กรณีเกณฑ์การพิจารณา             ความเหมาะสมของผู้ยื่นขออนุญาตประกอบกิจการฯ ต้องคำนึงถึงด้านคุณสมบัติของผู้ขออนุญาต แนวทาง            และกรอบการหารายได้ ขอบเขตการโฆษณาในเชิงภาพลักษณ์ ความพร้อมด้านเทคโนโลยี สตูดิโอถ่ายทำ โดยมีเกณฑ์การให้คะแนนในแต่ละด้านอย่างชัดเจน และเปิดเผยต่อสาธารณะ ทั้งนี้ในประเทศสเปนพิจารณาเกณฑ์ข้างต้น         เป็นหลัก ส่วนในสหรัฐอเมริกามุ่งเน้นให้ภาคสังคมเข้ามาประกอบกิจการในสัดส่วนที่สูง ส่วนภาครัฐเป็นผู้ประกอบกิจการในสัดส่วนต่ำ

ในขณะนี้ กสท. ได้มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์ดังกล่าวขึ้น และจะเป็นโอกาสสำคัญที่สาธารณชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางเพื่อให้เกิดการประกอบกิจการฯ ที่ตอบสนองประโยชน์   ต่อสาธารณะเอง

ทั้งนี้ กสทช.สุภิญญาฯ แจ้งเพิ่มเติมว่า ในวันพุธที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๖ สำนักงานกสทช. ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง “ทีวีดิจิตอล….. จุดเปลี่ยนประเทศไทย” ตอน ทีวีดิจิตอลสาธารณะ ระหว่างเวลา ๐๘.๓๐ -๑๖.๓๐ น. ณ ห้องประชุมชั้น ๒ อาคารสถาบัน ๓ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ใกล้อาคารคณะเภสัชศาสตร์) เพื่อแสวงหามุมมองเชิงวิชาการต่อการกำหนดนโยบายในการจัดสรร            คลื่นความถี่และอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสีงหรือกิจการโทรทัศน์บริการสาธารณะ โดยมีนักวิชาการทั้งจากด้านนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชน นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์เข้าร่วมให้ความเห็น         และตนเองจะรวบรวมหลักการและเหตุผลสำคัญในทางวิชาการจากเวทีเสนอต่อ กสท. ต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๖