จับตาวาระ“ทีวีดิจิตอลสาธารณะ…จุดเปลี่ยนประเทศไทย” เข้าบอร์ดกสท. จันทร์นี้

จับตาวาระ“ทีวีดิจิตอลสาธารณะ…จุดเปลี่ยนประเทศไทย” เข้าบอร์ดกสท. จันทร์นี้

 

กสทช.สุภิญญา ชงวาระข้อเสนอด้านนิเทศศาสตร์ นิติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ที่ได้จากเวทีวิชาการ ทีวีดิจิตอล…จุดเปลี่ยนประเทศไทย” ตอน ทีวีดิจิตอลสาธารณะ เข้าที่ประชุม กสท.จันทร์นี้ เสนอ(อีกรอบ) ทบทวนจัดทำหลักเกณฑ์การประกวดตามกฎหมาย เน้นความเป็นอิสระโปร่งใส ตรวจสอบได้ กรรมการนโยบายปลอดจากรัฐและทุน คำนึงต้นทุนที่เหมาะสม ไม่เร่งแจกทั้งหมด ก่อนใช้ดุลพินิจตัดสิน

                นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.)   กล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ส่วนงานได้นำข้อสรุปที่ได้จากการจัดสัมมนาวิชาการร่วมกับจุฬาฯ เรื่อง “ทีวีดิจิตอล…จุดเปลี่ยนประเทศไทย” ตอน ทีวีดิจิตอลสาธารณะ เมื่อวันพุธที่  24  เม.ย. ซึ่งมีข้อเสนอดังนี้

                1. กสท. เร่งจัดทำประกาศ หลักเกณฑ์พิจารณาการคัดเลือกผู้ขอรับใบอนุญาตทีวีดิจิตอลประเภทกิจการบริการสาธารณะ  ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ยื่นขอใบอนุญาตเข้าสู่การพิจารณาภายใต้เกณฑ์เดียวกัน โดยอย่างน้อยเกณฑ์ที่ กสท. ต้องคำนึงถึง ได้แก่ โครงสร้างกรรมการนโยบายหรือกรรมการบริหารที่ปลอดจากรัฐและทุน  ความหลากหลายของความคิดเห็นในผังรายการ  ความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการ  ความโปร่งใสด้านการเงิน   ตลอดจนแนวทางการประเมินผลการดำเนินกิจการ  เป็นต้น   ทั้งนี้การจัดทำประกาศดังกล่าวเป็นไปเพื่อให้เกิดความโปร่งใส  ตรวจสอบได้ พร้อมทั้งเปิดให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม โดย กสท.ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง รอบคอบ และรัดกุม เนื่องจากการจัดสรรคลื่นซึ่งเป็นสมบัติของประเทศชาติ จึงไม่ควรให้การพิจารณาคัดเลือกเป็นเพียงการใช้ดุลพินิจของ กสท. ในการอนุญาตให้ประกอบกิจการ  เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องตามกระบวนการศาลปกครองจากผู้ที่เสียผลประโยชน์ หรือไม่ได้รับใบอนุญาตจาก กสท.

                2.นโยบายการจัดสรรและกำหนดจำนวนช่องรายการสำหรับทีวีดิจิตอลสาธารณะ กสทช.ต้อง คำนึงถึงหลักการทีวีบริการสาธารณะตามมาตรฐานสากลในมุมมองด้านนิเทศศาสตร์  (Public Service Broadcasting)   กล่าวคือ การคำนึงถึงผู้ชมในฐานะที่เป็นพลเมือง ดังนั้นการนำเสนอเนื้อหาสาระต้องเป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะให้แก่พลเมืองให้มีความเห็นที่หลากหลาย  ด้านการบริหารงานต้องมีความเป็นอิสระ มุ่งสร้างสังคมมากกว่าการหารายได้ และมีการทำงานที่โปร่งใสตรวจสอบได้  อย่างไรก็ตามในแง่ของกฎหมายมหาชนเรื่อง “บริการสาธารณะ” หมายถึง กิจการที่อยู่ในการอำนวยการของฝ่ายปกครอง โดยรัฐอาจเป็นผู้ดำเนินการเองหรือมอบให้ผู้อื่นไปดำเนินการ ทั้งนี้มีหลักการสำคัญคือการยึดโยงกับรัฐ และต้องตอบสนองความต้องการของประชาชน  ดังนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่ กสทช. ไม่มีความจำเป็นต้องเร่งรีบให้ใบอนุญาตครบทั้ง 12   ช่องรายการ ตามมติของ กสท. แต่ควรมีการศึกษาวิจัยเพื่อวิเคราะห์ความต้องการของประชาชน และวิเคราะห์ผลกระทบจากการกำกับดูแลในมาตรการสำคัญ โดยพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ อย่างเหมาะสมรอบด้าน และเปิดให้ภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมมีส่วนร่วม ก่อนที่จะพิจารณาให้ใบอนุญาตในการประกอบกิจการทีวีดิจิตอลสาธารณะ

                3. คำนึงถึงมุมมองทางด้านเศรษฐศาสตร์ในทีวีดิจิตอลสาธารณะ  ได้แก่ ต้นทุนโครงข่ายที่เหมาะสม ศักยภาพผู้ขอรับใบอนุญาตในการผลิตรายการ ตลอดจนการจัดทำตัวชี้วัดเพื่อประเมินวัตถุประสงค์โดยรวมของการให้ใบอนุญาต เพื่อไม่ให้ทรัพยากรคลื่นความถี่ถูกนำไปใช้อย่างไม่คุ้มค่า

                กสทช.สุภิญญาฯ กล่าวว่า ข้อมูลจากการสัมมนาดังกล่าวเป็นมุมมองทางวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ นิติศาสตร์  เศรษฐศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์   ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพิจารณาให้ใบอนุญาตทีวีดิจิตอล สำหรับประเภทกิจการบริการสาธารณะของ กสท.  และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างครบถ้วน โปร่งใส   จึงได้เสนอวาระนี้เพื่อพิจารณาอีกครั้ง..