สื่อวิชาชีพ-ภาคประชาสังคม-กสทช.หารือกลไกกำกับดูแลกันเองยกระดับมาตรฐานจริยธรรม

สื่อวิชาชีพ-ภาคประชาสังคม-กสทช.หารือกลไกกำกับดูแลกันเองยกระดับมาตรฐานจริยธรรม

ระหว่างวันที่ 22-23 พฤษาคม 2556 มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “แนวทางไตรภาคีในการกำกับดูแลกันเองในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์” ณ โรงแรมโรสการ์เดนริเวอร์ไซต์ อ.สามพราน จ.นครปฐม เพื่อระดมความคิดต่อแนวทางการกำกับดูแลด้านจรรยาบรรณสื่อจากสามภาคส่วน(ผู้บริโภคภาคประชาสังคม/สื่อมวลชน/กสทช.)

ทั้งนี้ เนื้อหาของการสัมมนาประกอบด้วยการอภิปรายในหัวข้อจรรยาบรรณวิชาชีพในวงการสื่อและโฆษณา : จากอดีตถึงปัจจุบัน สู่ความท้าทายของกลไกกำกับดูแลกันเอง” “กลไกสร้างสรรค์สู่การกำกับดูแลกันเอง” การระดมความคิดเห็นจริยธรรมสื่อทบทวนมุมมอง ส่องอนาคต การกำกับดูแลกันเองในสังคมไทย” และการเสวนาแนวทางไตรภาคีในการกำกับดูแลกันเองในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ อดีตประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า ภูมิทัศน์ของสื่อเปลี่ยนเร็วมาก จากปัจจัยทางกฎหมายและเทคโนโลยี ทำให้สื่อมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในอนาคตอันใกล้จะมีเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เช่น โทรทัศน์ดิจิตอล 48 ช่อง ซึ่งตนเห็นว่ากำกับดูแลตนเองนั้นจะสำเร็จได้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของสื่อและองค์กรวิชาชีพ โดยกสทช.ควรเป็นผู้สนับสนุน ออกร่างข้อบังคับในการรวมตัวของสื่อประเภทต่างๆ ที่ต้องการกำกับตัวเอง เป็นต้น

“ที่ผ่านมากำกับดูแลตนเอง ทำได้พอสมควร ภาพรวมใช้ได้ ทีวีถูกกำกับโดยผู้ให้สัมปทานอยู่แล้วมีกรอบของกฏหมายอยู่แล้ว แต่สาธารณะชนไม่มีส่วนร่วมมาก ประชาชนไม่อยากมีปัญหากับสื่อ ช่วงหลังเปลี่ยนแนวคิดเรื่องสิทธิ มีการร้องเรียนเพิ่มมากขึ้น ร้องเรียนไปที่ช่องมากขึ้น ทั้งนี้ต้องมีผู้วินิจฉัยชี้ขาดแต่ต้องมีหลักเกณฑ์ในการวินิจฉัย ส่วนผู้บริโภคเองก็ต้องมีบทบาทรักษาสิทธิ์ของตนเอง ร้องเรียนให้สมาคมดูแล”

ดร.สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ผู้อำนวยการสถานีวิทยุจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันสิ่งที่เข้ามาแทรกแซงสิทธิเสรีภาพไม่ได้ออกมาด้วยปลายกระบอกปืนแต่ออกมาด้วยกฎระเบียบ กสทช.มีอนุกรรมการหลายชุด ซึ่งต้องตั้งคำถามว่าสะท้อนภาพของตัวแทนและผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ อย่างไร รวมถึงจะเป็นผลในการบังคับจริงหรือไม่ ที่สำคัญการกำกับและการควบคุมมีความแตกต่างกัน การควบคุมเป็นใช้อำนาจซึ่งประเด็นนี้สังคมต้องจับตากันมากขึ้น โดยเฉพาะร่างกฎระเบียบที่กำลังยกร่างขึ้นโดยอนุกรรมการพัฒนาวิชาชีพ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งขององค์กรกำกับจะมีความสำคัญมาก โครงสร้างการบริหาร การให้ข้อมูลหรือกระบวนการขั้นตอน กลไกช่วยสนับสนุนการตรวจสอบข้อเท็จจริง ควรทำการไตร่สวน มากกว่ากล่าวหา

ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการมีเดียมอนิเตอร์ กล่าวว่า การกำกับดูแลนั้นมีกลไกสองส่วนคือกลไกของกลุ่มวิชาชีพ และกลไกโดยองค์กรกำกับดูแล อย่างไรก็พอนับว่ายังไม่เพียงพอ สำคัญที่สุดคือหน่วยงานกำกับดูแลจะหลีกเลี่ยงการแสดงบทบาทไม่ได้ที่จะต้องทำงานอย่างจริงจัง ตั้งกรอบให้ชัดระหว่าง กฎหมาย และจริยธรรม ว่าครอบคลุมระดับไหนตัวอย่างเช่น ช่วงเวลาออกอากาศ  สิ่งนี้เป็นเรื่องกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องของจริยธรรม

จากตัวอย่างของบีบีซี สิ่งที่ให้ความสำคัญคือเรื่องสิทธิมนุษยชน มาตรฐานและความรับผิดชอบ หลายเรื่องในบ้านเราเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายไม่ใช่แค่ผิดจรรยาบรรณแต่ไม่มีการบังคับใช้ทางกฎหมาย อย่างไรก็ดีตัวสื่อมีหน้าที่ที่ต้องชี้แจงข้อบังคับทางจริยธรรมของตนเอง ขณะเดียวกันตัวหน่วยงานกำกับดูแลควรทำงานอย่างจริงจังมีการกำกับอย่างจริงจัง ต้องออกระเบียบ ผู้ประกอบการต้องมีกลไลรับเรื่องร้องเรียน พิจารณาเรื่องร้องเรียน รวมถึงสื่อก็ต้องชี้แจงว่าข้อบังคับ ตัวจรรยาบรรณของตนเองมีอะไรบ้างเพราะผู้บริโภคไม่ทราบ ที่สุดนั้นพลังที่แท้จริงอยู่ที่ประชาชนในการลุกขึ้นมาทำหน้าที่

ผศ.ดร.เอื้อจิต เสนอแนะว่า กสทช.ต้องมีข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมในการรวมกลุ่มกันเอง ออกเกณฑ์ของความเป็นวิชาชีพของสื่อโดยคำนึงถึงลักษณะและประเภทของการประกอบกิจการ เนื่องจากมีความแตกต่างระหว่างสื่อภาคประชาชน สื่อวิชาชีพ เป็นต้น เมื่อมีการคัดกรองจัดกลุ่มแล้วก็เปิดโอกาสให้มีการพูดคุยกันและกำหนดกรอบเกณฑ์การกำกับดูแลกันเอง โดยกสทช.ก็เข้ามาตรวจสอบเกณฑ์นั้นได้ จากนั้นกสทช.ก็มีหน้าที่ในการให้ความรู้กับประชาชนและตัวสื่อในการเผยแพร่กรอบเหล่านี้

“ถ้าไม่มีกรอบหรือแนวทางที่ชัดเจน มันจะเป็นการฝากความฝัน เพราะมีการประเมินแล้วพบว่า กสทช.ทำงานขาดเอกภาพ แบ่งและแย่งงานกันทำ ซึ่งคนที่ทำงานกับกสทช.ต้องร่วมเข้ามาเข้าใจด้วย”

นายวิชาญ อุ่นอก เลขาสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ กล่าวว่า เวทีนี้ไตรภาคีลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ดีมากที่มีหลายภาคส่วนมานั่งพูดคุยตั้งแต่ต้น เพราะแต่ละส่วนจะมีความระแวงและหวาดกลัวมาโดยตลอด ตนในฐานะภาคประชาสังคมและผู้บริโภคก็เข้าใจข้อจำกัดของสื่อ หรือตัวผู้ประกอบการก็เห็นความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงกสทช.ได้เห็นความต้องการของทุกส่วนในฐานะองค์กรกำกับดูแล ดังนั้นจึงอยากให้กลไกการกำกับดูแลไม่ว่าจะเป็นแบบใดก็ตาม ควรพัฒนาจากการพูดคุยแล้วสื่อสารระหว่างกัน ไม่ใช่การกำหนดขึ้นจากความหวาดกลัว ป้องกันจนสื่อในยุคต่อไปเป็นการนำเสนอแบบขาวจนไม่มีใครอยากดู หรือดำจนไม่น่าสนใจ เป็นต้น

“อย่างไรก็ตามถ้าจะเป็นการกำกับดูแลร่วม ต้องส่งเสริมให้องค์กรแม่หรือองค์กรกำกับดูแลเข้มแข็ง โดยมีการสนับสนุนผ่านกองทุน มีกติกาและบทลงโทษ หากองค์กรแม่ไม่สามารถจัดการให้เกิดข้อยุติได้ ก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแล ตนเห็นด้วยกับการกับดูแลกันเองแต่ต้องพิจารณาบริบทของสังคมไทยด้วย ซึ่งผู้บริโภคในสังคมไทยยังอ่อนแออยู่ อยากเห็นการส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความเข้มแข็ง เป็นไปได้หรือไม่ที่จะสร้างช่องทางการให้ความรู้กับประชาชนถึงช่องทางการร้องเรียน และรู้สิทธิของตนเอง”

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. กล่าวว่า กสทช.มีร่างเรื่องการส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มแล้ว แนวทางมีสองระดับ คือการรวมกลุ่มระหว่างวิชาชีพ และการกำกับดูแลบริหารทางจรรยาบรรณ หลังจากนี้จะเป็นส่วนของการสร้างปฏิบัติการในการนำเนื้อหาต่างๆ มาสังเคราะห์เนื่องจากมีการจัดเวทีในลักษณะปีเศษ เพื่อสร้างเป็นโมเดลและกลไก อย่างน้อยที่สุดคือร่างประกอบการรวมกลุ่มซึ่งอาจไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งต้องมีการรับฟังความคิดเห็นต่อไป ส่วนเรื่องจรรยาบรรณจะมีการสังเคราะห์และถอดมาเป็นบทเรียนให้เกิดรูปธรรมที่ชี้วัดได้ นอกจากนี้เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ตามมาตรา 37

“ร่างกฎระเบียบจะออกมาเร็วมาก ซึ่งอาจจะไม่ทำให้ใครพอใจร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่คาดว่าจะอยู่ตรงกลางระหว่างความต้องการของกลุ่มผู้บริโภค และวิชาชีพ”

อนึ่ง การสัมมนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานศึกษาเพื่อยกร่างแนวปฏิบัติในการกำกับดูแลกันเองในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์.