ความเคลื่อนไหวจากเวทีพะเยา

สุภิญญาชี้ผลประโยชน์ทีวีดิจิตอลขึ้นอยู่กับความเท่าทันการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายกสทช.ของภาคประชาสังคม

วานนี้ (14มิ.ย.2556)คณะสารสนเทศศาสตร์และการสื่อสารมหาวิทยาลัยพะเยา จัดการเสวนาวิชาการ “จับตาการเปลี่ยนแปลงโทรทัศน์ดิจิตอลต่อทิศทางกิจการบริการชุมชน”ณ ห้องประชุมเมืองพะเยา ทั้งนี้กิจกรรมในการเสวนาประกอบด้วยการบรรยายพิเศษในหัวข้อ”ทีวีดิจิตอล ?วันนี้และพรุ่งนี้ ชุมชนได้และเสียอะไร” โดยน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และการเสวนา”ทีวีสาธารณะระดับชุมชน:หน้าตา โอกาส และการอยู่รอด”

สำหรับบรรยายพิเศษในหัวข้อ”ทีวีดิจิตอล ?วันนี้และพรุ่งนี้ ชุมชนได้และเสียอะไร” โดยน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์นั้นมีสาระสำคัญดังนี้

น.ส.สุภิญญาเกริ่นนำว่า ปัจจุบันทีวีมีสองระบบหลัก ได้แก่ ทีวีภาคพื้นดินและทีวีดาวเทียมในอนาคตจะเกิดแพลตฟอร์มใหม่ๆ เช่น โมบายทีวี หรือทีวีทางมือถือซึ่งแม้ปัจจุบันเราจะรับชมรายการโทรทัศน์ผ่านทางมือถือได้ก็ตาม แต่มันยังไม่ใช่การออกอากาศในตัวของมันเองนอกจากนี้ยังมีระบบระบบอินเตอร์เน็ตทีวีที่ต้องผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ตแม้แต่ระบบจะมีเกี่ยวข้องกับโครงข่ายและเทคโนโลยีที่ต่างกันไปแต่ที่สุดย่อมจะมีการหลอมรวมกันในท้ายที่สุด ซึ่งขึ้นอยู่กับการเข้าถึงและศักยภาพของเทคโนโลยี อย่างไรก็ดีทีวีภาคพื้นดิน (ฟรีทีวี) ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทั่วไปเนื่องจากใช้คลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติที่ต้องใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะแต่รัฐเองก็ยังคิดว่าเป็นเจ้าของ หรือภาคธุรกิจที่ได้สัมปทานไปก็อยากจะเก็บคลื่นเอาไว้ตลอดชีวิตขณะที่รัฐธรรมนูญมีแนวคิดเรื่องการปฏิรูปสื่อที่กำหนดให้มีการจัดสรรคลื่นให้มีความเป็นธรรมและแข่งขันกันได้

ส่วนหนึ่งการเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอลจึงไม่ใช่เรื่องการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีจากอนาล็อคไปสู่ดิจิตอลเท่านั้นแต่ยังมีภาระกิจเรื่องการเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องความเป็นเจ้าของสำหรับทีวีดิจิตอลจะเกิดขึ้นใหม่ 48 สถานีแบ่งสถานีระดับชาติ 36 สถานี ในจำนวนนี้แบ่งเป็นประเภทบริการธุรกิจ 24สถานี (ช่องรายการเด็ก เยาวชน และครอบครัว 3ช่อง ช่องรายการข่าวสารหรือสาระความรู้ 7 ช่อง ช่องรายการทั่วไป 7 ช่องและช่องรายการคุณภาพ HD 7ช่อง) บริการสาธารณะ 12สถานี และบริการชุมชน 12สถานี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบ และการดำเนินการที่สอดคล้องกับโร้ดแมป

กรรมการกสทช. กล่าวอีกว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นคืออุตสาหกรรมโทรทัศน์จะเปลี่ยนไปทั้งระดับชาติและระดับชุมชน แต่คำถามสำคัญอยู่ที่ว่า ภาควิชาการ ภาคประชาสังคมมีการเตรียมความพร้อมมากน้อยแค่ไหนกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้หมายความทั้งประเทศจะดูได้พร้อมกันทั้งหมด ซึ่งกสทช.ก็วางกติกาไว้ว่า ภายใน 1 ปีจะต้องวางสัญญาณโครงข่ายให้ได้ ร้อยละ 50 ปีที่สองร้อยละ 80 ปีที่สามร้อยละ90 ปีที่สี่ร้อยละ 95สุดท้ายที่อาจเหลืออีกพื้นที่อีกร้อยละ 5ซึ่งเป็นหุบเขา อาจต้องใช้ดาวเทียมเข้ามาช่วยนี่คือหน้าที่ของกสทช. ต้องเข้ามากำกับโครงข่ายให้เกิดจริง

“วันที่หนึ่งของการแพร่ภาพทีวีดิจิตอลไม่ได้หมายความว่าทั้งประเทศจะได้ดูได้พร้อมกันอย่าเพิ่งตื่นตัวรีบไปซื้อกล่องรับสัญญาณ หรือเปลี่ยนทีวี แต่เป็นหน้าที่ของกสทช.ต้องเอาโร้ดแมปให้ดูว่าพื้นที่ตรงไหนรับชมได้ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำ”

น.ส.สุภิญญา ขยายความเพิ่มเติมว่าบริการชุมชนต้องทำความเข้าใจระบบทีวีดิตอลที่กำลังออกแบบกันอยู่ กล่าวคือกสทช.วางให้เกิดการให้มีผู้บริการโครงข่ายผู้ที่ได้ประมูลทีวีดิจิตอลไม่ได้ไปวางโครงข่ายกันเอง แต่จะมีคนกลางที่จะสิทธิในการวางโครงข่ายทีวีดิจิตอล(Multiplexer) หรือเรียกว่าMUX มักซ์ ขอเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆช่องทีวีดิจิตอลทั้ง 48 ช่องเหมือนกับขบวนรถไฟ48 ขบวนแต่ขบวนจะวิ่งมาถึงได้หรือไม่ หากไม่มีรางรถไฟ ดังนั้นก่อนที่รับชมมันจะต้องมีการส่งผ่านโครงข่ายที่นำพาสัญญาณก่อนซึ่งการทำโครงข่ายใช้ทุนสูงมาก ดังนั้นเขาจะหันไปใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในการบริการทีวีดิจิตอลที่มีอยู่แล้วนั่นก็คือเขาส่งสัญญาณโทรทัศน์ที่มีอยู่แล้วเช่น การเช่าเสา หากจะสร้างเสาใหม่ก็ต้องมีการเวนคืนที่และมีขั้นตอนจำนวนมาก

ฉะนั้นคนที่จะได้เปรียบในเรื่องนี้คือฟรีทีวีรายเดิม ฉะนั้นคนที่สนใจทำทีวีดิจิตอลบริการชุมชมจึงต้องติดตามด้วยว่า หนึ่ง ใครจะได้สิทธิทำโครงข่ายทีวีดิจิตอล สอง หน้าที่ผูกพันเป็นอย่างไร สาม ต้นทุนที่เกิดขึ้นใครจะเป็นคนจ่าย และสี่หากเกิดปัญหาขึ้นใครจะรับผิดชอบ ซึ่งแนวโน้มของกลุ่มที่จะสิทธิทำ MUXก็คือผู้ประกอบการรายเดิม เช่น อสมท. กองทัพบกไทบพีบีเอส และกรมประชาสัมพันธ์ เป็นต้น

สำหรับผลกระทบต่อภาคบริการชุมชนนั้น คณะกรรมการกสทช.กล่าวว่า สิ่งที่พิจารณา คือ แม้จะตั้งสถานีทีวีบริการชุมชนได้จริงแต่การจะทำให้รายการเข้าถึงชุมชนเล็กๆ นั้นก็ตั้งผ่านโครงข่ายขอผู้มีสิทธิทำโครงข่ายของชุมชนโจทย์สำคัญคือต้นทุนหรือค่าเช่าโครงข่ายจะอยู่ที่เท่าไหร่ จะมีกองทุนหรือรัฐเข้ามาช่วยจ่ายหรือไม่ ตรงนี้ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจน ว่าจะให้ใครทำMUXของบริการชุมชนหรือถ้าเข้ามาทำแล้วจะมีเงื่อนไขอย่างไร ขณะที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็อยากจะทำโครงข่ายให้กับภาคธุรกิจมากว่าเนื่องจากได้กำไรแน่นอนนี่เป็นโจทย์ที่กสทช.ต้องขบคิดต่อ

“เรื่องที่จะต้องติดตามคือ หนึ่งใครจะได้สิทธิในการเป็นผู้ทำโครงข่าย ต้นทุนจะเป็นเท่าไหร่ หรือมีเงื่อนไขอย่างไรบ้างใครจะได้สิทธิได้คลื่นบ้าง ทีวีดิจิตอลสาธารณะทั้ง 12ช่องจะมีหลักเกณฑ์อย่างไร การประมูลทีวีดิจิตอลภาคธุรกิจ24 ช่องกติกาจะออกมาเป็นแบบไหนจะเข้าข่ายฮั้วหรือไม่และชุมชนกสทช.ได้มีหลักเกณฑ์แล้วหรือไม่ในส่วนผู้บริโภคที่จะได้รับผลกระทบจากการับชมจะเตรียมตัวอย่างไร รวมถึงอุตสาหกรรมสื่อนิเทศศาสตร์จะเตรียมตัวบุคลากรในการรองรับการผลิตที่เพิ่มมากขึ้นอย่างไรกล่าวโดยสรุปก่อนที่จะถามว่าชุมชนจะได้หรือเสียอะไรนั้น ต้องถามว่า ชุมชนเท่าทันการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายของกสทช.หรือไม่เพราะสุดท้ายถ้าเราเท่าทัน ตั้งหลักได้ และตรวจสอบได้ สิ่งที่ชุมชนจะได้คือช่องทางการสื่อสารที่มากขึ้นซึ่งคุณภาพขึ้นอยู่กับการออกแบบและเตรียมความพร้อมส่วนจะผูกขาดหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับกติกาจะเกิดประโยชน์สูงสุดหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับภาคประชาสังคมต้องมีส่วนร่วมด้วยส่วนผลเสียนั้นถ้ากติกาดำเนินไปโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วมคิดร่วมแสดงออก อาจทำให้ธุรกิจเข้ามาผูกขาดผลิตรายการและเนื้อหาแบบเดิมหรือว่าสุดท้ายชุมชนก็จะไม่ใช้สิทธิใช้ประโยชน์สูงสุดของทีวีดิจิตอล”

“ดังนั้นต้องกลับมามองว่าเราตระหนักในสิทธิของเราแค่ไหนเราจะใช้เสียงหรือพลังของเราในการแสดงความคิดเห็นเพื่อเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไรซึ่งภาคประชาสังคมจะตั้งหลักในการสู้หรือทำงานร่วมกับกสทช.ในการเตรียมความพร้อมการเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อคสู่ดิจิตอล”น.ส.สุภิญญา กล่าวปิดท้าย

ทั้งนี้เนื้อหาของการเสวนา”ทีวีสาธารณะระดับชุมชน:หน้าตา โอกาส และการอยู่รอด”นั้นประชาธรรมจะเรียบเรียงนำเสนอในลำดับต่อไป.

การประชุมบอร์ดกระจายเสียง/กสทช. ครั้งที่ 7/2555 มีมติกำหนดเป้าหมายว่า หลังจากการประกาศใช้แผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ และแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในต้นปี 2555 แล้ว จะดำเนินการให้สามารถเริ่มต้นออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลภายในปลายปี 2555 โดยในช่วงปี 2555-2559 มีแผนการปรับเปลี่ยนดังนี้

กระบวนการออกใบอนุญาต Digital TV ช่วงที่ 1 จะเกิดขึ้นเดือน ก.พ. 2555 – ธ.ค. 2556  , กระบวนการออกใบอนุญาต Mobile TV จะเกิดขึ้นเดือน มิ.ย. 2556 – มิ.ย. 2557 ,กระบวนการออกใบอนุญาต Digital TV ช่วงที่ 2 จะเกิดขึ้นเดือน มิ.ย. 2557 – ธ.ค. 2558 และเริ่มกระบวนการ Analog Switch – Off (ASO) จะเริ่ม ม.ค. 2558  โดยช่วงสองปีแรก ปี 2555 – 2556 มีเป้าหมาย เริ่มต้นทำแผนการปรับเปลี่ยนฯ สู่ระบบดิจิทัล เดือนก.พ. 2555 และออกใบอนุญาตฯ โครงสร้างพื้นฐานและโครงข่าย เดือนส.ค. 2555 , ออกใบอนุญาตฯ กิจการบริการสาธารณะ เดือน ธ.ค. 2555 , ออกใบอนุญาตฯ กิจการทางธุรกิจ เดือน ส.ค. 2556 และออกใบอนุญาตฯ กิจการบริการชุมชน ธ.ค. 2556

 

 

 

ขอขอบคุณ สำนักข่าวประชาธรรม

อ่านข่าวทั้งหมด