บันทึก วันจันทร์ที่ 17 มิ.ย. 56

บันทึก วันจันทร์ที่ 17  มิ.ย. 56

วันนี้ส่วนตัวก็ต้องบันทึกประวัติศาสตร์เพราะได้ร่วมเป็นเสียงข้างมากใน บอร์ด กสท.บ้าง ในการตัดสินใจเรื่องสำคัญคือให้ *กรมประชาฯ-กองทัพบก-อสมท.-ไทยพีบีเอส* ได้สิทธิ์ทำ Multiplex-MUX หรือ *ผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิตอล* แต่มีเงือนไขต้องคืนคลื่นช่อง 5-9-11-ThaiPBS ภายใน 5 ปี ลดลงจากเวลาที่ระบุไว้ในแผนแม่บทเดิมคือ 10 ปี และให้ช่อง5 กับช่อง 11 ต้องทำแผนเปลี่ยนผ่านเป็นทีวีบริการสาธารณะภายใน1ปี (MUX เปรียบเหมือนคนทำ/ให้บริการรางรถไฟส่งสัญญาณทีวีดิจิตอลให้ทั่วถึงทั้งประเทศ ในขณะที่อีก 48 ช่องใหม่จะเป็นขบวนรถไฟที่ต้องแข่งขันให้บริการ) … วันนี้ใจอ่อนยอมให้ 4 รายเดิมได้ทำโครงข่ายฯ MUX ก็เพราะได้เห็นจดหมายยืนยันอย่างเป็นทางการจาก *กองทัพบก-อสมท.-กรมประชาสัมพันธ์-ไทยพีบีเอส* ในการยอมคืนคลื่นเดิมใน 5 ปี — หลังจากปีที่แล้วเราโหวตแพ้ในบอร์ดใหญ่ (6:4) เรื่องระยะเวลาการคืนคลื่นในแผนแม่บทตามสูตร 5-10-15 (วิทยุ-ทีวี-โทรคม) เสียงข้างน้อยทั้ง 4 คือ ดร.นที ดร.ธวัชชัย นพ.ประวิทย์ และข้าพเจ้า วันนี้ถือว่าได้ถึงการตัดสินใจกลับมาเหลือที่ 5 ปี แม้จะเกินเวลาที่ กสทช.ชุดแรกอยู่ครบวาระไปกว่า 1 ปี แต่ก็ยังดีกว่านานถึง 10 ปีตามมติบอร์ดใหญ่ งานนี้ขอให้เครดิตท่านประธาน กสท. Natee Sukonrat ค่ะที่ดึงการกำหนดเวลาคืนคลื่นทีวีสั้นลงกว่าที่ระบุโดยบอร์ดใหญ่ได้ อย่างไรก็ตามส่วนตัวก็ยังขอใจแข็งเรื่องการให้สิทธิ์ช่อง 5 และ ช่อง 11 ได้ออกอากาศคู่ขนานในระบบดิจิตอลไปอีก 5 ปี วันนี้จริงๆก็เกือบใจอ่อน เพราะมติของ กสท.ก็ถือว่าดีที่บอกให้ให้ช่อง 5 และ 11 ต้องส่งแผนการเปลี่ยนผ่านเป็นทีวีบริการสาธารณะมาให้ภายใน 1 ปี ส่วนตัวก็ขอรอดูแผนเปลี่ยนผ่านก่อน หลายเรื่องที่ กสท.ปรับแล้วมีทางออกที่ win-win มากขึ้นส่วนก็ขอสนับสนุน แต่สำหรับเรื่องช่องทีวีบริการสาธารณะ 12 ช่องยังขอใจแข็งยืนกระต่ายขาเดียวขอให้มีเกณฑ์ Beauty contest ที่จะวางกติกาในการจัดสรรคลื่นอย่างเป็นธรรมก่อนค่ะ

ส่วนตัวจุดยืนไม่ได้สุดขั้ว ถ้าเรื่องไหนแม้เป็นการตัดสินเพราะแรงขับทางเศรษฐศาสตร์การเมือง แต่ถ้ามีเหตุมีผลและเป็นทางออกที่ วิน-วิน ก็รับได้ สำหรับตนเอง เป้าหมายหลักของการทำงาน กสทช.คือการได้ปฏิรูปคลื่นความถี่เดิมของภาครัฐ ให้ออกจากระบบที่ไม่เป็นระบบเข้าสู่ระบบใบอนุญาตและแข่งขัน ดังนั้นจึงยินดีที่ระยะเวลาการคืนคลื่นความถี่โทรทัศน์เดิมของรัฐจะสั้นลงจาก 10 เหลือ 5 ปี ด้วยเหตุทางเทคโนโลยีดิจิตอลเป็นแรงขับ

อย่างไรก็ตามแม้วันนี้ กสท.มีมติให้ 4 รายเดิมได้สิทธิ์ทำ MUX แล้ว แต่เรื่องยังไม่จบแค่นั้น ยังมีประเด็นต้องตามต่อมากมายในเรื่องนี้ อาทิ ราคา วันนี้ก็เห็นด้วยกับท่าน กสทช. Thawatchai Jittrapanun ในเรื่องการต้องมีรายละเอียดของผู้ให้บริการ MUX ทีชัดเจนกว่านี้ โดยเฉพาะการต้องกำกับมาตรฐานราคาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันสำหรับรายใหม่ที่จะเข้ามาจ่ายค่าเช่า MUX นั้นอย่างเป็นธรรม รวมทั้งประเด็นของ MUX ที่ยังเหลือ กสท.จะพิจารณาให้ใครเพิ่มก็คงต้องจับตาต่อไป — ต้องมีงานต้องทำกันอีกมากหลังจากนี้ ทุกฝ่ายก็ช่วยกันติดตามอย่างใกล้ชิดค่ะ

ปล. หน้าที่หลักของ MUX หรือผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิตอลคือต้องนำพาสัญญาณออกอากาศภาคพื้นดินทั่วถึง 50% ใน1ปี 80%ใน2ปี 90%ใน3ปี 95% ใน4ปี ระบบทีวีดิจิตอลมีแค่ 0 กับ 1 จะมีแค่รับไม่ได้กับรับได้ชัดเจนตาม SD/HD ดังนั้นถ้าโครงข่ายของ MUX ไปถึงพื้นที่ใด ภาพก็จะคมชัดตามมาตรฐาน วันก่อนไปพูดที่ม.พะเยาเปรียบเทียบให้นิสิตเข้าใจง่ายๆว่า ระบบอะนาล็อกเหมือนเราเห็นวิญญาณลางๆเลือนๆ แต่ดิจิตอลคือจะเห็นตัวเป็นๆชัดแจ๋วหรือรับคลื่นนั้นไม่ได้เลย

ถามว่า เมื่อช่อง 5 – 9 – 11 – ไทยพีบีเอส ต้องคืนคลื่นอะนาล็อกเดิมภายใน 5 ปี กรณี ช่อง 3 กับ ช่อง7 ที่ยังมีสัมปทานอยู่จะทำอย่างไร อันนี้เป็นโจทย์ที่ กสทช.ต้องหาทางออกต่อไป เมื่อเราทำให้ 4 ช่องเดิมคืนคลื่นอะนาล็อกได้ ช่อง 3 กับช่อง7 เข้าประมูล เขาก็อาจทิ้งสัมปทานเร็วขึ้นได้ ถ้าเราทำให้ฟรีทีวีรายเดิม 6 ช่อง คืนคลื่นเดิมได้ใน 5 ปี ก็เท่ากับเราได้ปฏิรูปคลื่นความถี่จากระบบเดิมเข้าสู่ระบบใบอนุญาตได้เร็วขึ้นใน 5 ปี