มติบอร์ด กสท.สำคัญ ครั้งที่22 วันจันทร์10มิ.ย.56

กสทช.สุภิญญาฯ เรียกร้องความรับผิดชอบต่อสังคมของสภาวิชาชีพสื่อกรณีไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ 2013  สะท้อนวิกฤตศรัทธาการกำกับดูแลกันเองของสื่อ 

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กสท. ครั้งที่ 22  ว่า บอร์ดมีมติให้นำเรื่องร้องเรียน รายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ 2013  ที่ตนได้รับจากมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว เครือข่ายครอบครัว     เฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ และเครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก เข้าสู่กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนของสำนักงาน และส่งให้คณะอนุกรรมการผังรายการซึ่ง กสทช. พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ  เป็นประธานนำไปกลั่นกรองก่อนส่งมาให้บอร์ดลงมติตัดสินใจอีกครั้ง  แต่ยังไม่ระบุว่าจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวเมื่อใด  ซึ่งต้องคอยติดตามเร่งรัดและแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบต่อไป

ขั้นตอนตามกระบวนการทางกฎหมายก็ว่ากันไป แต่สิ่งน่าเสียใจกับมาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพสื่อที่ไม่มีการออกมาแสดงความรับผิดชอบจากสภาวิชาชีพฯ  ช่อง 3 หรือแม้กระทั่ง Work point ซึ่งเป็นเรื่องที่สะท้อนวิกฤติศรัทธาในการกำกับดูแลกันเองของสื่อ สังคมก็จะไม่เชื่อมั่นว่าสื่อจะกำกับดูแลกันเองได้  โดยส่วนตัวเห็นว่าไม่เป็นผลดีเลย ที่จะใช้กฎหมายเข้ามากำกับเหมือนย้อนยุค  แต่เมื่อสื่อไม่ทำหน้าที่และรับผิดชอบต่อสังคม  ยิ่งทำให้เกิดการเรียกร้องให้รัฐไปควบคุมดูแลมากขึ้น   อย่างไรก็ตามในวันพรุ่งนี้ (11 มิถุนายน 2556) ในนามของประธานอนุกรรมการกำกับดูแลกันเองได้เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาหารือมาตรการทางสังคมว่าจะมีการเยียวยาเรื่องดังกล่าวอย่างไร ในมุมของจริยธรรม จรรยาบรรณ โดยเฉพาะได้เชิญ รศ.อรุณีประภา หอมเศรษฐี ประธานสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) ซึ่งมีช่อง 3 เป็นสมาชิก  รวมทั้งผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล  ส่วนด้านกฎหมายต้องรอผลการพิจารณาจากอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการต่อไป”  นางสาวสุภิญญากล่าว

นอกจากนี้ บอร์ดมีมติให้สำนักงาน กสทช. จัดส่งแผนประชาสัมพันธ์ในยุคเปลี่ยนผ่านจากอะนาล็อคสู่ดิจิตอลเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนให้วุฒิสภาต่อไป   ส่วนกรณีเรื่องร้องเรียนสัญญาการให้บริการของบริษัททรูวิชั่นส์ไม่เป็นธรรมกับผู้ร้องเรียน บอร์ดมีมติส่งให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ช่วยวินิจฉัยสัญญาการให้บริการระหว่างบริษัททรูวิชั่นส์กับผู้ร้องเรียน อย่างไรก็ตามบอร์ดมีมติเห็นด้วยกับคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์  ให้สำนักงานเร่งออกมาตรฐานสัญญา  และส่งจดหมายแจ้งให้บริษัททรูวิชั่นส์ระมัดระวังเรื่องสัญญา เพราะมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำกันหลายครั้ง

กรณีอาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บอร์ดคาสติ้ง แอนด์ สปอต์ต แมเนจเม้นท์ จำกัด ยื่นฟ้องสำนักงาน กสทช. ต่อศาลปกครอง  จะมีการขึ้นศาลพิจารณาคดี ในวันที่ 26 มิถุนายน นี้ ส่วนหลักเกณฑ์ทีวีสาธารณะและการคัดเลือกโครงข่ายโทรทัศน์ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ  ซึ่งคงต้องมีการติดตามความคืบหน้าเรื่องนี้ในการประชุมบอร์ดต่อไป