“ทีดีอาร์ไอ” จวก กสท. เงื่อนไขประมูลทีวีดิจิตอล
“ทีดีอาร์ไอ” บ่นยับ การจัดสรรใบอนุญาตทีวีดิจิตอล ชี้มีหลายจุดต้องแก้ไขโดยด่วน ด้าน “นที” สวนกลับ ถนัดแต่วิพากษ์วิจารณ์แต่ไม่ศึกษาก่อน พร้อมย้ำทำตามกฏหมายทุกข้อ
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันเพื่อวิจัยและพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวภายในงานเสวนา เรื่อง “คิดใหม่การจัดสรรคลื่นทีวีดิจิตอล” ว่า ในตอนนี้กังวลเป็นอย่างมากกับกระบวนการจัดสรรใบอนุญาตทีวีดิจิตอลทั้งในประเภททีวีสาธารณะ จำนวน 12 ช่อง ที่ใช้วิธีจัดสรรตามความเหมาะสม และประเภททีวีธุรกิจ จำนวน 24 ช่อง ที่ใช้วิธีประมูลคลื่นความถี่ ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) เนื่องจากมีหลายประเด็นในกฏเกณฑ์ต่างๆที่ยังไม่เป็นธรรม และผู้บริโภคจะไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง
โดยเฉพาะในประเด็น การที่ กสท. ไปลดสัดส่วนเนื้อหาสาระที่นำเสนอในช่องรายการข่าวให้มีข่าวสารสาระจากเดิมที่ 75% ลดลงให้เหลือ 50% อาจนำไปสู่การทำให้ผู้ประกอบการบางรายประมูลช่องรายการข่าวมาเพื่อให้บริการช่องวาไรตี้ก็เป็นได้ เนื่องจากช่องข่าวมีต้นทุนราคาตั้งต้นการประมูลที่น้อยกว่าช่องวาไรตี้ โดยช่องรายการข่าวมีราคาตั้งต้นการประมูลอยู่ที่ 220 ล้านบาท แต่ช่องรายการวาไรตี้มีราคาตั้งต้นอยู่ที่ 380 ล้าบาท
“อาจจะได้เห็นทีวีดิจิตอลเป็น ทีวีสอดไส้ คือผู้ประกอบการเอาช่องสาธารณะเพื่อความมั่นคงไปทำช่องธุรกิจ และเอาช่องธุรกิจไปให้บริการผิดประเภทก็เป็นได้”
อีกทั้งยังมีประเด็นไม่เห็นด้วยกับผลการประเมินราคาค่าบริการโครงข่ายที่จัดทำโดย ผู้ประกอบการโครงข่าย ซึ่งอยู่ที่ราว 50 ล้านบาทต่อ 1 ช่องรายการปกติ และจะแพงเป็น 2-3 เท่าสำหรับช่องความคมชัดสูง (HD) ซึ่งวิธีเช่นนี้จะเหมือนเป็นการยกผลประโยชน์ให้กับคนได้บริการด้านโครงข่ายอย่างมาก แต่เป็นฝันร้ายสำหรับผู้ประกอบการรายเล็กที่เข้ามาสู่อุตสาหกรรม
นอกจากนี้ประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป หรือ “มัสต์ แคร์รี่ รูล” ได้กำหนดให้ผู้ให้บริการในช่องสาธารณะ และช่องธุรกิจต้องส่งสัญญาณขึ้นดาวเทียม ให้ผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมได้นำไปเผยแพร่ ซึ่งเท่ากับจะเพิ่มค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบการ อีกทั้งช่องธุรกิจยังไม่มีหลักประกันว่าจะมีคนรับมาเผยแพร่ต่อบนทีวีดาวเทียมหรือไม่ ส่วนคนที่ได้ประโยชน์เต็มๆ ก็คือผู้ให้บริการดาวเทียม ที่ผูกขาดเพียงรายเดียว คือผู้ให้บริการดาวเทียมไทยคม
นายสมเกียรติ กล่าวว่า ทีดีอาร์ไอ อยากเสนอให้ กสท. เปลี่ยนแปลงกฎการเลือกผู้ได้รับใบอนุญาตให้ได้รับประโยชน์ที่แท้จริง รวมทั้งต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์ การปรับราคาตั้งต้นการประมูลในช่องรายการข่าวใหม่ หรืออาจลดสัดส่วนใบอนุญาตที่มีอยู่ 7 ช่องแทน เนื่องจากผลการศึกษามูลค่าคลื่นความถี่แท้จริง เพื่อนำมากำหนดอัตราราคาตั้งต้นที่ใช้ในการประมูล ของคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการคำนวณจากอัตราสัดส่วนเวลาออกอากาศรายการ 50% มิเช่นนั้นแล้วคนที่จะทำช่องวาไรตี้จะไปประมูลช่องข่าว กสท. จะได้ผลลัพท์การประมูลที่แย่กว่านี้ และควรแก้ไขกฎมัสต์แคร์รี่รูล ให้ผู้ที่ต้องจ่ายค่าส่งสัญญาณคือผู้ที่นำไปถ่ายทอดต่อ และควรกำค่าบริการโครงข่ายที่เหมาะสม
ขณะที่ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า จากประเด็นต่างๆที่ทีดีอาร์ไอแสดงความคิดเห็นมาว่ากฏเกณฑ์ต่างๆในการจัดสรรใบอนุญาตทีวีดิจิตอลไม่ถูกต้องนั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงว่า บ้านเราคนถนัดแต่วิพากษ์วิจารณ์แต่ไม่ศึกษา ซึ่งขอยืนยันว่าการจัดสรรใบอนุญาตทีวีดิจิตอลของ กสทช. กระทำภายใต้กฎหมายอย่างรอบคอบจากประกาศ กสทช. กว่า 8 ฉบับ
“ประเด็นการจัดสรรช่องสาธารณะที่กล่าวหาว่าไม่เป็นธรรม ขอยืนยันว่าจุดประสงค์ที่แท้จริง ไม่ได้เอื้อคนหนึ่งคนใดเข้ามาได้รับใบอนุญาต แต่ได้มีการจัดประเภทไว้เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มกัน”
ส่วนช่องข่าวที่มีการลดสัดส่วนการออกอากาศเหลือ 50% ก็เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถหารายได้เพิ่มเติมเพื่อความอยู่รอดได้ อีกทั้งการไม่ปรับราคาตั้งต้นการประมูล ก็เนื่องจากผู้ศึกษามูลค่าคลื่นได้ให้คำตอบมาว่าการปรับสัดส่วนดังกล่าวไม่เป็นสาระที่เกี่ยวข้อกับราคาคลื่นแต่อย่างใด
นอกจากนี้ในประเด็นเรื่องของราคาค่าบริการโครงข่ายก็ยังไม่ได้มีการกำหนดอย่างเป็นทางการในตอนนี้ แต่กสท.ต้องการทำให้เป็นราคากลางเพื่อความอยู่รอดได้ของทั้ง 2 ฝ่ายมากกว่าผลประโยชน์ของใคร
ที่มาข่าว
ดาวน์โหลดเอกสารประกอบงานสัมมนา
Download (rethinking-digital-TV-adisak.pdf,PDF, Unknown)