จับตาวาระกสท. วันจันทร์ 15 ก.ค.นี้

จับตาวาระ กสท. : โค้งสุดท้ายการพิจารณา ร่างฯ ประมูลทีวีดิจิตอล

การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ครั้งที่ 26 ในวันจันทร์ที่ 15 ก.ค.นี้ มีวาระน่าสนใจติดตาม เรื่อง  การพิจารณา (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ…. ภายหลังได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กสท. กล่าวว่า ถือเป็นโค้งสุดท้ายแล้วสำหรับการพิจารณาร่างประกาศฯ ที่เกี่ยวกับกติกาต่างๆในการประมูลทีวีดิจิตอล ประเภทธุรกิจ ก่อนที่จะเสนอเข้าบอร์ดใหญ่(กสทช.) ในวันพุธที่ 17 ก.ค.นี้ เพื่อพิจารณาและดำเนินการเข้าสู่การประมูลต่อไป ส่วนตัวเห็นว่าประเด็นที่ควรจับตาได้แก่ การปรับสัดส่วนรายการนำเสนอที่มีเนื้อหาข่าวสาร สาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในสัดส่วนจาก 75% เหลือ 50% โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะมันจะเปลี่ยนหลักการการออกแบบช่องทีวีที่มีเนื้อหาสาระเฉพาะเป็นช่องที่คนดูจะได้รับประโยชน์สูงสุด และเป็นการส่งเสริมผู้ผลิตด้านนี้ด้วย ซึ่งการที่ลดสัดส่วนแบบนี้จะส่งผลให้คนดูเสียโอกาสต่อทางเลือกในการรับชมข่าวสารสาระ และอาจมีผลทำให้กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่มาร่วมประมูลในช่องนี้ด้วย รวมถึงราคาตั้งต้นการประมูลช่องข่าวมีราคาต่ำกว่าช่องทั่วไปถึงร้อยกว่าล้านบาท ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อรายเล็กและรายกลางที่สนใจเข้าร่วมประมูล อย่างเช่นกลุ่มที่เคยทำหนังสือพิมพ์และสนใจมาประมูลช่องข่าว ในขณะที่เหตุผลขอสำนักงานเสนอมาก็น่าสนใจตรงที่ว่า เพื่อให้มีความแตกต่างจากทีวีประเภทบริการสาธารณะที่กำหนดให้มีการเสนอข่าวสาร 75% อยู่แล้วพร้อมทั้งมีโฆษณาได้พอเพียง ซึ่งหากต้องให้ทีวีประเภทธุรกิจนำเสนอรายการที่มีเนื้อหาสาระถึง 75% ในขณะที่มีต้นทุนของค่าประมูลด้วย ก็อาจทำให้เกิดความเสียเปรียบได้ แต่หากปรับสัดส่วนช่องข่าวลงถึง 50% ก็อาจไม่เกิดความต่างระหว่างช่องทั่วไปกับช่องข่าว อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะมีการหารือพิจารณาเพิ่มเติมในบอร์ดกสท. ส่วนอีกประเด็นที่น่าสนใจคือ เรื่องความชัดเจนของการให้บริการโครงข่าย หรือ MUX ตามที่หลายคนตั้งคำถามมากว่า การที่จะให้ผู้ที่ได้รับการประมูลด้วยมูลค่าสูงสุดเป็นผู้เลือกใช้ผู้ให้บริการโครงข่าย หรือ MUX ก่อนจะเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งบอร์ดกสท.ไม่ได้พิจารณาเพิ่มเติมต่อเรื่องนี้ แต่ความเห็นส่วนตัวมองว่าควรจะปรับกระบวนการให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นด้วย รวมทั้งยังมีรายละเอียดประเด็นอื่นๆที่ต้องพิจารณาต่อไป ซึ่งหากภาคเอกชน หรือภาคสาธารณะท่านใดยังมีความคิดเห็นเพิ่ม อาจต้องรีบส่งเสียงเพิ่มเติมภายในวันจันทร์ – อังคารนี้ ก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาในบอร์ดกสทช.ต่อไป.