องค์กรประชาชนห่วงทีวีดิจิทัลไม่มีคุณภาพ จี้กสทช.ออกหลักเกณฑ์ควบคุม “สุภิญญา-นักวิชาการ” หนุนออกหลักเกณฑ์คุมสาระสื่อรัฐ

องค์กรประชาชนห่วงทีวีดิจิทัลไม่มีคุณภาพ จี้กสทช.ออกหลักเกณฑ์ควบคุม “สุภิญญา-นักวิชาการ” หนุนออกหลักเกณฑ์คุมสาระสื่อรัฐ

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา จัดเสวนา เรื่อง ประโยชน์สาธารณะจากการจัดสรรคลื่นความถี่ในกิจการทีวีดิจิทัล เพื่อรับฟังความเห็นจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง และทำรายงานเสนอที่ประชุมวุฒิสภารวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนักวิชาการและตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเสวนาโดย น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า อยากให้สังคมจับตาในประเด็นการกำหนดหลักเกณฑ์เนื้อหา รูปแบบรายการ, การบริหารจัดการ และการหารายได้ และที่สำคัญ ความเป็นอิสระและเป็นกลาง ในส่วนของสถานีโทรทัศน์ที่ได้รับการจัดสรรคลื่นให้ เช่น ช่องรัฐสภา เนื่องจากส่วนตัวมองว่าประเด็นดังกล่าวถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการปฏิรูปสื่อ นอกจากนั้นแล้วตามโจทย์ที่ กสทช. ต้องตอบให้ได้ อาทิ การจัดสรรคลื่ื่นเพื่อให้เกิดประโยชน์, การแข่งขันอย่างเสรี เป็นธรรม และการคุ้มครองผู้บริโภค ขณะนี้หน่วยงานของ กสทช. ยังตอบโจทย์ไม่ได้ทั้งหมด อาทิ การเปิดให้มีการแข่งขันเสรี มีการสร้างเงื่อนไขให้วางเงินก่อนประมูล 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงินสด และไม่อนุญาตให้ธนาคารการันตี ทำให้ถูกมองเป็นการกีดกันผู้เข้าแข่งขันรายเล็กหรือไม่, การลดเนื้อหาข่าวในช่องข่าว จาก75 เปอร์เซ็นต์ เป็น 50 เปอร์เซ็นต์ อาจกระทบสิทธิการรับรู้ข่าวสารอย่างเต็มที่ของประชาชน

“ในวันที่ 17 ก.ค. กสทช. ชุดใหญ่จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาร่างประกาศการกำหนดหลักเกณฑ์การประมูลทีวีดิจิทัล ขอให้สังคมช่วยจับตาโดยเฉพาะการกำหนดหลักเกณฑ์ที่สำคัญ ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่าการดำเนินการของ กสทช. ในเรื่องนี้ และการปฏิรูปสื่อช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อมีภาวะล้มเหลว” น.ส.สุภิญญา กล่าว

ด้าน ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอร์นิเตอร์ ฐานะคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณา ศึกษา ติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานด้านสิทธิและเสรีภาพ ในคณะกมธ.สิทธิมนุษยชนฯ กล่าวว่า จากโครงสร้างของกรรมการ กสทช. ที่ส่วนใหญ่เป็นอดีตนายทหาร จากการทำงานที่ผ่านมาพบว่าทหารไม่ได้ปฏิรูปสื่ออย่างแท้จริง นอกจากนั้นแล้วในกระบวนการประมูลทีวีดิจิทัลขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน

“ไม่เคยคิดว่า การปฎิรูปสื่อรอบนี้จะทำให้เกิดช่อง11 คูณ 12 แม้จะมีคุณสุภิญญาเข้าไปทำหน้าที่แต่ก็เอาไม่อยู่ และไม่เคยคิดว่ากระทรวง ทบวง กรม จะเข้ามาเป็นสื่อสารมวลชนเสียเอง ถ้าอนาคตกระทรวงสาธารณสุขที่ให้บริการด้านสาธารณสุขกับประชาชนจะตัดงบส่วนดังกล่าวเพื่อมาทำงานด้านสื่อสารมวลชนหรือไม่” ดร.เอื้อจิต กล่าว

ที่มา

เวบไซต์กรุงเทพธุรกิจ