๕ ภาคีขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ สกัดโฆษณาผิดกฎหมายของอาหารและยา

๕ ภาคีขับเคลื่อนยุทธศาสตร์

สกัดโฆษณาผิดกฎหมายของอาหารและยา

กสทช.ผนึกกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ควบคุม โฆษณายา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริง ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ หลังพบเนื้อหาในทีวีท้องถิ่น วิทยุชุมชน และอินเตอร์เน็ต โอ้อวดสรรพคุณ หวั่นสร้างอันตรายผู้บริโภค กสทช.พร้อมจับมืออย.ลงดาบ สั่งยึดใบอนุญาตทันที ขณะที่ตำรวจมอนิเตอร์ ปราบผู้ประกอบผิดอย่างจริงจัง

 

เมื่อที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๖ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. เวที สช.เจาะประเด็น “สานพลัง คุ้มครองผู้บริโภค โฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ” โดยมีหน่วยงาน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมด้วย จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ณ โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค กรุงเทพ

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สช.ได้ขับเคลื่อนแนวทางการจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหาร และ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทางวิทยุกระจายเสียง สื่อโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๔ เนื่องจากเห็นว่าแนวโน้มการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงและหลอกลวงผู้บริโภค ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะช่องทางโฆษณาผ่านสื่อใหม่ๆที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้น มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จึงสนับสนุนการจัดทำยุทธศาสตร์ บังคับใช้กฎหมาย และพัฒนาศักยภาพของผู้บริโภคให้รู้เท่าทันการโฆษณา รวมทั้งสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่  อย. กสทช. สคบ. และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) เพื่อผลักดันมติดังกล่าวให้มีผลเป็นรูปธรรม โดย อย. ได้ตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพทางวิทยุกระจายเสียง สื่อโทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต” ขึ้นมาดำเนินการ พร้อมคณะทำงานอีก ๓ ชุด ได้แก่ ๑) คณะทำงานพัฒนาแนวทางบูรณาการบังคับใช้กฎหมายการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ   ๒) คณะทำงานพัฒนาศักยภาพวิชาชีพด้านสื่อเกี่ยวกับโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ และ ๓) คณะทำงานพัฒนาเครือข่ายและกลไกการเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ

.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า คณะกรรมการ กสทช.เห็นความสำคัญของการแก้ปัญหา โฆษณา ยา อาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมาย โดยพร้อมจะให้ความร่วมมือทันทีที่ได้รับการประสานจาก อย. ซึ่งพิจารณาว่าโฆษณาใดมีเนื้อหาผิดกฎหมายหรือไม่ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้อง  กสทช.สามารถใช้อำนาจทางปกครอง สั่งลงโทษผู้ประกอบการทั้งเคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม หรือวิทยุชุมชนทั่วประเทศ ที่ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตกับกสทช.ไว้ อาทิ มาตรการขึ้นบัญชีดำ (แบล็คลิสต์) การสั่งปรับ การระงับใบอนุญาต หรือไม่ต่อใบอนุญาตให้ในปีถัดไป เป็นต้น

“ปัจจุบันกสทช.มีการมอนิเตอร์การโฆษณาและออกอากาศในทุกรูปแบบ เพื่อป้องกันปัญหาการหลอกลวงผู้บริโภคย่างเต็มที่ และเชื่อว่าเราสามารถดูแลได้ในระดับหนึ่งโดยเฉพาะระบบทีวีดาวเทียม แต่ในส่วนของเคเบิลทีวีท้องถิ่น และวิทยุชุมชน ที่มีอยู่ถึง ๙,๐๐๐ สถานีทั่วประเทศนั้น การตรวจสอบติดตามให้ทั่วถึงเป็นเรื่องยาก จึงต้องผนึกกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเครือข่ายภาคประชาชนช่วยสอดส่องดูแลการโฆษณาที่ผิดปกติด้วย”

.ส.สุภิญญา กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสทช.ได้ทำหนังสือแจ้งขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการทั้งสื่อทีวีและวิทยุซึ่งยื่นขอรับใบอนุญาตจากกสทช.กว่า ๘,๐๐๐ ราย ให้ปฏิบัติตามกฎหมายของอย.อย่างเคร่งครัด พบว่าส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือดี มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังพบการกระทำผิด ซึ่งเร็วๆนี้จะมีการดำเนินคดีกับผู้ประกอบการ ๑ ราย ที่ทาง อย.เห็นว่าโฆษณาผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและอาหารอย่างผิดกฎหมาย ถือเป็นความร่วมมือในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มแข็ง

ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการอย. กล่าวว่า อย.ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเต็มที่ พร้อมปรับปรุงกฎหมาย  ๓ ฉบับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ด้านอาหารและยา ได้แก่ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.๒๕๒๒  พ.ร.บ.ยา พ.ศ.๒๕๑๐ และ พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ.๒๕๓๕ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ อาทิ เพิ่มโทษปรับผู้ประกอบการที่โฆษณาเกินจริงและได้รับอนุญาตจากอย.จาก ๕,๐๐๐ บาท เป็นไม่เกิน ๑ แสนบาท เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังกำหนดแนวทางจัดการปัญหาโฆษณาฝ่าฝืนกฎหมายอย่างซ้ำซาก เชื่อมโยงในการพักใบอนุญาตผลิต การเพิกถอนทะเบียนตำรับและเลขสารบบ ส่วนสถานีโทรทัศน์หรือวิทยุคลื่นใด ที่ปล่อยให้มีการโฆษณาที่ผิดกฎหมายตามที่อย.ตรวจพบ ก็อาจมีผลกระทบต่อการขอต่อใบอนุญาตกับ กสทช. ด้วย เป็นการสะท้อนว่าอย.ได้ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเข้มงวดเพื่อดูแลผู้บริโภคอย่างจริงจัง

ภญ.ศรีนวล กล่าวว่า อย.ยังอยู่ระหว่างจัดทำฐานข้อมูลโฆษณาที่ขออนุญาต ครอบคลุมทั้ง ยา อาหาร เครื่องสำอาง เพื่อเป็นการแลกเป็นข้อมูลผู้ประกอบการและการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งตัวอย่างโฆษณาที่ผิดกฎหมาย การโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และบริษัทผู้กระทำผิด ซึ่งจะช่วยให้ทุกฝ่ายเฝ้าระวังร่วมกัน และสร้างจิตสำนึกที่ถูกต้องในการแก้ปัญหาให้กับสังคม สนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์โฆษณาที่ดีต่อไป

ด้าน ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวว่า การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน จะมุ่งเน้นใน ๓ ประเด็นหลัก ได้แก่ ๑. สร้างความเข้มแข็งและรู้เท่าทันของสังคม โดยดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเฝ้าระวังโฆษณาที่ผิดกฎหมาย  ๒.สร้างการรับรู้และความเข้าใจต่อสื่อมวลชนในพื้นที่ ให้แยกแยะโฆษณาที่ถูกและผิดกฎหมาย ๓. ประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาร่วมขับเคลื่อนองค์ความรู้

กพย.ได้จัดทำโครงการนำร่องจังหวัดต้นแบบให้ประชาชนรู้เท่าทันโฆษณาใน4จังหวัด ได้แก่ พะเยา สงขลา ขอนแก่น สระบุรี และในปี ๒๕๕๖ ได้ขยายอีก ๑๐ จังหวัด เป็น๑๔ จังหวัดทั่วประเทศ โดยแนวทางการจัดการจะแตกต่างกัน ตามลักษณะของปัญหาและมีการใช้กลยุทธ์หลากหลาย อาทิ จังหวัดสระบุรี ขับเคลื่อนโดยประสานความร่วมมือกับกสทช. , จังหวัดขอนแก่น ได้รวมกลุ่มเหยื่อจากการโฆษณา เดินสายถ่ายทอดประสบการณ์กับผู้บริโภค , จังหวัดพะเยา ได้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มุ่งเน้นแก้ปัญหาโฆษณายาเป็นหลัก และจังหวัดสงขลา เน้นแก้ปัญหาการขายตรง และรวมกลุ่มเครือข่ายผู้บริโภค โดยกพย.จะถอดบทเรียนนำเสนอเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติต่อไป

สำหรับการดำเนินการในอนาคตนั้น อาจมีการพิจารณาสร้างแรงจูงใจด้านอื่นๆให้แก่ผู้บริโภคที่เป็นหูเป็นตา เช่น มีผลตอบแทนในรูปรางวัลนำจับ หรือการให้สวัสดิการเพิ่มเติม

ด้าน .ต.อ.ไพฑูรย์ คุ้มสระพรหม รองผู้บังคับการปราบปราม การกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการที่กระทำความผิด มีช่องทางหลอกลวงผู้บริโภคเพิ่มขึ้น แต่การปราบปรามของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เข้มงวดเช่นเดียวกัน โดยสถานการณ์ในขณะนี้ถือว่ายังสามารถควบคุมได้ ภายใต้การบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงาน และพี่น้องประชาชนได้ให้ความร่วมมืออย่างดี

ทั้งนี้ บก.ปคบ. กำหนดมาตรการสำคัญในการตรวจสอบจับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการโฆษณา ๒ ด้าน คือ ๑. มาตรการป้องกัน มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งแผ่นพับ เวปไซต์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนและผู้บริโภคตระหนักถึงพิษภัยของอาหาร ยา เครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นอันตราย เป็นการปิดช่องทางของผู้จงใจกระทำความผิดให้น้อยลง และยังมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับสื่อที่มีคุณภาพให้เป็นหูเป็นตาร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย ๒. มาตรการปราบปราม ถือเป็นมาตรการในเชิงรุก โดยมีศูนย์ปฏิบัติการบก.ปคบ. มอนิเตอร์รายการหรือโฆษณาตามสื่อต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังตลอด ๒๔ ชั่วโมง ทั้งทางเคเบิลทีวี ฟรีทีวี อินเตอร์เน็ต และวิทยุ รวมทั้งการออกหาข่าวในพื้นที่ และจับกุมผู้กระทำความผิดในทุกรูปแบบ พร้อมเปิดช่องทางให้ผู้บริโภคร้องเรียนได้ที่สายด่วน ๑๑๓๕ และตู้ ปณ ๔๕๙ รวมถึงประสานข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อย. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นต้น ซึ่งทำให้กลไกการดูแลผู้บริโภคเข้มแข็ง

///////////////////////////////////////////////////////////

ประสานงาน   :    สำนักการสื่อสารทางสังคม  สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ  (สช.)

  • เขมวดี ขนาบแก้ว (ปูน)  02-832-9143/081-8686613