เสวนาวิชาการ “ชาติพันธุ์ ศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ กับการตีความ มาตรา 37 ของ กสทช.”

  เสวนาวิชาการ “ชาติพันธุ์ ศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์

กับการตีความ มาตรา 37 ของ กสทช.”

เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๖ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ได้รับเชิญจากสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.)  เข้าร่วมงานเสวนาวิชาการ “ชาติพันธ์ ศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ กับการตีความ มาตรา 37 ของ กสทช.” และได้รับเชิญให้เสวนาในหัวข้อ “จริยธรรมและแนวทางการปฏิบัติในประเด็น สถาบันฯ ศาสนา และชาติพันธ์ของไทยพีบีเอส” สู่สาธารณะ  มีผู้ร่วมเสวนา คือ คุณสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการสถานีไทยพีบีเอส   ดร. ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ นักวิชาการด้านศาสนวิทยาและด้านรัฐศาสตร์ และคุณวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ ดำเนินรายการโดย คุณวราวิทย์  ฉิมมณี ผู้ประกาศข่าวไทยพีบีเอส ณ ห้อง Training Room 3 อาคารศูนย์การเรียนรู้ชั้น 3 การเสวนาครั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีในการหารือถึงจริยธรรมสื่อสาธารณะ โดยเฉพาะในส่วนของเนื้อหาด้านสถาบันฯ ศาสนาและชาติพันธุ์ที่ได้มีขอบเขต ความเหมาะสม ทิศทางในการนำเสนอเนื้อหา ตลอดจนตีความเนื้อหา และสาระของประเด็นอ่อนไหวอื่นๆ ทางสังคม ในกรอบการทำงานของสื่อมวลชนเพื่อสาธารณะ

ทั้งนี้ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในเรื่องที่เกี่ยวข้องว่า สังคมอย่าผลักการตีความมาตรา 37 ให้อยู่กับ กสทช. อย่างเดียว เพราะเป็นเรื่องอันตรายมากที่จะโยนการตีความไว้กับคนไม่กี่คน ความคลุมเครือของมาตรา 37 ที่บอกให้ กสทช.ใช้ดุลพินิจได้และสั่งระงับการออกอากาศโดยวาจาได้ เป็นปัญหาของตัวกฎหมายมาตรา 37 เอง ยังดีที่จนปัจจุบันยังไม่เคยมีการใช้อำนาจนี้อย่างเป็นทางการ จริงๆ แล้ว มาตรา 37 มุ่งหมายควบคุมกับเรื่องที่ร้ายแรง แต่ที่ผ่านมา กสทช. ไม่ได้ใช้กับเรื่องร้ายแรง และยังไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนในการบังคับใช้ กลายเป็นประเด็นที่ปรากฏในสังคมไทยมานานว่า พอหาหลักเกณฑ์อะไรไม่ได้ก็มาลงว่าขัดศีลธรรมอันดี กลไกหนึ่งที่ควรนำมาใช้คือให้กลไกทางสังคม ผู้ชมที่หลากหลาย นักวิชาการ มาช่วยกันดูว่าเรื่องไหนอะไรบ้างที่รับได้หรือไม่ได้ ขณะนี้กระบวนการรับฟังความเห็นของ กสทช. ยังไม่เสร็จสิ้น ส่วนตัวดิฉันเองไม่เห็นด้วยกับร่างประกาศฯฉบับนี้ รวมถึงเสียงคัดค้านจากภายนอกจำนวนมากอาจทำให้ กสทช. ต้องกลับมาพิจารณาทบทวนประกอบกับการปรับปรุงร่างประกาศฯ ฉบับดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่อการบังคับใช้ต่อไปในอนาคต..

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สื่อสาธารณะเสนอ ให้มีกลไกกลางตรวจสอบเนื้อหา แทนการชี้ขาดของกสทช.

เมื่อ 12 ก.ย. 2556

ตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียทออกร่างประกาศกำกับดูแลเนื้อหาในโทรทัศน์และวิทยุ ตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2556 สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) จึงจัดงานเสวนาสาธารณะ “ชาติพันธุ์ ศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ กับการตีความม. 37 ของกสทช.” ขึ้นเพื่อพูดคุยถึงแนวทางการดูแลเนื้อหาในสื่อของกสทช.
วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ กล่าวว่า เนื้อหาของมาตรา 37 นั้นไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้เราเข้าใจได้ เราไม่รู้ว่าเนื้อหาที่ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น หมายถึงประชาชนคนไหน เพราะประชาชนที่ทำงานที่สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวีกับเอเอสทีวี อาจจะมองศีลธรรมอันดีไม่เหมือนกันก็ได้
สำหรับกรณีที่กสทช.กำลังเตรียมออกร่างประกาศกำกับดูแลเนื้อหาฯ วีรพัฒน์ เห็นว่า กสทช.จำเป็นต้องสร้างความแน่นอนชัดเจน จับต้องได้ ให้กับผู้ทีจะถูกลิดรอนสิทธิตามประกาศที่จะออก แต่วิธีการทำให้เกิดความชัดเจนต้องใช้เวลา สหรัฐอเมริกาเองก็ใช้เวลามาแล้วเกือบศตวรรษ และการใช้เวลานี้อาจขึ้นอยู่กับกสทช.ด้วยว่า จะสื่อสารเรื่องนี้กับสาธารณะให้เข้าใจกันอย่างไร
วีรพัฒน์ กล่าวด้วยว่า กสทช.ไม่ควรต้องเป็นห่วงเรื่องความมั่นคงของชาติเลย เพราะกฎหมายอื่นของไทยให้อำนาจแรงกว่ากฎหมายของกสทช.อยู่แล้ว เช่น พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในฯ ให้อำนาจทหารเข้าไปจัดการได้โดยไม่ต้องมีกสทช. ขณะเดียวกันกสทช.ควรแยกแยะว่าอะไรเป็นความลามกอนาจารขั้นรุนแรง ซึ่งอาจจะห้ามออกอากาศ แต่หากเป็นแค่การอนาจารที่ไม่เหมาะสมก็น่าจะมีมาตรการต่างหาก เช่น กลไกรับเรื่องร้องเรียน หรือให้กลไกองค์กรวิชาชีพจัดการกันเอง
วีรพัฒน์ ยังเสริมด้วยว่า ก่อนที่จะออกคำสั่งทางปกครอง กสทช.มีหน้าที่ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงก่อนด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่การขอเทปมาดู แต่ข้อเท็จจริงที่ต้องแสวงหารวมถึงมาตรฐานทางสังคมที่มีต่อเรื่องนั้นๆ อาจใช้กลไกให้คนนอกมาช่วยกันให้ความเห็นเพื่อหาบรรทัดฐานก็ได้
ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์
ประเด็นศาสนาเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ ไม่แตะก็เป็นเรื่องยิ่งแตะยิ่งเป็นเรื่อง
ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ นักวิชาการด้านศาสนวิทยาและด้านรัฐศาสตร์ กล่าวว่า ประเด็นศาสนาจะเป็นระเบิดเวลาลูกที่สอง ต่อจากเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ และจะแรงยิ่งกว่าระเบิดเวลาลูกแรก เพราะในทางรัฐศาสตร์คนยอมรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ แม้จะรักลึกซึ้งขนาดไหนก็ตาม แต่เรื่องศาสนาเป็นสิ่งที่เข้าถึงจิตวิญญาณ และคนยอมตายเพื่อเรื่องศาสนาโดยไม่ต้องมีเหตุผล ไม่ต้องรอการพิสูจน์ เรื่องศาสนาสามารถเรียกมวลชนได้เร็วและแรงกว่าเรื่องใดๆ ในโลกนี้
ดร.ศิลป์ชัย เห็นว่า ธรรมชาติของศาสนาแม้ไม่ไปแตะก็เป็นเรื่องอยู่แล้ว ยิ่งแตะก็ยิ่งเป็นเรื่องหนักเข้าไปอีก ยกตัวอย่าง สถานีโทรทัศน์บีบีซี ของอังกฤษ แม้ได้รับการยอมรับมากในเรื่องความเป็นกลางแต่แนวทางการนำเสนอเรื่องศาสนาก็ถูกล่าวหาว่าเป็นปฏิปักษ์กับศาสนาประจำชาติ ในอเมริกาไม่เพียงแต่โทรทัศน์เท่านั้น ฮอลลีวูดก็ถูกวงการศาสนาตราหน้าว่าต่อต้านศาสนาด้วยเช่นกัน ดังนั้น การตั้งโจทย์ของไทยพีบีเอสว่าจะสื่อสารเรื่องศาสนาให้ปราศจากความขัดแย้ง เป็นโจทย์ที่ทำไม่ได้ เพราะฝืนความเคลื่อนไหวของโลก
ดร.ศิลป์ชัย ยังกล่าวอีกว่า สื่อสาธารณะของไทย มีโจทย์อยู่ว่า “เป็นกลาง เป็นธรรม เป็นมืออาชีพ” แต่สื่อแบบไทยๆ จะมีอีกหนึ่งคำ คือ “เป็นมิตร” ด้วย ตอนนี้ใครๆ ก็รู้ว่ามีความขัดแย้งใหญ่โตในมหาเถรสมาคมแต่ไม่มีใครกล้าเล่นเพราะสื่อทุกค่ายต้องการเป็นมิตรกับเรื่องศาสนา ทั้งที่เราสามารถเป็นกลาง เป็นธรรมแบบไม่เป็นมิตรได้ คือ อะไรที่ชี้ได้ก็ต้องชี้ ถ้าต้องด่าทุกสายก็ด่า แบบนี้คือเป็นธรรมแต่ไม่เป็นมิตร พอตั้งใจจะเป็นมิตรแล้ว ในฐานะสื่อมันเป็นประโยชน์ได้ไม่มาก เพราะถ้าสื่อจะเป็นประโยชน์บางทีต้องหาเรื่อง ต้องเกเรนิดหนึ่ง แต่วัฒนธรรมไทยยกเรื่องศาสนาไว้สูง สื่อสาธารณะของไทยจึงต้องปักธงกับเรื่องนี้ว่าจะเป็นกลางแบบไหน หรือจะเป็นมิตร
ดร.ศิลป์ชัย กล่าวต่อว่า เวลานี้สิ่งที่เรากำลังถกกันเป็นเรื่องเดียวกับที่ทั่วโลกกำลังถกกัน เรื่องชาติพันธุ์และศาสนา เป็นปัญหาสากล ขึ้นอยู่กับว่าประเทศแต่ละประเทศที่เป็นเจ้าของสื่อสาธารณะมีทิศทางไปอย่างไร หากตั้งใจจะเป็นรัฐศาสนา สื่อก็ต้องออกแบบการนำเสนอให้สอดคล้องกับบุคลิกของประเทศ แต่หากตั้งใจจะเป็นรัฐที่แยกศาสนาออกจากการปกครองทางการเมืองอย่างชัดเจน สื่อก็ต้องออกแบบการนำเสนอไปตามนั้น คือ ไม่มีผิดมีถูกในเรื่องศาสนา วิจารณ์ได้ ล้อเลียนได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกอย่างไร
นักวิชาการด้านศาสนวิทยากล่าวสรุปว่า ในสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตก ถือเอาสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคเป็นหลัก คนมีสิทธิพูด หากพูดผิดก็ไปแก้ไข ไม่มีการห้ามพูดก่อน ถ้าจะยึดหลักนี้แนวทางของมาตรา 37 ก็ต้องเป็นอีกแบบหนึ่ง ร่างกำกับดูแลเนื้อหาของกสทช.ที่เป็นอยู่ตอนนี้ไม่ส่งเสริมต่อการเรียนรู้ของสังคมเป็นอย่างยิ่ง รัฐที่มีความเติบโตทางวุฒิภาวะจะสอนให้คนมีความอดทนต่อความเห็นที่แตกต่าง โดนด่าได้ โดนล้อได้ คนที่โดนด่าผ่านสื่อก็จะไม่ใช้วิธีฟ้องแต่ใช้วิธีโวยกลับ ด่ากลับ โดยสื่อนั้นก็จะนำเสนอ ถ้าไม่พอใจก็ออกมาเดินประท้วงชูป้าย แต่ไม่ใช่ปาก้อนหิน ถ้าเราใช้มาตรา 37 แบบนี้ไปเรื่อยๆ วุฒิภาวะยิ่งจะไม่มี ถ้าสื่อใช้วิธีเป็นมิตรแบบนี้ ประชาชนของเราจะเป็นเด็กที่เป็นไข่ในหิน แตะไม่ได้ และในที่สุดวุฒิภาวะแบบที่เป็นผู้ใหญ่จะไม่เกิด
สมชัย สุวรรณบรรณ
รายการตอบโจทย์ประเทศไทย เรื่องที่ไม่เคยพูดกันมาก่อน
สมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการสถานีไทยพีบีเอส กล่าวว่า ปัจจุบันไทยพีบีเอสประสบปัญหาในการออกอากาศสามประเด็น คือ ชาติพันธุ์ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งหลักการนำเสนอรายการที่มีเนื้อหาทั้งสามเรื่องนี้เขียนอยู่ในหลักจริยธรรมขององค์กรอยู่แล้ว ทั้งหลักการเรื่องความถูกต้องของข้อมูล ความครบถ้วน ความเป็นอิสระ การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การปกป้องสิทธิเด็ก และการรายงานข่าวในสถานการณ์ขัดแย้ง ก็เป็นหลักการที่เรามีอยู่แล้ว
เนื่องจากไทยพีบีเอสเองมีร่างแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการนำเสนอเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว สมชัยจึงเห็นว่ากรณีของรายการตอบโจทย์ประเทศไทยที่มีเสียงคัดค้านมากและปัจจุบันอยู่ในการพิจารณาของกสทช.นั้น มีบริบทที่มาจากความขัดแย้งในการชุมนุมทางการเมืองที่สี่แยกราชประสงค์ และข้อถกเถียงเรื่องมาตรา 112 ที่มีมายาวนาน รอวันที่จะระเบิดออกมา ไม่ใช่อยู่ดีดีสถานีว่างก็เลยคิดขึ้นมาเอง
นอกจากนี้ สมชัยยังเห็นว่า เนื่องจากทางคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ก็เคยออกรายงานระบุว่า รัฐควรสนับสนุนให้พูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยบริบทนี้ ทางสถานีจึงทำหน้าที่ของสื่อสาธารณะคือนำเรื่องที่เป็นความขัดแย้งในสังคมมาพูดคุยกันในที่เปิดเผย โดยต้องมีความกล้าหาญพอที่จะพูดเรื่องบางเรื่องที่ไม่เคยพูดกันมาก่อน
สมชัยกล่าวอีกว่า การทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนหนึ่งก็คือการใช้มาตรา112 ในทางที่ผิด ต้องหาวิธีการเพื่อแก้ไขกฎเกณฑ์ของมาตรา 112 ไม่ให้ถูกเอามาใช้ในทางที่ผิด หากไม่มีการแก้ไขแล้วมาตรา 112 จะไม่ได้ปกป้องสถาบันฯ แต่จะทำลายสถาบันฯ เอง ดังนั้น บทบาทหน้าที่ของสื่อจึงต้องพยายามทำให้เรื่องนี้พูดคุยกันอย่างมีเหตุมีผล ในพื้นที่เปิดเผย ให้เข้าใจสถานการณ์ตามที่เป็นจริง หาข้อตกลงกลางๆ เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้
ต่อประเด็นร่างประกาศกำกับดูแลเนื้อหาของ กสทช. ตามมาตรา 37 สมชัยกล่าวว่า ถ้าให้ผมตัดสิน รายการตอบโจทย์ที่ออกอากาศไป เป็นรายการที่ส่งเสริมความมั่นคงของรัฐ และสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าไม่ใช่ จึงสำคัญมากว่าใครเป็นคนตัดสิน แล้วกรรมการกสทช.มีความรู้เรื่องศีลธรรม ศาสนา ลามกอนาจาร มากขนาดไหนจึงจะมาเป็นคนตัดสินได้ หรือว่าใช้ความคิดเห็นของตัวเองเท่านั้น เนื่องจาก มาตรา 37 ให้อำนาจกสทช. 11 คนชี้ขาดได้ สมชัยจึงเสนอให้มีหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนและมีกลไกสภาผู้ชมจากองค์ประกอบที่หลากหลายมาช่วยกันดู และสุดท้ายให้เรื่องถูกตัดสินโดยศาล
สุภิญญา กลางณรงค์
สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกสทช. กล่าวว่า สังคมอย่าผลักการตีความมาตรา 37 ให้อยู่กับกสทช. อย่างเดียว เพราะเป็นเรื่องอันตรายมากที่จะโยนการตีความไว้กับคนไม่กี่คน ความคลุมเครือของมาตรา 37 ที่บอกให้กสทช.ใช้ดุลพินิจได้และสั่งระงับการออกอากาศโดยวาจาได้ เป็นปัญหาของตัวกฎหมายมาตรา 37 เอง ยังดีที่จนปัจจุบันยังไม่เคยมีการใช้อำนาจนี้อย่างเป็นทางการ
สุภิญญา กล่าวต่อว่า จริงๆ แล้ว มาตรา 37 มุ่งหมายควบคุมกับเรื่องที่ร้ายแรง แต่ที่ผ่านมา กสทช. ไม่ได้ใช้กับเรื่องร้ายแรงไปใช้กับการ์ตูนบ้าง รายการวาไรตี้บ้าง สะท้อนว่ากสทช.เองก็มึนเหมือนกัน เป็นประเด็นที่ปรากฏในสังคมไทยมานานว่า พอหาหลักเกณฑ์อะไรไม่ได้ก็มาลงว่าขัดศีลธรรมอันดี กลไกหนึ่งที่ควรนำมาใช้คือให้กลไกทางสังคม ผู้ชมที่หลากหลาย นักวิชาการ มาช่วยกันดูว่าเรื่องไหนอะไรบ้างที่รับได้หรือไม่ได้
สุภิญญา กล่าวต่อว่า ร่างประกาศกำกับดูแลเนื้อหาฯ ฉบับที่ออกมาเป็นการขยายอำนาจที่ผิดเพี้ยนไปเป็นการใหญ่ ส่วนตัวจึงไม่รับร่างประกาศฯ นี้ ขณะนี้กระบวนการรับฟังความเห็นของกสทช.ยังไม่เสร็จสิ้น คิดว่าเสียงคัดค้านจำนวนมากทำให้กสทช.เสียศูนย์พอสมควรและจะต้องทบทวน เพราะหากไม่ทบทวนก็จะเสียบรรยากาศในการทำงานของกสทช.
ขอขอบคุณที่มาข่าวจากเวบ ilaw.or.th
http://ilaw.or.th/node/2925