จับตากสทช. : เตรียมออก “ร่างประมวลจริยธรรมของกรรมการ กสทช.”

จับตากสทช.  : เตรียมออก “ร่างประมวลจริยธรรมของกรรมการ กสทช.”

                ในวันพุธนี้(16ต.ค.56) ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เตรียมออก “ร่างประมวลจริยธรรมของกรรมการ กสทช.” เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติตนที่เหมาะสมสำหรับกสทช. ตามที่ได้มีการหารือในที่ประชุมเมื่อครั้งที่ 12 วันที่ 18ก.ย.55 ได้มีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงระเบียบการบริหารงานภายในของสำนักงาน กสทช. จัดทำแนวทางดังกล่าว ซึ่ง นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนั้น ตนได้ถอนตัวจากการพิจารณาวาระดังกล่าว เนื่องจากควรสนับสนุนให้มีการร่างแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสำหรับ กสทช.ครอบคลุมทุกเรื่อง อาทิ การใช้งบรับรอง การเดินทางไปต่างประเทศ การรักษาระยะห่างกับผู้ประกอบการ การรับของขวัญ และเรื่องอื่นๆที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือขององค์กร โดยคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใสขององค์กร รวมถึงควรมีมาตรการวางแผนการใช้จ่ายงบประมาณในทุกด้านอย่างมีประสิทธิภาพบนมาตรฐานเดียวกับองค์กรกำกับดูแลในต่างประเทศ

นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า “ร่างประมวลจริยธรรมของกรรมการ กสทช.” ที่กำลังพิจารณานี้ มีทั้งหมด 3 หมวด 9 ข้อ แม้ว่าตนเห็นด้วยในหลายข้อของร่างประมวลฯนี้ แต่มีบางข้อที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเป็นบทบาทหน้าที่ของกรรมการที่ยังต้องคงความเป็นอิสระ และสามารถเปิดเผยความคิดเห็นของตนต่อสาธารณะ ซึ่งอาจละเมิดสิทธิเสรีภาพของกรรมการในการทำหน้าที่ตามกฎหมายได้ เช่น บางข้อในหมวดมาตรฐานจริยธรรมองค์กร ระบุว่า “ต้องเคารพความเห็นของกรรมการคนอื่น รวมทั้งต้องไม่นำความเห็นของกรรมการอื่นที่เสนอในที่ประชุมไปเปิดเผยต่อบุคคลภายนอก” หรือ “พึงแสดงความคิดเห็นในการประชุม โดยการตั้งคำถามหรือเสนอความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์ในด้านการเพิ่มคุณค่าให้แก่การประชุมดังกล่าว และเมื่อมีการลงมติที่ประชุมแล้ว หากกรรมการคนใดมีการลงมติแตกต่างจากมติที่ประชุมดังกล่าว ต้องระมัดระวังในการวิพากษ์วิจารณ์มติที่ประชุมดังกล่าวที่จะก่อให้เกิดความเสียหายด้านชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ การดำรงตน และการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ รวมทั้งองค์กรด้วย”

นอกจากนี้ หมวดกลไกและระบบบังคับใช้ประมวลจริยธรรม ได้ระบุว่า “กรณีมีการร้องเรียนหรือปรากฏเหตุว่า กรรมการคนหนึ่งคนใด ประพฤติฝ่าฝืนประมวลจริยธรรม ให้กรรมการที่เหลืออยู่ เป็นผู้รับผิดชอบพิจารณาดำเนินการเพื่อสอบสวนทางจริยธรรม” และ “การดำเนินการ…ให้ผู้รับผิดชอบพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน แต่ไม่เกิน 5 คน เป็นผู้สอบสวนทางจริยธรรม” ตนคิดว่าหากพบการฝ่าฝืนจริยธรรมควรส่งเรื่องให้ซุปเปอร์บอร์ด หรือวุฒิสภาเป็นผู้ทำหน้าที่พิจารณาตามกฎหมายน่าจะเหมาะสมกว่า ทั้งนี้ในประมวลจริยธรรมตนเสนอว่าควรจะเน้นเรื่อง การประหยัดงบประมาณสาธารณะ เพื่อใช้จ่ายในด้านต่างๆที่เหมาะสมและจำเป็น เช่น การเดินทางไปต่างประเทศ การซื้อพื้นที่สื่อเพื่อประชาสัมพันธ์ รวมทั้งกรรมการควรเปิดใจรับฟังความคิดเห็นอื่นที่แตกต่างจากตน และท้ายที่สุดสิ่งสำคัญในฐานะการทำหน้าที่กรรมการในองค์กรอิสระควรที่จะสามารถเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้

นอกจากนี้วาระน่าสนใจติดตาม ได้แก่ เรื่องค้างพิจารณาความเห็นชอบโครงการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนจากเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ประจำปี 2556 ได้มีการปรับบางโครงการออกไป เป็นอย่างไรชวนติดตาม…