4 องค์กรวิชาชีพสื่อยื่นจดหมายให้ กสทช.ทบทวนและแก้ไขร่างประกาศการกำกับเนื้อหารายการ ตาม ม.37 ฉบับตัดต่อพันธุกรรม

4 องค์กรวิชาชีพสื่อยื่นจดหมายให้ กสทช.ทบทวนและแก้ไขร่างประกาศการกำกับเนื้อหารายการ ตาม ม.37 ฉบับตัดต่อพันธุกรรม

วันที่ 11 พ.ย. 2556 ผู้แทนจาก 4 องค์กรวิชาชีพสื่อยื่นจดหมายให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ทบทวนและแก้ไขร่างประกาศการกำกับเนื้อหารายการ ตาม ม.37 ฉบับตัดต่อพันธุกรรม

 

รายละเอียดจดหมายมีดังนี้

 

วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน  ๒๕๕๖

เรื่อง    ขอให้ทบทวนและแก้ไข (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ….

เรียน     พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

และ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์

พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ

พันตำรวจเอก ทวีศักดิ์ งามสง่า

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์

อ้างถึง ๑. แถลงการณ์เรื่อง ๔ องค์กรวิชาชีพสื่อเตรียมยื่นจดหมายให้ กสทช. ทบทวนและแก้ไข (ร่างประกาศการกำกับเนื้อหารายการ ตาม ม.๓๗ ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๖

๒. แถลงการณ์ ๔ องค์กรวิชาชีพสื่อ เรื่อง คัดค้าน (ร่าง) ประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. …. ของ กสทช. ลงวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๖

๓. แถลงการณ์ ๔ องค์กรวิชาชีพสื่อ เรื่อง การแสดงความคิดเห็นเพื่อไม่รับ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ….  ลงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๖

 

ตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดทำ(ร่าง)ประกาศ หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. … โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย มาตรา 5 และมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 เพื่อเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยเผยแพร่และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ท่ามกลางเสียงคัดค้านขององค์กรวิชาชีพสื่อ 4 องค์กร และสื่อมวลชนในวงกว้าง เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2556 ซึ่งองค์กรสื่อทั้ง ๔ องค์กรได้แสดงความคิดเห็นแนะนำและคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง โดยในครั้งล่าสุดนั้น องค์กรสื่อทั้ง ๔ องค์กรได้จัดทำความคิดเห็นเป็นหนังสือตามแบบแสดงความคิดเห็นที่ กสท.จัดทำขึ้น เพื่อเป็นหลักฐานแสดงถึงหลักการ เหตุผล และความไม่ชอบด้วยกฎหมายของ(ร่าง)ประกาศฯ ดังกล่าวมายัง กสท.แล้ว แต่จนถึง ปัจจุบัน  แม้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) จะได้จัดทำร่างประกาศ หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. … ฉบับใหม่ ขึ้นมาแทนฉบับเดิมที่ได้รับการคัดค้านไปแล้วก็ตาม แต่จากการตรวจสอบเนื้อหาของร่างประกาศฯ ฉบับที่จะนำเข้าพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการ กสท. ในวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2556  ในรายละเอียดแล้วพบว่า  ยังมิได้มีเนื้อหาต่างจากร่างประกาศฉบับเดิมอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด เพราะใช้วิธีนำเนื้อหาในหมวดที่ 2  เรื่อง มาตรการในการออกอากาศรายการ ที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่กำกับดูแลให้ผู้ประกอบวิชาชีพปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมบางส่วนมาเพิ่มเติมไว้ในหมวดที่ 1 แทน โดยยังคงเนื้อหาหมวดที่ 3 เรื่องการกำกับดูแล ไว้เช่นเดิม ซึ่งยังคงเป็นการให้อำนาจผู้รับใบอนุญาต ผู้อำนวยการสถานี รวมถึง คณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ สามารถสั่งด้วยวาจาหรือหนังสือระงับการออกอากาศรายการได้ทันที ทั้งนี้ภายหลังจากที่ กสท. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะไปแล้ว กสท. กลับมิได้แสดงหรือเปิดเผยให้สาธารณะชนทราบว่า กสท.ใช้ดุลยพินิจประการใดในตัดสินใจที่จะรับฟังความคิดเห็นสาธารณะของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนมากในประเด็นใดหรือไม่เพียงใด และด้วยเหตุใด อย่างโปร่งใสเป็นธรรม และชอบด้วยกฎหมาย

องค์กรวิชาชีพสื่อทั้ง 4 องค์กร ตระหนักและเข้าใจถึงความจำเป็นที่ กสทช. จะต้องมีกลไกเพื่อเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลสื่อมวลชนทั้งระบบอย่างมีประสิทธิภาพ ตามที่กำหนดในมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการฯ พ.ศ. 2551 แต่ร่างประกาศ หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการฯ ฉบับใหม่ที่ผ่านการปรับปรุงแก้ไขดังกล่าว ยังคงมีบทบัญญัติที่อาจขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 29  ที่ระบุว่า “การกำจัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพมิได้

นอกจากนี้การที่ กสทช. อ้างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามมาตรา 29 เป็นเหตุผลหนึ่งในการร่างประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหาฯ ก็อาจจะเป็นการใช้สิทธิเกินความจำเป็นและกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและผู้บริโภคในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ประกอบกับ การใช้อำนาจหน้าที่ของ กสทช. ตามมาตรา 27 ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553   ถึงแม้ว่าจะใช้อำนาจหน้าที่ในการออกระเบียบประกาศ หรือคำสั่งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กสทช. กระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่บทบัญญัติในวรรคที่สามของมาตราดังกล่าวก็ยังคงจำกัดการใช้อำนาจหน้าที่ของ กสทช.ไว้ ว่า “การใช้อำนาจหน้าที่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคม และกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคม” โดย (ร่าง)ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. …. กสทช. กลับกำหนดข้อความให้อำนาจหน้าที่กับตัวเองและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการระงับการออกอากาศได้ทันที ซึ่งอาจเข้าข่ายการใช้อำนาจหน้าที่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย ซึ่งในมาตรา 37 ของพระราชบัญญัติกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ ที่ให้อำนาจหน้าที่นั้นกับผู้รับใบอนุญาตเท่านั้น

ในขณะเดียวกัน (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. …. ยังอาจขัดหรือแย้งกันเองกับประกาศของ กสทช. ฉบับอื่น เช่น ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ในหมวด 2 เรื่องสิทธิและหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาต ตามข้อ 10 ที่ระบุว่า “ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการคัดเลือก จัดหา กํากับดูแลรายการ เนื้อหารายการใด ๆ รวมถึงการประกาศหรือการโฆษณาที่ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ให้เป็นไป ตามมาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรมของสื่อ ฯลฯ จากประกาศดังกล่าว กสทช. เป็นผู้กำหนดให้ใช้มาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรมของสื่อเป็นตัวกำหนดเนื้อหารายการแต่ (ร่าง)ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. …. กลับเขียนเป็นเนื้อหารายการที่ต้องห้ามมิให้ออกอากาศโดยไม่คำนึงถึงมาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรมมาเป็นตัวกำหนดเนื้อหารายการ ซึ่งอาจเป็นการขัดหรือแย้งกันเองของประกาศ กสทช.ซึ่งจะสร้างความสับสนในการปฏิบัติงานของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน ทั้งนี้ จึงเห็นได้ว่า กสทช. มิได้ดำเนินไปด้วยความเข้าใจในกระบวนการทำงานด้านข่าวและรายการ และยังมีเนื้อหาเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

องค์กรสื่อทั้ง 4 องค์กร จึงมีความเห็นร่วมกันที่จะยื่นจดหมายให้ คณะกรรมการ กสท. และ คณะกรรมการ กสทช. พิจารณาทบทวนและปรับแก้ไขร่างประกาศดังกล่าวด้วยความรอบคอบ เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอความคิดเห็นตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำร่าง เพื่อให้ร่างประกาศฉบับดังกล่าวสามารถใช้เป็นเครื่องมือของ กสทช. ในการกำกับดูแลสื่อมวลชนที่มีประสิทธิภาพ อันจะนำมาซึ่งประโยชน์ของประชาชนซึ่งเป็นประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง และหาก กสทช.เห็นควรจัดให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อร่างประกาศดังกล่าว องค์กรสื่อทั้ง 4 องค์กรยินดีให้ความร่วมมือส่งตัวแทนเข้าร่วมเพื่อให้ข้อเสนอแนะต่อไป

 

 

ขอแสดงความนับถือ

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

 

ขอขอบคุณที่มา
เวบสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย