คือหัวใจสำคัญในการสร้าง check & balance ในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ

Sum up from NBTC Panel’s meeting yesterday:
17 ก.ค.57

สรุปผลการประชุมบอร์ดใหญ่ กสทช. เมื่อวาน ยังไม่มีวาระเรื่องคูปองแลกซื้ออุปกรณ์รับชมทีวีดิจิตอล เพราะต้องรับรับฟังความคิดเห็นถึงวันที่ 18 ก.ค.นี้ บอร์ดใหญ่จะนัดประชุมพิเศษสรุปเรื่องคูปองวันที่ 24 ก.ค. นี้ ระหว่างนี้ท่านที่ยังมีความเห็นเพิ่มเติม ส่งเข้ามาได้ที่ กสทช.ค่ะ

การประชุมวานนี้มีวาระจุกจิกเรื่องการบริหารภายใน เช่น กรอบงบประมาณปีหน้า การปรับแก้วงเงินงบประมาณกลางปีนี้ สวัสดิการ วันลาของพนักงาน และอื่นๆ ซึ่งบอร์ดยังไม่ลงมติ ให้สำนักงานกลับไปทบทวนใหม่ให้รอบคอบ หลังจากถูกตรวจสอบเข้ม รอบนี้บอร์ด กสทช.มีความระมัดระวังในอนุมัติมติต่างๆมากขึ้น นับเป็นเรื่องที่ดี สะท้อนให้เห็นว่าการตรวจสอบอย่างเข้มข้น และความโปร่งใส คือหัวใจสำคัญในการสร้าง check & balance ในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ

พักหลังเรื่องดราม่ากันเองในบอร์ด กสทช. ระหว่างเสียงข้างมากกับเสียงข้างน้อยลดลงบ้าง อาทิ วาระการตรวจสอบจริยธรรม (เสียงข้างน้อย) ที่วนเวียนเข้าบอร์ดมาถกเถียงกันหลายรอบ คราวนี้วาระหายไปแล้ว … เสียงจิ้งจกทักได้รับการฟังมากขึ้น ก็ถือว่าดี … แต่การตรวจสอบถ่วงดุลยังคงต้องมีต่อไปอย่างสม่ำเสมอ

วาระสำคัญอื่นๆ ด้านฝั่งวิทยุ-โทรทัศน์ มีข่าวดีคือร่างประกาศว่าด้วยการส่งเสริมการแข่งขันและป้องกันการผูกขาด หรือชื่อเต็มๆว่า ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดที่เกี่ยวข้องในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และมาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน พ.ศ. …. และ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาและกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อแก้ไขผลที่เกิดจากพฤติกรรมอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ….
ซึ่งได้ปรับปรุงภายหลังการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะและผ่านความเห็นชอบของที่ประชุม กสท. ได้ผ่านบอร์ดใหญ่ในวันนี้แล้ว เพื่อนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

ร่างประกาศนี้จะพูดถึงนิยามของ *ตลาด* *การผูกขาด* และ *แนวทางในการกำกับดูแลตามหลัง* รายละเอียดค่อนข้างซับซ้อนแต่จะเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลเพื่อส่งเสริมการแข่งขันในกิจการสื่อโทรทัศน์ของไทยต่อจากนี้ไป

ส่วนทางบอร์ดโทรคมนาคม (กทค.) มีความคืบหน้าเรื่องร่างประกาศมาตรฐานการบริการทางเสียง และ แนวทางการเรียกคืนกกลับมาจัดสรรใหม่ (re-farming) คลื่นความถี่ของกองทัพที่ใช้ในด้านความมั่นคงมาตลอดแล้วทับซ้อนกับคลื่นเชิงพาณิชย์ มาเป็นคลื่นเชิงพาณิชย์เพื่อการประมูลทำบริการ 4จี หลังสัมปทานคลื่น 1800/900 และอื่นๆสิ้นสุดลง อ่านรายละเอียดตามลิงค์ข้างล่างค่ะ

ส่วนความคืบหน้าเรื่องการคืนสิทธิ์วิทยุ ตอนนี้หลังประกาศ คสช. ทุกสถานีต้องเตรียมเอกสาร 3 อย่างคือ 1. ใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการ 2. ใบผ่านการตรวจคลื่น 3. ใบอนุญาตตั้งเสาสถานี จากนั้นต้องลงนามความข้อตกลงกับกองทัพและ กสทช. และจะทยอยกลับมาออกอากาศ ซึ่งตอนนี้ยังมีสถานีไม่มากนักในการได้กลับมา เพราะ กสทช. ใช้กฏเข้มข้นขึ้นในการกลั่นกรองโดยเฉพาะด้านเทคนิค การใช้คลื่นความถี่ ส่วนเรื่องเนื้อหาโดยเฉพาะการโฆษณาอาหารและยาเกินจริง ก็ได้ใส่ในข้อตกลงที่ต้องลงนามเช่นกัน ถ้าฝ่าฝืนโทษก็จะหนักขึ้น แต่ สนง. กสทช. ก็ต้องร่วมมือกับ อย. สสจ.ในการมอนิเตอร์ ร้องเรียน ตักเตือนและมีบทโทษต่อไป เช่นเดียวกับการ่วมมือกับ อย. ในการจัดอบรมให้ความรู้ด้านการโฆษณาที่ถูกต้องกับผู้ประกอบการ อ่านรายชื่อสถานีวิทยุที่ผ่านการคืนสิทธิ์แล้วจำนวน 98 สถานีได้ที่ลิงค์ www.broadcast.nbtc.go.th/radio จากนี้ สำนักงานกสทช. และอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ คงต้องทำงานกับเครือข่ายผู้บริโภคเพื่อการเฝ้าระวังและร้องเรียนมากขึ้นเพื่อให้มีการกำกับการโฆษณาอย่างเห็นผลเป็นรูปธรรมกว่าเดิม

ส่วนการปรับทัศนคติ คนทำละครและทีวีช่องต่างๆในการลดฉากความรุนแรงหรือข่มขืน ทาง สนง.จะดำเนินการเรื่องนี้ต่อเนื่อง จริงๆเคยเชิญมาพูดคุยกันเป็นระยะ เร็วๆนี้จะเชิญตัวแทนช่องต่างๆมาคุยอีกรอบ รวมทั้งจัดอบรมให้คนทำละครในเรื่องการเขียนบท ผู้กำกับ ที่คำนึงถึงสิทธิมนุยชน และ สิทธิของผู้หญิงที่จะไม่ถูกผลิตซ้ำแนวคิดกระทำทางเพศด้วยความรุนแรง รายละเอียดจะแจ้งเพื่อทราบต่อไปค่ะ

…….