ของขวัญปี 2558 สร้างรายการวิทยุดีๆ เพื่อเด็ก

ของขวัญปี 2558 สร้างรายการวิทยุดีๆ เพื่อเด็ก

แม้ประเทศไทยจะมีช่องโทรทัศน์หลายช่องภายหลังการเกิดทีวีดิจิตอล และบังคับว่าต้องมีรายการสำหรับเด็กมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่ารายการลักษณะดังกล่าวกลับไม่ค่อยได้รับความสนใจ อีกทั้งยังถูกลดสัดส่วนลงอย่างน่าใจหาย และอยู่ในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากไม่สามารถตอบโจทย์ในผลประโยชน์ทางธุรกิจที่นับวันจะแข่งขันกันอย่างดุเดือด ทั้งสื่อโทรทัศน์และวิทยุ และหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป สภาวะของเด็กและเยาวชนไทยอาจถูกชักจูงจากสื่อในทิศทางที่ผิด นำมาซึ่งปัญหาสังคมมากมาย จึงถึงเวลาแล้วที่สังคมต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องและสนับสนุนทั้งทางตรงและอ้อมให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์แก่บุตรหลานของพวกเรา เพื่อให้พวกเขาเติบโตมาอย่างมีคุณภาพและเป็นอนาคตของชาติ
ล่าสุด สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) ได้จัดโครงการประกวดรายการวิทยุเด็กและเยาวชนเพื่อสร้างสุขภาวะในสังคมไทย ครั้งที่ 4 ประจำปี 2557 มุ่งพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตรายการวิทยุสำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการผลิตรายการวิทยุที่ให้ความสำคัญกับเนื้อหาและรูปแบบที่มีคุณภาพเหมาะสมกับพัฒนาการตามช่วงวัยของกลุ่มเป้าหมาย ณ ห้องโลตัส ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมี รศ.จุมพล รอดคำดี ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และผู้ก่อตั้ง สสดย. และคุณสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมงาน
ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) กล่าวว่า ปัจจุบันรายการวิทยุสำหรับเด็กและเยาวชนมีปริมาณลดน้อยลงมาก ทั้งๆ ที่สื่อวิทยุมีความสำคัญ ช่วยเสริมสร้างจินตนาการให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้ ทั้งด้านอารมณ์ คุณธรรม จริยธรรม พัฒนาการทางสมอง และยังสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาชิกในครอบครัว
จากผลการวิจัยของ สสดย. เมื่อปี 2555 พบว่าสัดส่วนรายการสำหรับเด็กมีเพียงร้อยละ 1.45 เท่านั้น โดยเฉพาะเด็กเล็กมีเพียงร้อยละ 0.227 ซึ่งน้อยมาก การพัฒนาบุคลากรด้านนี้จึงมีความสำคัญ สสดย.จึงมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตรายการวิทยุสำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างเนื้อหาและรูปแบบที่มีคุณภาพเหมาะสมกับพัฒนาการตามช่วงวัย ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมในสังคมและร่วมผลักดันให้เกิดพลังความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เล็งเห็นและตระหนักถึงความสำคัญของการใช้สื่อวิทยุเพื่อการพัฒนาและสร้างสุขภาวะทางสังคมอย่างแท้จริง และได้จัดโครงการประกวดรายการวิทยุสำหรับเด็กและเยาวชนเพื่อสร้างสุขภาวะในสังคมไทยขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 มีนักจัดรายการวิทยุและนิสิต-นักศึกษาให้ความสนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวดเป็นจำนวนมาก หลังจากมีการคัดเลือกอย่างพิถีพิถันของคณะกรรมการกันถึง 2 รอบ ก็ได้รายการวิทยุที่เข้ารอบสุดท้ายมาจำนวนหนึ่ง
ทั้งหมดเป็นผลงานที่น่าพอใจและสามารถพัฒนาต่อยอด สร้างพื้นที่สื่อดีๆ ให้เด็กและเยาวชนอีกมาก น่าประทับใจอย่างยิ่ง โดยการจัดโครงการทุกครั้งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ส่งเสริมการผลิตรายการวิทยุและสื่อน้ำดีให้เด็กและเยาวชน เพื่อความเหมาะสมของการเรียนรู้ตามช่วงวัย และในครั้งนี้มีการยื่นจดหมายเปิดผนึกจาก สสดย. ว่าด้วยเรื่องผลักดันให้เกิดการบังคับใช้ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ.2556 เพื่อเพิ่มพื้นที่สื่อดีสำหรับเด็กและเยาวชนในสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีโทรทัศน์อย่างน้อยวันละ 60 นาที และการเข้มงวดควบคุมสื่อไม่ดีด้วย
การประกวดรายการวิทยุเด็กและเยาวชนเพื่อสร้างสุขภาวะในสังคมไทย มีการประกวด 2 ประเภท คือ ประเภทนักจัดรายการวิทยุทั่วไป ส่งผลงานรายการวิทยุสำหรับเด็ก 3-5 ปี, 6-12 ปี และ 13-18 ปี และประเภทนิสิต-นักศึกษา ส่งผลงานรายการวิทยุสำหรับเด็ก 6-12 ปี ผู้ได้รับรางวัลจะได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ ประกาศนียบัตร และเงินสดจาก สสดย.
ทั้งนี้ สสดย.จะยังคงผลักดันให้เกิดพื้นที่สื่อที่มีคุณภาพและเหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้น รวมถึงเกิดกระบวนการพัฒนาคุณภาพสื่อสำหรับเด็กให้เหมาะสมกับความต้องการในการเรียนรู้ และมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาสุขภาวะของเด็กและเยาวชนในแต่ละช่วงวัยต่อไป
สำหรับรางวัลที่ 1 ประเภทนักจัดรายการวิทยุทั่วไป รายการเด็กช่วงอายุ 3-5 ปี คือรายการบ้านนี้มีสุข ของสมันญา ทมธิแสง ได้รับเงินรางวัล 25,000 บาท และรางวัลที่ 1 ประเภทนิสิต-นักศึกษา ช่วงอายุ  6-12 ปี คือรายการวัยป่วน…ก๊วนประถม ของทีม พัชรียา ทองแดง, โซเฟีย สือแม, รัชนก ช่วยแก้ว และอังคริน พรหมพานิช ได้รับเงินรางวัล 15,000 บาท
นี่เป็นก้าวย่างของการเริ่มต้นเพื่อให้เกิดรายการวิทยุที่ดี มีประโยชน์สำหรับเด็กและเยาวชน ที่เปรียบเสมือนเป็นผู้ปิดทองหลังพระให้แก่เยาวชนของชาติ.

ขอบคุณที่มา : ไทยโพสต์