ผ่าโครงสร้างใหม่ กสทช. จูนทิศทางทีวีดิจิทัลไทย

ผ่าโครงสร้างใหม่ กสทช. จูนทิศทางทีวีดิจิทัลไทย

จากมติล่าสุดของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เรื่องการเข้าถือหุ้นในบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG ของบริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) หรือ SLC จนเป็นที่วิพากษ์กันอย่างกว้างขวางกันถึงมาตรฐานในหลักเกณฑ์การประมูลทีวีดิจิทัลของกสท. มหาวิทยาลัยเนชั่นจึงได้จัดเสวนาหัวข้อ “ทีวีดิจิทัลไทย ก้าวอย่างไรกับเกณฑ์ใหม่ กสทช.” โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญในวงการสื่อทีวีดิจิทัลร่วมแสดงความคิดเห็น

แถมพ่วงด้วยข้อวิตกกังวลจากวิทยากรผู้เข้าร่วมเสวนา ในประเด็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ…. ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

แต่ประเด็นที่กำลังเป็นข้อกังวล คือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) จะต้องอยู่ภายใต้คณะกรรมการชุดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ อาจส่งผลให้ กสทช.ต้องเปลี่ยนสถานะจาก องค์กรอิสระ ไปสู่องค์กรที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ตามเจตนารมณ์ของ กสทช. ในการจัดสรรคลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะนั้น กสทช. ได้ดำเนินการแล้ว แต่โจทย์ที่ยากต่อจากนี้คือการกำกับดูแลภายใต้การแข่งขันเสรี เป็นธรรม จึงต้องออกเกณฑ์มากำกับ และวางตัวเป็นกรรมการกลางที่จะต้องสามารถสร้างความศรัทธาได้ แต่ที่ผ่านมาก็มีปัญหามาต่อเนื่อง จนล่าสุดประเด็นเรื่องการตีความเรื่องสัดส่วนการถือครองหุ้น ในกรณี NMG และ SLC และการนับคะแนนออกเสียงของบอร์ด กสท.เอง ที่ส่งผลกระทบให้เกิดความไม่แน่ใจในอุตสาหกรรม

“ทั้งเรื่องวิกฤติศรัทธา ธรรมาภิบาล ประจวบเหมาะกับผลงานอาจจะไม่เข้าตา จึงเป็นกระแสทำให้ผู้มีอำนาจในปัจจุบันจะแก้ พ.ร.บ.กสทช. แต่ก็มีหลายเรื่องที่น่ากังวลตามมาด้วย เช่น สัดส่วน หรือที่มาของกรรมการ แต่ถ้าไม่ปรับคนก็ยังรู้สึกเกิดวิกฤติศรัทธา จึงเหมือนว่าตอนนี้อยู่ในจุดทางสองแพร่งในการปฏิรูปสื่อ ซึ่งกสทช.อาจจะต้องปรับตัวบางอย่าง แต่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก็น่าจะมาร่วมพิจารณาว่าหากแก้ไขก็ควรให้ดีกว่าเดิม” น.ส.สุภิญญา กล่าว

ส่วนกรณีมติที่ประชุม กสท. เมื่อวันที่ 30 มีนาคม มีมติ 3 ต่อ 2 เสียง ให้ SLC ถือหุ้นใน NMG สัดส่วน 12.27% ไม่ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อเงื่อนไขการมีผลประโยชน์ร่วมกัน จึงไม่ขัดต่อประกาศ กสทช. ซึ่งในจำนวน 3 เสียง ดังกล่าวมาจากไม่ออกความเห็น 2 เสียง และเห็นว่าไม่ขัด 1 เสียง แต่รวมกันเป็น 3 เสียงนั้น น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า ในส่วนของตน และนายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการ กสท. (รวม 2 เสียง) ไม่รับรองในมติดังกล่าว และได้เสนอเรื่องเข้าสู่คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของ กสทช. เพื่อให้ตีความอีกครั้ง หากตีความแล้วเป็นอย่างไรก็จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดใหญ่ของ กสทช. ต่อไป จึงถือว่าในประเด็นดังกล่าวยังไม่เป็นที่สิ้นสุด แต่ไม่ว่าผลจะออกมาทางใดทางหนึ่ง เรื่องนี้ก็น่าจะไปจบในชั้นศาลว่าจะวินิจฉัยอย่างไร

“กรณี SLC ซื้อหุ้น NMG ความเห็นของดิฉัน กับอาจารย์ธวัชชัย ไม่รับมติ และจะเสนอเรื่องให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของ กสทช. ตีความอีกครั้ง” น.ส.สุภิญญา กล่าว

นายสุภาพ คลี่ขจาย ประธานชมรมผู้ประกอบการดิจิทัล ซึ่งขอแสดงความคิดเห็นเป็นการส่วนตัว ว่าในกรณีของสื่อ หากได้เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นที่มีจริยธรรม คุณธรรม ก็จะไม่เกิดปัญหา แต่ในทางตรงข้าม หากเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใช้อิทธิพลมาแทรกแซง ก็จะยุ่ง

นายสุภาพ ย้ำว่า การประมูลทีวีดิจิทัล เมื่อ กสทช.ออกกฎมาอย่างไรก็ควรใช้ไปจนถึงหลังการประมูล

“ชักชวนผู้ประกอบธุรกิจสื่อทีวีดิจิทัลไปประมูลอย่างไร กฎเกณฑ์ที่ออกตอนนั้นก็ควรนำไปใช้ตลอด เพราะเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่ชักชวนไปประมูล ดังนั้นจึงควรใช้ให้ตลอด อย่างไรก็ตาม กสทช.ควรจะต้องตอบคำถามต่างๆ ในเชิงธุรกิจที่จะตามมาด้วย ทั้งการเพิ่มทุน การขายหุ้น และการแปลงหนี้เป็นทุน ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตในกลุ่มธุรกิจทีวีดิจิทัล” นายสุภาพ กล่าว

นายสุภาพ กล่าวว่า หากพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นของ กสทช. ไม่ได้หมายความว่าโครงสร้างของ กสทช.ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อ และสื่อก็กำกับดูแลกันเองในแบบปัจจุบันจะมีปัญหาไปด้วย เพราะในแง่ของหลักการถือว่าดีอยู่แล้ว ขณะที่คลื่นความถี่ถือเป็นสมบัติของชาติที่ควรจะต้องมีองค์กรใดองค์กรหนึ่งที่เป็นอิสระมากำกับดูแล ที่ไม่ใช่รัฐบาล แต่จากที่ได้ดูโครงร่างของโครงสร้างใหม่ คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นั้น ทำให้ค่อนข้างเป็นกังวล

“ที่กังวลก็คือกรณีที่มีนายกรัฐมนตรีลุแก่อำนาจ อาจใช้อำนาจแทรกแซงได้ ซึ่งควรจะต้องหาทางป้องกันไว้ก่อน เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป และนั่นจะมีอะไรมาเป็นหลักประกันได้ ดังนั้นจึงควรต้องมีหลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อ โดยการออกกฎหมายออกมาคุ้มครองเสียก่อน” นายสุภาพ กล่าว

ด้านนักวิชาการ นายปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การเกิดโครงสร้างใหม่ ที่มีคณะกรรมการดิจิทัลฯ นั้น เกิดจากการที่ กสทช.เองมีปัญหา จึงต้องหากลไกเข้ามาดำเนินการ ซึ่งนั่นก็คือการมีโครงสร้างใหม่เข้ามาครอบ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการที่ กสทช. ไม่รู้ถึงนโยบาย แต่ทำงานแบบเป็นเอกเทศ คิดนโยบายขึ้นเอง ดังนั้นจึงต้องมีการสร้างความชัดเจนใหม่นี้ให้เกิดขึ้น

นายวรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มองว่า หัวใจของสื่อคือความเป็นอิสระในการนำเสนอสิ่งที่ถูกต้อง เหมาะสม แต่หากเสนอในสิ่งที่บิดประเด็น ถือว่าเป็นการทำลายตัวเองและยังละเมิดสิทธิผู้บริโภคด้วย

เช่นเดียวกับ นางสุวรรณา จิตประภัสสร์ ที่ปรึกษาเครือข่ายผู้บริโภค ที่ระบุว่า เจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อของ กสทช. ในขั้นแรกนั้น ถือว่าประชาชนได้รับประโยชน์