สงวนความเห็น : แผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการ กรณี บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ จำนวน 6 ช่อง HBO

ในการประชุม กสท. ครั้งที่ 6/2560 วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ได้มีสงวนความเห็นในการพิจารณาวาระ 4.26 แผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการ กรณี บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ จำนวน 6 ช่องรายการ โดยมีเหตุผลสนับสนุนดังนี้

1.ประเด็นแผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการเพิ่มเติม : สืบเนื่องจาก มติ กสท.ครั้งที่ 5/2560
เมื่อวันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560  ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงาน กสทช.เชิญผู้แทน บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด มาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อที่ประชุม กสท. ในครั้งนี้ เพื่อเจรจาแผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการเพิ่มเติมกรณีการขอยกเลิกใบอนุญาตฯ ช่องรายการกลุ่ม HBO จำนวน 6 ช่องรายการ และผลการเจรจาระหว่าง กสท.กับบริษัท ทรู วิชั่นส์ ฯ เห็นชอบในการจ่ายค่าชดเชยค่าบริการตามสัดส่วนให้กับผู้ใช้บริการที่บอกยกเลิกในช่วงระหว่างวันที่ 1-25 มกราคม 2560 นั้น

ดิฉันไม่เห็นชอบแผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการเพิ่มเติม เนื่องจากเห็นว่า มาตรการข้างต้นยังไม่ครอบคลุมหลักการชดเชยเยียวยาผู้บริโภคที่ครอบคลุมและเป็นธรรมเพียงพอกับสมาชิกทุกกลุ่ม โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.1 ตามหลักการชดเชยเยียวยา ผู้ใช้บริการควรได้รับทราบสิทธิการชดเชยจากผู้ให้บริการเพื่อจะได้มีข้อมูลสำหรับการพิจารณา ตัดสินใจว่า จะยกเลิกการใช้บริการบอกรับสมาชิกหรือไม่ เช่นเดียวกับในขั้นตอนการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ข้อเสนอในการบริการของเอกชน

1.2 การกำหนดระยะเวลา ผู้ใช้บริการควรได้รับการแจ้งล่วงหน้าเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ในการชดเชยเยียวยาล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วันนับแต่วันที่ กสทช.อนุมัติแผนเยียวยาเพิ่มเติม เพื่อที่จะได้มีระยะเวลาเพียงพอที่จะศึกษาข้อมูลโดยเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจว่า จะยกเลิกการใช้บริการหรือไม่ แนวคิดนี้เป็นหลักการพื้นฐานอันนำมาสู่กำหนดตามข้อ 15 ของประกาศ กสทช.เรื่องมาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ที่ระบุว่า ผู้ให้บริการมีหน้าที่แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนมีการเปลี่ยนแปลง

1.3 การสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภค ดิฉันเห็นว่า การสร้างเงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชยค่าบริการตามสัดส่วนให้กับผู้ใช้บริการที่บอกยกเลิกในช่วงระหว่างวันที่ 1-25 มกราคม 2560 นั้น ยังไม่ครอบคลุมสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงยกเลิกช่องบริการ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากข้อมูลของบริษัท ทรูฯ ที่นำเสนอต่อที่ประชุม กสท.ว่า จากการบันทึกเสียงสมาชิกที่แจ้งขอยกเลิกบริการในกลุ่มนี้ระหว่างวันเวลาดังกล่าวมีอยู่ราว 1,100 ราย ดิฉันจึงเห็นว่า แผนการชดเชยเยียวยาเพิ่มเติมในครั้งนี้ได้ให้สิทธิเฉพาะสมาชิกกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น และไม่ได้สร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ยังมิได้แจ้งสิทธิเพื่อขอยกเลิกบริการซึ่งยังอีกจำนวนมากที่อาจประสงค์ในการใช้สิทธิ์รับการชดเชยเยียวยา

 

                2.ประเด็นพฤติกรรมการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ของบริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด

                ดิฉันเห็นว่า การออกคำสั่งเตือนทางปกครองแก่บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด ในกรณีที่มีพฤติกรรมการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงฯ นั้น เป็นบทลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำของผู้รับใบอนุญาต โดยมีเหตุผลดังนี้

2.1 บริษัท ทรูฯ มีหนังสือจำนวน 2 ฉบับ ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2559 และ วันที่ 23 ธันวาคม 2559 เพื่อแจ้งความประสงค์ขอยกเลิกใบอนุญาตกลุ่มช่อง HBO จำนวน 6 ช่องรายการ โดยแจ้งว่าจะขอยกเลิกใบอนุญาตตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ซึ่งเป็นการแจ้งยกเลิกดังกล่าวน้อยกว่า 30 วัน
ตามที่ประกาศกำหนด อีกทั้งยังมิได้มีการแจ้งผู้ใช้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าน้อยกว่า 30 วันก่อนมีการเปลี่ยนแปลง ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560 บริษัท ทรู ฯ ได้มีการยกเลิกการให้บริการช่องรายการทั้ง 6 ช่อง ดังนั้นการกระทำของบริษัทฯ จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งว่า เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการให้บริการที่ได้ตกลงไว้กับผู้บริโภคโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ซึ่งถือเป็นการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ตามข้อ 5(7) ของประกาศ กสทช.เรื่องการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2555 นอกจากนี้ บริษัท ทรูฯ ในฐานะผู้ให้บริการโครงข่าย ยุติการให้บริการช่องรายการทั้ง 6 ช่อง โดยนำออกจากโครงข่าย บริษัท ทรูฯ มีหน้าที่ต้องแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนมีการเปลี่ยนแปลงตามข้อ 15 วรรคแรกของประกาศ กสทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ.2556  ซึ่งมิได้ดำเนินการดังกล่าว จึงถือเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการให้บริการที่บริษัท ฯ ได้ตกลงไว้กับผู้ใช้บริการ

2.2 ดิฉันเห็นว่า พฤติกรรมการกระทำของบริษัท ทรู ฯ เข้าข่ายการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคตามประกาศ กสทช.ข้างต้น และ กสท.มีอำนาจสั่งระงับการดำเนินการดังกล่าวได้ตามมาตรา 31 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงฯ พ.ศ.2553 และประเด็นนี้ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ได้พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว เห็นว่า บริษัทฯ จะต้องดำเนินการชี้แจงให้ผู้ใช้บริการรับทราบถึงเหตุการณ์หยุดให้บริการโดยอาจผ่านการขึ้นอักษรวิ่งหน้าจอโทรทัศน์หรือภาพนิ่งผ่านทางโครงข่ายตลอดระยะเวลาที่พักซึ่งเป็นไปตามประกาศ กสทช. และมติ กสท.ครั้งที่ 15/2559 เมื่อวันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม 2559 และข้อ 15 ของประกาศ กสทช.เรื่องมาตรฐานสัญญาฯ พ.ศ.2556  ด้วยเหตุนี้ คณะอนุกรรมการฯ จึงได้เสนอความเห็นให้ กสท.พิจารณาออกคำสั่งให้บริษัทระงับการกระทำดังกล่าวตั้งแต่การประชุม กสท.ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2560 ทั้งนี้เพื่อให้มีผลการบังคับใช้คำสั่งปรับทางปกครองหากผู้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตาม และเห็นสมควรกำหนดค่าปรับทางปกครองในอัตราห้าล้านบาทและปรับรายวันอีกวันละหนึ่งแสนบาท ตามมาตรา 77 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553  ซึ่งในประเด็นนี้ ดิฉันได้สงวนความเห็นตามบันทึก สทช. 1003.9/021 วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560

  1. การกำกับดูแลของ กสท.ต่อกรณีการยกเลิกกลุ่มช่องรายการ HBO 6 ช่องรายการ

หากพิจารณาการกำกับดูแลของ กสท. ต่อกรณีการยกเลิกกลุ่มช่องรายการ HBO 6 ช่องรายการ นับตั้งแต่การพิจารณากรณีดังกล่าวครั้งแรกในที่ประชุม กสท.ครั้งที่ 43/2559 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 ซึ่งถือเป็นครั้งแรก จนกระทั่งถึงการประชุม กสท.ครั้งที่ 6/2560 วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560(รายละเอียดเพิ่มเติมปรากฏตามเอกสารแนบ) ตลอดระยะเวลาดังกล่าวมีหลายขั้นตอนที่ดิฉันเห็นว่า  กสท.มิได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่ประกาศ กสทช.กำหนด และมีความล่าช้าในการพิจารณาดำเนินการออกคำสั่งทางปกครองซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคสับสนและไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิอย่างทันท่วงที รวมทั้งอาจมีแนวทางการพิจารณาที่ข่ายเลือกปฏิบัติต่อผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายแตกต่างกัน โดยมีรายละเอียด  ดังนี้

3.1 การประชุม กสท.ครั้งที่ 43/2559 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 กรรมการ กสท.เสียงข้างมากอนุญาตให้บริษัท ทรูฯ ยกเลิกใบอนุญาตช่องรายการจำนวน 6 ช่องรายการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป โดยที่บริษัทยังมิได้จัดส่งมาตรการเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดต่อผู้ใช้บริการ  ซึ่งการใช้อำนาจของ กสท.ในการประชุมครั้งนั้น มติ กสท.ครั้งดังกล่าวได้มีการบันทึกไว้ในที่ประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ครั้งที่ 32/2559 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ว่า มติดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ในประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ.2555 เงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต และมติกสท. ซึ่งกติกาข้างต้นใช้บังคับกับผู้ประกอบกิจการทุกรายที่ขอยกเลิกใบอนุญาต เช่น บริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด บริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด เป็นต้น ดิฉันเห็นว่า การที่ มติ กสท. ไม่ดำเนินการขั้นตอนตามประกาศตั้งแต่ต้น ส่งผลกระทบต่อการคุ้มครองผู้บริโภคและ
การพิจารณาแผนเยียวยาชดเชยต่อผู้บริโภค

3.2 การพิจารณาแผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการเพิ่มเติม ได้บรรจุเข้าสู่การพิจารณา
ในที่ประชุม กสท.ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันจันทร์ที่ 16 มกราคม 2560 ซึ่งในการประชุมครั้งนั้น คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ เสนอให้ กสท.พิจารณาออกคำสั่งทางปกครองไปยังบริษัท ทรูฯ เพื่อจัดทำมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม แต่วาระดังกล่าวได้เลื่อนการพิจารณาออกไปจนกระทั่งการประชุม กสท.ครั้งที่ 6/2560 เมื่อวันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งดิฉันได้เปิดเผยความเห็นนี้ในบันทึก สทช.1003.9/013 วันที่ 26 มกราคม 2560 ดิฉันเห็นว่า ความล่าช้าไม่เพียงส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการกำกับดูแลของ กสทช.ยังเป็นการสร้างความสับสนให้แก่ผู้บริโภคเนื่องจากไม่ได้รับทราบข้อมูลอย่างทันกับสถานการณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าของแผนการชดเชยเยียวยาเพิ่มเติมที่กสทช.กำลังพิจารณา

3.3 เรื่องการกำหนดระยะเวลาในการจ่ายค่าชดเชยตามสัดส่วนแก่ผู้ใช้บริการ ในกรณียกเลิก 6 ช่องรายการครั้งนี้ พบว่า ไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่น เช่น กรณีแผนการชดเชยเยียวยาเพิ่มเติมแก่ผู้ใช้บริการกล่องรับสัญญาณดาวเทียมพีเอสไอ กสท.กำหนดระยะเวลาของการแจ้งขอคืนกล่องรับสัญญาณจำนวน 30 วันหลังจากที่ กสท.มีมติ กรณีแผนการชดเชยเยียวยาเพิ่มเติมแก่ผู้ใช้บริการกล่องรับสัญญาณดาวเทียม GMM Z พบว่า กำหนดระยะเวลา 30 วันนับจากวันที่ กสท.มีมติเช่นเดียวกัน ขณะที่กรณีของบริษัท ทรูฯ กลับพบว่า กสท.เลือกใช้เกณฑ์ในการกำหนดระยะเวลาที่เป็นการชดเชยย้อนหลังน้อยกว่า 30 วัน โดยไม่ได้คำนึงถึงการแจ้งให้ผู้ใช้บริการรับทราบข้อมูลสิทธิการชดเชยดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งส่งผลให้มีเพียงสมาชิกบริษัท ทรูฯ ที่ได้แจ้งขอยกเลิกบริการในระหว่างวันเวลาดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งมีจำนวนราว 1100 รายจากจำนวนทั้งหมดเกือบ 6 แสนราย ได้รับสิทธิชดเชยตามสัดส่วน ขณะที่ผู้บริโภคส่วนที่เหลือที่อาจประสงค์ขอยกเลิกการบริการไม่ได้รับการคุ้มครองในการใช้สิทธิ์ดังกล่าว

การดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ ของ กสท.ข้างต้น แสดงถึงการกำกับดูแลที่ล่าช้า ขาดประสิทธิภาพ และอาจเข้าข่ายเอื้อประโยชน์แก่ผู้รับใบอนุญาตบางรายรวมทั้งละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม

Download (Comment-NBC6-60.pdf,PDF, Unknown)