สุดท้ายไม่อาจทัดทานอำนาจทางเศรษฐกิจได้ (แต่จะแข่งขันเป็นธรรมหรือไม่ ต้องจับตา)

Sum up Day1: Study trip in Bangkok of the Committees on Sport, Culture & Public relation from the Lower House of the Republic of the Union of Myanmar.

The delegates visited NBTC & Royal Thai Army TV (Ch5) yesterday, visiting ThaiPBS & ThairathTV today. More to tell.

สรุปงาน 18 ธค. 57

เมื่อวานนี้ทางคณะกรรมาธิการด้านการกีฬา วัฒนธรรม และ สื่อสาร จากสภาล่างของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ มาเยี่ยมแลกเปลี่ยนดูงานที่ สำนักงาน กสทช.

จากนั้นช่วงบ่ายได้พาเขาไปดูงาน ททบ. 5 เพราะเขาอยากเห็นการปรับตัวของสื่อกองทัพในยุคดิจิตอล

ตัวแทน ททบ.5 ได้นำเสนองานเด่น งานหลักของตนเองในฐานะผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน (network provider) หรือ MUX ลดบทบาทตนเองในฐานะคนทำทีวีธุรกิจ

ททบ. 5 ยอมรับโดยสมัครใจ ในการลดบทบาทด้านช่องทีวี ไม่แข่งกับทีวีธุรกิจ 24 ช่อง เพราะตั้งแต่มีทีวีดิจิตอล รายได้จากโฆษณาก็ลดลง และผู้ผลิตรายการอย่างในเครือแกรมมี่ก็จะถอนผังรายการออกเพราะมีช่องฟรีทีวีเองแล้ว ทำให้ช่อง 5 ต้องปรับตัว

จากนี้จะเน้นรายได้จากการเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิตอล (MUX)
ตัวแทน ททบ.5 แจ้งว่าขอเวลากับ กสทช. 5 ปีตามแผนที่ยื่น ในการค่อยๆปรับตนเองจากช่องทีวีธุรกิจเป็นทีวีสาธารณะเพื่อความมั่นคง

ตอนนี้เข้าสู่ปีที่2แล้ว

ตัวแทน ททบ.5 ให้ความมั่นใจกับ กสทช. ว่า จะดำเนินการติดตั้งโครงข่าย 39 สถานีหลักทีวีดิจิตอล และ Gap fillers หรือเสาเสริม ให้เสร็จตามกติกาที่อยู่ในเงื่อนไขใบอนุญาต แจ้งต่อคณะดูงานจากพม่าว่า ตนเองเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิตอลรายแรก (MUX) ที่เริ่มต้นติดตั้ง gap filler แล้ว

ตัวแทน ททบ.5 บอกว่า ยินดีทำตาม กติกา กสทช. ทุกอย่าง ค่อยเป็นค่อยไปตามแผนที่ได้ยื่นมา ทั้งเรื่องปรับช่องลดธุรกิจลงและทำ MUX ให้เสร็จตามแผน

ตนเองในฐานะ กสท. ที่ค่อนข้างลงมติเข้มกับ ททบ.5 คือไม่เห็นชอบข้อเสนอมาหลายเรื่อง เพราะ ททบ.5 ปรับ เปลี่ยนเป็นทีวีสาธารณะไม่ทันใจ

แต่วันนี้ได้เห็นการปรับตัวของ ททบ.5 มากทีเดียว
อีกทั้งปฏิเสธไม่ได้ว่า ททบ.5 ในฐานะผู้ให้บริการโครงข่ายทำงานแข็งขัน เป็นหลักได้ เพราะถ้าวางโครงข่ายทีวีดิจิตอลไม่ได้ตามแผน กสทช.และทีวีดิจิตอลต้องแย่แน่ๆ

ตอนนี้ฝากความหวังหลักไว้กับ ททบ.5 และ ThaiPBS มุ่งมั่นเดินหน้าวางโครงข่ายสัญญาณภาคพื้นดินให้ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ให้สมกับราคาค่าเช่า MUX ที่ช่องดิจิตอลต้องจ่ายแพง

อีกสองรายยังมีปัญหา (อสมท. + กรมประชาสัมพันธ์) กสท. ต้องช่วยกันแก้ไขต่อ ก็ยังดีที่มี 2 รายเป็นหลักเรื่องโครงข่ายให้ได้อยู่ ไม่เช่นนั้น ทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน คงล้มไม่เป็นท่า

คนลงทุนทีวีดิจิตอลจริงๆคือ 24 ช่องที่ประมูลคลื่นมาแพงและยิน ยอมจ่ายเงินค่าเช่าโครงข่ายฯอีก ดังนั้น MUX มีหน้าที่ต้องวางโครงข่ายและดูแลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

เมื่อวานคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย (กสทช. + MUX + ช่องทีวี) ออกไปตรวจสอบคุณภาพสัญญาณโครงข่าย MUX ร่วมกันครั้งแรก ดิฉันไม่ได้ไปด้วย แต่รอ จนท. มารายงานผลในคณะทำงาน

ทีวีดิจิตอล คงเกิดยากถ้าไม่มีการลงทุนจาก 24 ช่อง ทั้งในเรื่องโครงข่ายและกล่อง ภาคเอกชนคือกำลังขับเคลื่อน หรือ driving force ส่วน กสทช. เป็นเพียงคนวาง/กำกับกติกา

ประเทศไทยไม่ว่าจะฉีกรัฐธรรมนูญกี่ใบหรือมีรัฐประหารกี่ครั้ง แต่การพัฒนาประเทศโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน ( network infrastructure ) ยังเดินหน้าต่อ ส่วนหนึ่งเพราะกำลังของภาคเอกชน (ทีมีแรงขับจากกลไกตลาดด้วย)

วันนี้คณะจากพม่าตั้งข้อสังเกตว่าประเทศไทยไม่เคยมีความแน่นอนทางการเมือง แต่เศรษฐกิจยังเดินหน้าต่อเนื่องได้ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาพรวมไม่สะดุดนาน

คนไทยในวงคุยวานนี้ตอบไปว่า เพราะเศรษฐกิจประเทศไทยขับเคลื่อนโดยภาคเอกชนเป็นหลัก ถ้านโยบายรัฐเปิด การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะไปได้ดี

อีกอย่างแม้รัฐบาลเปลี่ยน แต่นโยบายหลักไม่เปลี่ยนมาก อาทิ รัฐบาลก่อนจะสร้างรถไฟ รัฐบาลนี้ก็ยังจะสร้างต่อ เป็นต้น คือแม้เปลี่ยนผู้นำแต่นโยบายเดิม

เราต่างรู้ดีว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ คือหัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ รวมถึงโครงข่ายสื่อสารด้านทีวีภาคพื้นดินด้วย หรือกรณีคลื่นที่ใช้ทำ 4G มีการสะดุดหลังรัฐประหารที่ คสช. สั่งให้ กสทช. ชะลอ แต่วันนี้ไฟเขียวให้เตรียมตัวประมูลแล้ว คือสุดท้ายไม่อาจทัดทานอำนาจทางเศรษฐกิจได้ (แต่จะแข่งขันเป็นธรรมหรือไม่ ต้องจับตา)

จุดแข็งของประเทศไทย คือภาคเอกชนเข้มแข็ง สิ่งที่ควรเป็นคือ กติการัฐเปิดกว้าง ลด red tape หรือเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการทุจริตลดลง และต้องมีการกำกับกติกาในตลาดที่เป็นธรรมต่อการแข่งขันเสรี

แต่มุมลบก็มีคือ ถ้าเอกชนแข็งแกร่งเกินไป ก็อาจนำไปสู่การผูกขาดตลาด เอาเปรียบและขูดรีดได้ ดังนั้นหน้าที่รัฐคือการกำกับถ่วงดุลประโยชน์ของสาธารณะ+ผู้บริโภค

ขูดรีด เป็นภาษาฝ่ายซ้าย เมื่อใช้กับยุคอุตสาหกรรมก็นึกภาพออก แต่ถ้าจะมาใช้กับยุค digital economy คงต้องนั่งวิเคราะห์อีกที ว่าจะแก้ตรงจุดไหนดี

สรุป คณะ กมธ.ด้านสื่อ จากเมียนมาร์ค่อนข้างประทับใจกับการปรับตัวของช่อง 5 ในวันนี้ เขาอยากเห็นทีวีของทหารในพม่าปรับด้วยเช่นกันเพราะตอนนี้ของบ้านเขาทีวีก็ยังผูกขาดโดยรัฐและเป็นธุรกิจมากกว่าบริการสาธารณะจริงๆ

วันนี้คณะ กมธ. ของสภาล่างของเมียนมาร์จะไปเยี่ยม Thaipbs และ ไทยรัฐทีวี คงมีอะไรน่าสนใจคุยกันต่อ ไว้มาเล่าเพื่อทราบค่ะ…