Sum up by สุภิญญา วันที่ 20 ต.ค. 58

20 ตค. 58

สรุปงานวันนี้โดยย่อ เช้ามีตัวแทนกลุ่มช่องทีวีช้อปปิ้งมาขอพบ บ่ายมีประชุมอนุผู้บริโภคฯ กับ อนุดิจิตอลฯ แต่ต้องเข้าอนุผู้บริโภค

A summary of my work today: Morning meeting with reps from TV shopping association discussing abt (more) rules & its enforcement based on fair competition & consumer protection. Then I chaired a meeting of sub-Com on Media consumer protection reviewing compliants against CTH / @TrueVisions / @ipmtv & more. Tmr morning I have a meeting with stakeholders solving issues on‪#‎DigitalTV, in the afternoon, NBTC special meeting on budget wise.

More to tell.

กลุ่มผู้ประกอบการ TV shopping ที่เขารวมตัวกันเป็นสมาคมเพื่อการกำกับดูแลกันเอง สมาชิก อาทิ TV Direct มาพบวันนี้เพื่อเสนอ 2 – 3 ประเด็น ดังนี้ กลุ่ม TV shoppingรายดั้งเดิมที่ทำมานานยุคตั้งแต่สมัยช่อง 7 ทศวรรษก่อนๆ บ่นว่า ตอนนี้ทีวีมีรายการแนะนำสินค้าเกิดขึ้นมากมาย แต่โฆษณาเกินมาตรฐานไปมาก

ทางกลุ่มทีวีช้อปปิ้งรายเดิม เขาบอกว่าเขาเป็นบริษัทใหญ่ และมีมาตรฐานในการทำรายการแนะนำสินค้าที่เป็นตามกฎกติกาที่ตกลงกันสมัยกรมประชาสัมพันธ์ ทางกลุ่มสมาคมทีวีช้อปปิ้ง เขาจึงจะเสนอแนะทางที่เขากำกับดูแลตนเอง/กันเองมาให้ กสทช.พิจารณา ด้วยการส่งจดหมายมาเร็วๆนี้

การกำกับดูแลรายการประเภทแนะนำสินค้า ตอนนี้ กสทช.ใช้ตามแนวทางกรมประชาสัมพันธ์ที่วางไว้เดิม แต่มีการถกภายในกันว่าอาจต้องออกกติกาเพิ่มเติม แนวทางของกรมประชาสัมพันธ์เดิม ให้มีรายการประเภทแนะนำสินค้าทางทีวีได้ แต่จะนับเป็นเวลาโฆษณาตรงช่วงที่ขึ้นเบอร์โทรเชิญชวนให้คนดูโทรไปซื้อของ

ทุกวันนี้ทีมตรวจสอบเนื้อหาของทีวีช่องต่างๆ ก็จะต้องนับเวลาโฆษณาในรายการแนะนำสินค้าช่วงที่มีการขึ้นเบอร์โทรให้โทรไปซื้อของ ตาม กม.โฆษณาด้วย ปัจจุบันรายการประเภทแนะนำสินค้าเกิดขึ้นมากมาย ไม่เหมือนสมัยก่อนที่เราอาจคุ้นเคยแค่ “ควอนตัม” “ทีวีไดเร็ค” ที่มาใช้แอร์ไทม์ช่วงหลังเที่ยงคืน เมื่อผู้ประกอบการทีวีช้อปปิ้ง เกิดขึ้นมากมาย แต่ ยังไม่มีมาตรฐานเดียวกันในการกำกับดูแลตนเอง ก็เป็นหน้าที่ กสทช. ต้องสร้างมาตรฐานร่วม เพื่อกำกับดูแลการแข่งขันที่เป็นธรรมในอุตสาหกรรม และ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ผ่านมาอนุคุ้มครองผู้บริโภคฯ จึงได้เสนอ กสท.ให้ออกกติกาเพิ่ม รวมไปถึงแนวทางการกำกับดูแลโฆษณาแฝง ไทอิน ผู้สนับสนุนรายการ บริการธุรกิจ ที่ปัจจุบันนี้ยังมีช่องว่างทางกฎหมายที่ไม่สามารถนับเวลาโฆษณาได้หมด อนุคุ้มครองผู้บริโภคฯที่ดิฉันเป็นประธาน ได้เสนอแนวทางการกำกับโฆษณาแอบแฝงไปที่ กสท.นานแล้ว และ กสท. มอบให้อนุเนื้อหาฯ ช่วยดูด้วย

พรุ่งนี้มีประชุมอนุเนื้้อหาฯที่มีพลโทพีระพงษ์ มานะกิจเป็นประธาน ซึ่งในวาระประชุมจะมีเรื่องนี้เข้า รอดูว่าอนุเนื้อหาจะสรุปออกมาอย่างไร‪#‎โฆษณา

โดยหลักการสากล เช่นใน UK เขาไม่ได้ห้ามพวกโฆษณาแฝงหรือไทอิน แต่เขาจะมีแนวปฏิบัติ (Guidelines) ว่าทำได้แค่ไหนอย่างไร อาทิ เวลาและขนาดสินค้า สำนักงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค กสท.ได้ศึกษาแนวทางจากต่างประเทศและได้จัด workshop ระดมความเห็น จนได้ร่างแนวทางที่เสนอ กสท.ไปแล้ว แต่ยังไม่ผ่าน ถ้าผ่านจากอนุเนื้อหาและ กสท.แล้วก็ต้องไปสู่การให้สำนักกฎหมายร่างเป็นประกาศฯ ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกนานและผ่านหลายขั้นตอน ไม่ง่ายนักแต่ต้องทำ

ผู้ประกอบการทีวีโดยเฉพาะทีวีดิจิตอลคงบ่นอุบว่า หาโฆษณาก็ยากอยู่แล้ว กสทช.จะออกกฎเพิ่มอีก ก็ต้องบอกว่าเริ่มถกวันนี้ กว่าได้ใช้จริงคงเป็นปีๆ กว่าประกาศจะผ่านออกมาได้ในอนาคต ดิจิตอลทีวีส่วนใหญ่คงอยู่ตัว ผ่านช่วงตั้งไข่ไปสู่ช่วงคืนกำไรแล้ว เวลานั้นก็ต้องคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้นด้วย เพราะถ้าคนเริ่มดูทีวีดิจิตอลมากขึ้น โฆษณาก็จะวิ่งหาช่องมากขึ้นทั้งแบบตรงและแบบแฝง ถ้าภาคเอกชนไม่วางกรอบในการกำกับตนเอง รัฐก็ต้องวางให้เวลานี้ยังเป็นช่วงตั้งไข่ ช่องส่วนใหญ่ยังต้องสู้ให้อยู่รอด อันนี้เข้าใจได้ แต่ถ้าเริ่ม ‘เยอะ’ ในการโฆษณาแฝง ขายของกันแบบจงใจ รัฐก็ต้องขยับ

ถ้ากฎหมายที่มีอยู่ปัจจุบันยังมีช่องว่างไปไม่ถึงพวกแฝง เพราะตอนนี้นับเวลาโฆษณาเฉพาะตัวสปอต 6 นาที หรือ 12 นาที กสทช.ก็ต้องหาแนวทางเพิ่มเติม ทางที่ดีที่สุดเหมือนแนวทางสากลคือ องค์กรกำกับวางกติกากลางไว้ โดยหารือกับภาคอุตสาหกรรมและผู้บริโภค กำหนดจุดสมดุลย์ที่รับร่วมกันได้‪#‎โฆษณาแฝง

ส่วนกลุ่มรายการแนะนำสินค้าหรือ TV Shopping มีรายละเอียดที่แยกออกมากว่าพวกโฆษณาทั่วไป กสทช. คงต้องหาแนวทางกำกับแยกออกมาอีกแบบ วันนี้กลุ่มสมาคมด้านทีวีชอบปิ้งที่นำโดย TV Direct เขาเสนอแนวทางว่า กสทช.ควรออกใบอนุญาตแยกมาอีกประเภทให้ทุกรายที่ขายตรงในทีวีต้องมาขอแบบเฉพาะ

หมายถึงว่าใครที่จะไปทำรายการแนะนำสินค้าในช่องต่างๆ ต้องมาขออนุญาตและผ่านเงื่อนไขของ กสทช. ก่อน ไม่ใช่มาจากไหนก็ได้จ่ายเงินให้ช่อง ก็ออกได้ เพื่อเปิดทางให้ กสทช. ใช้อำนาจกำกับตรงในฐานะผู้รับใบอนุญาตได้อีกทาง เพราะทุกวันนี้กลุ่มนี้ไปขอ สคบ.ผ่าน ก็ประกอบกิจการขายตรงผ่านสื่อได้แล้ว

กติกาปัจจุบันคือ กสทช.จะขอดูใบอนุญาตขายตรงสินค้าจาก สคบ.ก่อน ถ้ามีก็จะทำช่องรายการได้แต่ก็ต้องโฆษณาตามกม.6นาทีต่อ ชม. (นับช่วงขึ้นเบอร์โทร) การแยกให้กลุ่ม TV Shopping มาขอใบอนุญาตต่างหากเฉพาะทางก็ดีในแง่การกำกับดูแลจะง่ายขึ้น ไม่ไปปะปนกับช่องทั่วไป แต่ก็ต้องถกเงื่อนไขกันก่อน

แม้กลุ่ม TV shopping อยากให้มีช่องที่ขายตรงเปิดเผยเอ่ยชื่อสินค้าเบอร์โทรขายกันได้24ชม.เหมือนในเกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น แต่ไทยเรามี กม.เวลาโฆษณา เรามี พรบ.ประกอบกิจการโทรทัศน์ฯ 2551 กำกับเวลาโฆษณา 6 นาทีในกิจการทีวีบอกรับฯผ่านเคเบิล ดาวเทียมอยู่ แม้จะออกใบอนุญาตเฉพาะก็ยังต้องนับเวลา

เมื่อกฎหมายการนับเวลาบังคับชัดเจนในกฎหมายของไทย ก็ต้องกำกับตามนั้น แม้เอกชนพยายามเลี่ยง ตีมึน ทำเนียน รัฐก็ต้องตามไปกำกับแม้เชื่องช้า เทอะทะ แนวทางสากลในประเทศพัฒนาแล้ว ภาคอุตสาหกรรมเขาถึงจริงจังมากในการกำกับตนเองก่อน เพราะโครงสร้างรัฐเทอะทะ เหมือนให้หุ่นยนต์ตัวโตวิ่งจับลูกหนู

เทรนด์ในอนาคต คาดว่ากลุ่ม TV shopping คงเร่งขยับไปทำ Home shopping ผ่านออนไลน์ โดยเฉพาะหลังมี 4G แพร่หลาย กสทช./ไอซีที ควรเตรียมเรื่องนี้ แทนที่จะเน้นไปในเรื่องความมั่นคงทางการเมืองเป็นหลัก พวกกฎหมายกำกับสื่อออนไลน์ รัฐควรเข้มข้นจริงจังในการคุ้มครองผู้บริโภคทำธุรกรรมการเงินด้วย

อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนวันนี้ที่มาพบเขาเองยังเชื่อมั่นว่า ‘โทรทัศน์’ ยังเป็นช่องทางสำคัญและมีอิทธิพลกับคนไทยอยู่ อย่างน้อยก็ใน 10 ปีข้างหน้า เพราะอิทธิพลของการโฆษณา การแนะนำสินค้า หรือ แอบแฝงโฆษณาต่างๆ ผ่านทีวี ยังส่งผลต่อการบริโภค อุปโภคของคนไทย ทุกภาคส่วนก็ต้องเคารพกติกาด้วย ถ้าไม่อยากให้รัฐซึ่งโครงสร้างเทอะทะมาควบคุมเรื่องนี้มาก ภาคเอกชนก็ต้องเริ่มต้นวางกรอบที่พอเหมาะให้สังคม ซึ่ง กสทช.ยังต้องช่วยวางกรอบนี้

รายละเอียดเพิ่มเรื่องการกำกับรายการทีวีประเภทแนะนำสินค้าและกลุ่มโฆษณาแอบแฝงทั้งหลาย ทั้งการขยับจาก กสทช.และภาคเอกชน จะมาอัพเดทต่อไปค่ะ

จะมี focus group กลุ่มย่อยเฉพาะ เรื่องนี้ในปีนี้ รวมถึงเวทีเปิดที่เชิญผู้ประกอบการ+ผู้บริโภคมาหารือ ไว้กำหนดวันแล้วจะแจ้งให้ทราบค่ะ ส่วนแนวทางหรือร่างประกาศดังกล่าวจะผ่านมติบอร์ด กสท./กสทช. หรือไม่ ก็ต้องลุ้นกันต่อไป ตัวชี้วัดคือจะมีใครนำหน้าลุกขึ้นมาค้านหรือฟ้องไหม

วันนี้ก็ขอบคุณกลุ่มสมาคมด้านTV shopping ที่มาพบและพูดจากันตรงๆ ทั้งร้องเรียนว่า กสทช.กำกับยังไม่ทั่วถึง และข้อเสนอเรื่องการออกใบอนุญาตเฉพาะ ช่วงบ่ายมีประชุมอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯตามปรกติวันอังคาร พิจารณาเรื่องร้องเรียน วันนี้มีเคส CTH/ @TrueVisions /@ipmtv เรื่องการบริการ

ช่วงนี้พบว่าเรื่องร้องเรียน TrueVisions กลับเข้ามาถี่ขึ้นหลังช่วงหนึ่งน้อยลงไป เพราะมีเคส CTH & GMMz เข้ามา ฝากทุกรายช่วยดูแลสมาชิกด้วย

เคส TrueVisions วันนี้เป็นเรื่องขอเงินคืนหลังยุติการเป็นสมาชิกและปัญหาความสับสนของกล่องไฮบริด ส่วน CTH มาจากความขัดแย้งกับเคเบิลท้องถิ่น

ผู้ร้องเป็นสมัครบริการแพคเกจกับ CTH ผ่านเคเบิลดิจิตอลโดยมีเจริญเคเบิลเป็นผู้ติดตั้งให้ แต่ต่อมาทั้งคู่ไม่ทำธุรกิจด้วยกันแล้ว ปัญหาตกกับคนดู เพราะเมื่อทั้ง 2 ฝ่ายไม่ทำธุรกิจร่วมกันแล้ว ทางCTHย้ายลูกค้าจากเคเบิลไปเป็นผ่านจานดาวเทียม ทำให้ลูกค้าดูช่องเดิมที่ดูผ่านเคเบิลท้องถิ่นไม่ได้ จริงๆเรื่องนี้ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้ง CTH และ เจริญเคเบิล แต่ผู้รับผิดชอบที่ทำสัญญากับลูกค้าก็ต้องเป็น CTH แก้ปัญหานี้

ผลกระทบจากการทำธุรกิจ/ไม่ทำธุรกิจร่วมกันของผู้รับใบอนุญาตมีต่อสมาชิก Pay TV ตามสัญญา ดังนั้น กสทช. ก็ต้องคุ้มครองผู้บริโภคด้วยจากกรณีแบบนี้ อนุผู้บริโภคมีมติเรื่องนี้ในวันนี้ เพื่อเสนอ กสท.ต่อไป รอฟังผลแล้วค่อยมาขยายความเพิ่มเติมค่ะ ยังมีอีกหลายวาระของอนุผู้บริโภควันนี้ แต่ดึกแล้ว ไว้ค่อยมาเล่าวันหลังค่ะ โดยเฉพาะเมื่อเรื่องส่งถึง กสท. ให้ลงมติสุดท้าย

พรุ่งนี้บ่ายมีประชุมบอร์ดใหญ่ กสทช. นัดพิเศษ 2-3 วาระ ว่าด้วยเรื่องงบประมาณ บางส่วนผ่าน กสท. มาแล้ว

ส่วนช่วงเช้ามีประชุมคณะทำงานแม่น้ำ 5 สาย รวมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาต่อเนื่องเรื่องคูปอง กล่อง และงานประชาสัมพันธ์ ‪#‎ดิจิตอลทีวี