สรุปงาน World Radiocommunication Conference 2015 ความเปลี่ยนแปลงต่อคลื่นความถี่ในอนาคต

สรุปงาน World Radiocommunication Conference 2015 ความเปลี่ยนแปลงต่อคลื่นความถี่ในอนาคต

https://www.blognone.com/node/77846

วันนี้(14 ก.พ. 59) กสทช. มีจัดงานพบปะบล็อกเกอร์เพื่อพูดคุยถึงงานประชุม World Radiocommunication Conference (WRC) 2015 เมื่อปลายปีที่แล้ว และนำเนื้อหาที่น่าสนใจรวมถึงความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในการจัดสรรคลื่นความถี่ในอนาคต ตั้งแต่แนวทางการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อการใช้งานประเภทใหม่ๆ การจัดสรรคลื่นความถี่เพิ่มเติมสำหรับบริการที่ได้รับความนิยมสูงอย่างโทรศัพท์มือถือ

WRC เป็นงานประชุมประมาณ 3-4 ปีครั้งของชาติสมาชิก ITU และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (เช่นหัวเหว่ยก็ไปร่วมประชุมเพื่อระบุว่าโทรศัพท์มือถือจำเป็นต้องใช้หลายย่านความถี่) เพื่อปรับเอกสาร Radio Regulations ของ ITU ที่ชาติสมาชิกของ ITU มีพันธะต้องทำตามเอกสารฉบับนี้ แต่ในความเป็นจริงข้อตกลงแต่ละข้อที่ชาติสมาชิกทำตามไม่ได้ก็มักจะแจ้งสงวนไว้ว่าทำตามไม่ได้ เช่นไทยเองก็มีข้อสงวนจำนวนมากจากการใช้งานคลื่นความถี่ที่ต่างจากชาติอื่นๆ ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น มีการใช้งานโทรศัพท์อนาล็อกรุ่นเก่าบนคลื่นความถี่ที่ใช้งานสำหรับคลื่นโทรทัศน์

การประชุม WRC-15 มีข้อเสนอการเปลี่ยนแปลง 81 ประเด็น ทุกประเด็นเป็นการเสนอล่วงหน้านานหลายปี และแต่ละชาติก็กลับไปศึกษาเพื่อแสดงท่าทีในประเด็นต่างๆ สำหรับไทยเองก็มีการแสดงท่าทีใน 55 ประเด็น เป็นข้อเสนอของไทยเอง 5 ข้อเสนอ ร่วมกับกลุ่มชาติเอเชียแปซิฟิก 20 ข้อเสนอ และร่วมกับชาติอื่นๆ อีก 4 ข้อเสนอ

ข้อเสนอเหล่านี้เป็นการวางคลื่นความถี่เพื่อการใช้งานในอนาคต ตัวอย่างที่มีผลกระทบกับเราทุกวันนี้แล้วคือคลื่น 3G 2100 หรือ IMT-2000 เสนอไว้ในงาน WARC (ชื่อเดิม) ตั้งแต่ปี 1992 และรับรองความเปลี่ยนแปลงในการประชุม WRC-97 ทำให้ทุกวันนี้คลื่นย่าน 2100 ใช้งานกับโทรศัพท์ 3G ตรงกันแทบทุกชาติในโลก (กว่าไทยจะประมูล 3G คือปี 2012 หลังข้อเสนอ 20 ปี) เมื่อข้อเสนอเหล่านี้ผ่านการประชุม WRC ชาติสมาชิกก็ต้องไปจัดสรรคลื่นความถี่เสียใหม่ซึ่งปกติใช้เวลานานหลายปีเพื่อรอให้บริการที่ใช้คลื่นอยู่เดิมหยุดใช้หรือย้ายไปใช้งานคลื่นอื่น แล้วจึงจัดสรรความถี่เสียใหม่เป็นบริการที่ตรงกับเอกสาร Radio Regulations นี้ เมื่อถึงจุดหนึ่งทุกชาติก็จะใช้งานคลื่นความถี่ที่ตรงกัน

ความเปลี่ยนแปลงที่กสทช. ที่ไปร่วมประชุมนำมาเล่าให้ฟัง จึงเป็นความเปลี่ยนแปลงในอนาคต (ที่หวังว่าจะไม่นานเกินไป)

upic.me

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญสำหรับสมาชิก Blognone คือ คลื่นโทรศัพท์มือถือในอนาคต มีความพยายามขยายคลื่นเหล่านี้ออกไป ความเปลี่ยนแปลงที่กระทบกับเราคือคลื่นย่าน 698-790 MHz นั้นไทยระบุว่ากำลังจะนำคลื่นย่านนี้ไปใช้กับโทรศัพท์มือถือแล้วหลังจากที่มีการจัดสรรคลื่นความถี่ให้กับทีวีดิจิตอลเสียใหม่ และข้อตกลงร่วมกันทั่วโลกคือจะมีคลื่นย่าน L-Band (1427-1518 MHz) เป็นคลื่นสากลสำหรับโทรศัพท์ยุคต่อไป ในอนาคตเราคงได้เห็นโทรศัพท์มือถือคลื่น 1500 กันในตลาด

upic.me

ประเด็นคลื่น 698-790 MHz ไปใช้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจะเป็นประเด็นใหญ่สำหรับไทย เพราะจำเป็นต้องจัดสรรคลื่นความถี่เสียใหม่ เพราะการวางแผนเดิมวางแผนไว้ว่าจะใช้งาน 6 Mux บนช่องสัญญาณ UHF ช่อง 26-60 หากนำคลื่นย่าน 698-790 MHz ไปใช้งานสำหรับโทรศัพท์มือถือก็ต้องเสียช่อง 49-60 ไป และต้องมีการวางแผนคลื่นความถี่เสียใหม่ แนวทางคือจะนำคลื่นช่อง 21-25 (ย่าน 470-510 MHz) มาใช้งานสำหรับโทรทัศน์ ตอนนี้คลื่นยังถือครองโดย TOT และผู้รับใบอนุญาตรายอื่นๆ อยู่ก็น่าสนใจว่ากสทช. จะสามารถนำกลับมาได้หรือไม่

ข่าวร้ายสำหรับคนไอที (โดยเฉพาะคนที่อยู่คอนโดที่เป็นสลัมคลื่นความถี่) คือข้อตกลงการขยายคลื่น Wi-Fi ในย่าน 5 GHz นั้นไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมีการใช้งานอยู่ในหลายชาติและอาจจะทำให้คลื่นกวนกัน

upic.me

ข้อเสนอสำหรับรอบต่อไปคือ WRC-19 จะมีการพูดถึงคลื่นความถี่สำหรับบริการใหม่ๆ ได้แก่ การขยายคลื่นความถี่ Wi-Fi ย่าน 5 GHz อีกครั้ง, การใช้โทรศัพท์มือถือบนคลื่นที่สูงกว่า 6 GHz, การจัดสรรคลื่นสำหรับบริการบรอดแบนด์จากบอลลูนและโดรน (งานนี้กูเกิลน่าจะเป็นคนผลักดันจากโครงการ Loon และ Titan Aerospace), การกำหนดคลื่นความถี่สำหรับ IoT โดยเฉพาะ หลังจากอุตสาหกรรมเริ่มเสนอแนวทางการสร้างเครือข่ายกันมากขึ้น เช่น NB-LTE, และความถี่สำหรับการชาร์จไฟสำหรับรถไฟฟ้า

แนวทางเหล่านี้ยังคงเป็นแนวทางในอนาคตที่เราจะได้เห็นกัน เราอาจจะต้องติดตามกันต่อไปว่ากสทช. จะนำคลื่น 700 มาให้บริการโทรศัพท์มือถือได้จริงหรือไม่ คลื่น 1500 จะเป็นจะคลื่นสากลสำหรับโทรศัพท์ยุคต่อไปสำเร็จหรือเปล่าเพราะวันนี้ก็ยังไม่มีการใช้งานเป็นวงกว้างนัก และการต่อสู้เพื่อคลื่น Wi-Fi จะสามารถขยายช่องสัญญาณได้สำเร็จหรือไม่

ขอบคุณ กสทช. สุภิญญา กลางณรงค์, พล.อ.ต.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช., คุณเสน่ห์ สายวงศ์ ผอ.สำนักบริหารคลื่นความถี่, และคุณสุภัทรสิทธิ์ สวนสุข สำนักวิศวกร และทีมงานจัดงานที่เชิญ Blognone ไปร่วมงานและมาบรรยายในงานครั้งนี้ครับ