จับตา กสท. คาดโทษ CTH/GMM B จี้แผนเยียวยา ก่อนพักใช้ใบอนุญาต

จับตา กสท. คาดโทษ CTH/GMM B จี้แผนเยียวยา ก่อนพักใช้ใบอนุญาต
ถก PSI ยื้อปรับแก้เทคนิคคมชัดให้แข่งขันเป็นธรรม / อสมท. ขอยกเลิกสัญญาเช่าโครงข่ายดิจิตอลทีวี หลังไม่จ่ายหนี้

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ครั้งที่ 30/2559 วันจันทร์ที่  5 กันยายน นี้ มีวาระการประชุมน่าจับตาที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกการให้บริการดาวเทียมไทยคม Ku-Band ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา ของบริษัท ซีทีเอช เคเบิล ทีวี จำกัด ก่อนหน้านี้ กสท. ได้มีมติไม่เห็นชอบมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการตามที่บริษัทซีทีเอชฯเสนอ และได้มอบหมายให้ สำนักงาน กสทช. มีคำสั่งทางปกครองให้บริษัทฯ จัดทำแผนมาตรการเยียวยาผู้บริโภคเพิ่มเติมให้ครอบคลุมการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอาเปรียบ ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวจะใช้มาตรการทางปกครองต่อไป ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าจากบริษัทซีทีเอช สำนักงานจึงได้เสนอ บอร์ด กสท. พิจารณาไม่อนุญาตให้บริษัท ขยายระยะเวลาการนำส่งแผนเยียวยาผู้บริโภคกลุ่มที่ได้รับผลกระทบผ่านดาวเทียม Ku-Band พร้อมทั้งเสนอให้มีคำสั่งทางปกครองปรับวันละ 20,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค. เป็นต้นไป จนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งให้แล้วเสร็จ และหากยังคงฝ่าฝืนต่อไปหรือไม่ปฏิบัติตามจะมีการดำเนินการมาตรการทางปกครองสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป

นอกจากนี้ กสท. เตรียมมีคำสั่งปรับทางปกครองต่อบริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด ภายใต้การบริหารของบริษัทซีทีเอชฯ อีกวันละ 20,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค. 59 และจะดำเนินมาตรการทางปกครองสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป กรณีที่บริษัทจีเอ็มเอ็ม บีฯ ได้มีพฤติการณ์เพิกเฉย ไม่ได้ดำเนินการเยียวยาผู้ใช้บริการตามที่บริษัทเสนอ และตามที่ประกาศ กสทช.กำหนด ทำให้มีผู้ใช้บริการจำนวนมากยังไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาจากการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการให้บริการโดยยุติการให้บริการช่องรายการกลุ่ม Z Pay TV ซึ่งแม้ว่า กสท.จะพิจารณาเห็นชอบแผนเยียวยาของบริษัทก่อนหน้านี้แล้ว แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ใช้บริการหลายรายยังไม่ได้รับกล่องดาวเทียมระบบ Ku-Band รวมทั้ง ต่อมา บริษัทซีทีเอชฯ มีแผนยุติการให้บริการหรือยกเลิกการประกอบการโครงข่ายฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. มีผลให้ไม่สามารถรับชมผ่านกล่องดาวเทียมได้อีกต่อไป รวมทั้งบริษัทไม่ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯและไม่ได้มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงมายังสำนักงาน กสทช. ภายในระยะเวลาที่กำหนด

“ดูจุดจบแล้ว ถ้าทาง CTH ไม่เสนอแผนเยียวยาสมาชิกให้ กสท.พิจารณา โดยที่ยุติบริการปล่อยให้จอดำ นอกจากจะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งแล้ว ส่วนตัวคิดว่าเป็นการกระทำที่เอาเปรียบผู้บริโภคตามประกาศของ กสทช. ดังนั้น กสท. ควรมีมาตรการลงโทษขั้นสูงสุดทั้งการปรับและการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ ซึ่งจะทำให้สิ้นสภาพการประกอบกิจการและถูกขึ้นบัญชีดำ ห้ามการขอใบอนุญาตอีก   แต่ผลกระทบก็คือการบริการจะยุติ ผู้บริโภคก็ยังไม่ได้รับการชดเชยเยียวยา ทางเลือกสุดท้ายคือทาง กสทช. ก็ต้องร่วมมือกับ สคบ. ให้มีการฟ้องร้องต่อศาลเพื่อความเป็นธรรมต่อไป ระหว่างนี้ขอให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการจอดับหมดเมื่อ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา แจ้งมาที่ กสทช. Call center 1200 ด้วย เพื่อทาง กสทช. จะได้ติดตามแก้ปัญหาให้ต่อไป” สุภิญญา กล่าว

นางสาวสุภิญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือขอหารือการขอบอกเลิกสัญญาการเช่าใช้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ ประเภทใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล(MUX) ระหว่าง อสมท กับ ผู้ใช้บริการโครงข่ายที่เป็นช่องทีวีดิจิตอล ที่ยังไม่ได้ชำระค่าบริการให้เป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาตั้งแต่เดือน ก.ค. 57 เป็นต้นมา จะถือเป็นการขัดกับแนวทางของ มติ กสท.ครั้งที่ 7/59 วันที่ 23 ก.พ. 59 หรือไม่ ที่มีสาระสำคัญว่า อสมท จะสามารถยกเลิกการให้บริการโครงข่ายแก่ผู้ใช้บริการได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจาก กสท.และปฏิบัติตามมาตรการเยียวยาผลกระทบภายหลังการบอกเลิกการให้บริการตามที่ กสท.กำหนด รวมทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบระหว่าง อสมท กับผู้ใช้บริการ ย่อมเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าใช้บริการ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นถือเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชนซึ่งอยู่ภายใต้บริบทกฎหมายเอกชนที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ มีวาระบริษัทพีเอสไอขอให้ทบทวนคำสั่งทางปกครอง กรณีการออกอากาศช่องเวิร์คพ้อยท์ ที่มีลักษณะเอื้อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขัน ในลักษณะการเปลี่ยนแปลง ทำซ้ำ ดัดแปลง ผังรายการ เนื้อหารายการ หรือมาตรฐานความคมชัด ตามประกาศ กสทช.ที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องแก้ไขปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หากฝ่าฝืนจะถูกปรับวันละ 20,000 บาทตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน ทั้งนี้ บริษัทฯได้แจ้งว่า พร้อมที่จะแก้ไขปรับปรุงตามที่ กสทช.ได้พิจารณาให้ความอนุเคราะห์อีกครั้ง และขอขยายระยะเวลาการดำเนินการจากเดิม 30 วัน เป็น 90 วันเนื่องจากมีผลกระทบหลายส่วน ทั้งในเรื่องสัญญา ลูกค้า และอุปกรณ์เทคนิค เป็นต้น

วาระอื่นๆ ได้แก่ การพิจารณาเห็นชอบประกาศสำนักงาน กสทช. เรื่องการยื่นคำร้องขอเปลี่ยนแปลงประเภทการทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วาระการพิจารณาอนุญาตหน่วยงานจัดอบรมหลักสูตรผู้ประกาศในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ วาระเพื่อทราบสถิติการอนุญาตให้ดำเนินการปรับปรุงซอฟต์แวร์ให้เป็นปัจจุบัน(System Software Update) สำหรับเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิตอล และวาระขอความร่วมมือผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ เคเบิลทีวี ดาวเทียม วิทยุกระจายเสียง และวิทยุชุมชน ดำเนินการเผยแพร่วีดิทัศน์ของส่วนราชการ วีดิทัศน์จากการประชุมคณะรัฐมนตรี และวีดิทัศน์ที่กรมประชาสัมพันธ์ผลิตอย่างต่อเนื่องต่อไป ติดตามผลการประชุมทั้งหมดในวันจันทร์นี้….