ความเห็นเพิ่มเติม : การสนับสนุนให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อย่างทั่วถึง

ในการประชุม กสท. ครั้งที่ 38/59 วันจันทร์ที่ 7 พ.ย. 59 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ได้ตั้งข้อสังเกตและขอเปิดเผยความเห็นในการพิจารณาวาระที่ 4.23 การสนับสนุนให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อย่างทั่วถึง เพื่อบันทึกไว้ในรายงานการประชุม โดยมีรายละเอียดและเหตุผลประกอบ ดังนี้

  1. ดิฉันเห็นชอบในหลักการที่จะดำเนินการสนับสนุนให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้แผนการเปลี่ยนระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอล ซึ่ง กสท. ควรดำเนินนโยบายสนับสนุนให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งนี้ ในการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ครั้งที่ 3/2559 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 คณะทำงานชุดดังกล่าวซึ่งมีองค์ประกอบจากผู้แทนของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลได้จัดทำข้อเสนอว่า กสทช. ควรดำเนินการตามกฎ Must Carry ต่อไปจนกระทั่งการขยายโครงข่ายครอบคลุมแล้วและไม่ควรให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการหรือผู้ได้รับอนุญาตให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล พิจารณายกเลิกและมีการศึกษาผลกระทบเพื่อรอบคอบอีกครั้ง ดิฉันเห็นว่า ข้อเสนอดังกล่าว กสท.ควรนำมาพิจารณาความเป็นไปได้ในมิติต่างๆ รวมทั้งการพิจารณาถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ดิฉันยังเห็นว่ามีความจำเป็นต้องกำหนดมาตรการเพิ่มเติมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น กลไกการสำรวจความนิยมหรือการวัดระดับความนิยมของผู้ชมโทรทัศน์ที่มีความเป็นกลางและน่าเชื่อถือเพื่อให้อุตสาหกรรมใช้อ้างอิงเพื่อแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม การเร่งรัดประชาสัมพันธ์เพื่อขยายความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทีวีดิจิตอลให้กับประชาชน  ในพื้นที่ต่างๆ อย่างทั่วถึงโดยมีรูปแบบเหมาะสมสอดคล้องกับประชาชนแต่ละกลุ่ม  การแจกคูปองอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมครอบคลุมทุกกลุ่มรวมทั้งผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการกำกับอัตราค่าเช่าโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในลักษณะที่สนับสนุนให้อุตสาหกรรมโดยรวมสามารถดำเนินไปได้

  1. ดิฉันมีข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อมูลข้อเท็จจริงที่นำมาวิเคราะห์เพื่อประกอบการจัดทำข้อเสนอ วาระการสนับสนุนให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อย่างทั่วถึง เนื่องจากเห็นว่าการอ้างถึงข้อมูลการรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลของประชาชนนั้นไม่เป็นปัจจุบัน ประกอบกับมีสาระที่ขัดแย้งกัน กล่าวคือ กรณีที่ระบุว่าในปี 2555 ประชาชนส่วนใหญ่รับชมรายการโทรทัศน์ผ่านช่องทางบริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ประมาณร้อยละ 64 ขณะที่ในปี 2558 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ออกอากาศทีวีดิจิตอลแล้วกลับพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วครัวเรือนทั่วประเทศรับชมรายการโทรทัศน์ผ่านช่องทางบริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ร้อยละ 76 ประกอบกับในการประชุม กสท. ครั้งที่ 30/2559 เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2559 สำนักงาน กสทช. โดยสำนักการพัสดุและบริหารทรัพย์สิน (พย.) ได้รายงานผลการแจกคูปองเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิตอลทีวีและแนวทางแก้ไขปัญหาและอุปสรรค โดยระบุว่าได้ดำเนินการตรวจสอบคูปองที่ประชาชนนำไปแลกซื้อกล่องรับสัญญาณในโครงการฯ รวมแล้วทั้งสิ้น 8,300,000 กว่าฉบับ ซึ่งดิฉันเห็นว่า แม้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ครบ 22 ล้านครัวเรือนตามเป้าหมายเนื่องจากมีปัญหาอุปสรรคในขั้นตอนการแจกคูปองเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีดิจิตอล แต่คาดว่าประชาชนจะสามารถรับชมรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลผ่านโครงข่ายภาคพื้นดินได้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 37 สำนักงานจึงควรตรวจสอบหรือแสดงข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ที่มีน้ำหนักและไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อการใช้ดุลพินิจประกอบการตัดสินใจดำเนินนโยบายนี้
  2. นอกจากนี้ดิฉันยังเห็นว่าโครงการนี้ควรครอบคลุมทั้งผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ที่ให้บริการแก่ผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกหรือผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองทุกประเภท โดยเฉพาะผู้ประกอบการเคเบิลทีวี เนื่องจากถือเป็นกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่ที่ประชาชนใช้บริการและผู้ได้รับอนุญาตประกอบการเคเบิลทีวีเองก็มีหน้าที่ต่อสมาชิกตามที่ประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป ได้กำหนดไว้เช่นเดียวกับผู้ประกอบการทีวีดาวเทียม

Download (Comment-NBC-38-59.pdf,PDF, Unknown)