เราไม่มีรายการโทรทัศน์แบบ“มองต่างมุม”ดีเบทเจาะลึกกันในเรื่องการเมืองการปกครองมาเป็นปีๆแล้ว จะให้ทุกช่องเสนอแต่ข่าวอาชญากรรม คงไม่สมดุล

8 ก.พ. 60
Q&A on Twitter on the censorship case against Voice TV again by NBTC which I disagreed, plus my personal comment on the related issues esp political stand on Rule of law & fairness for licensees, as repeated always in other cases. Follow more on www.twitter.com/supinya

สรุปการตอบคำถามผู้คนทางทวิตเตอร์ต่อกรณีการแบนรายการช่อง Voice TV อีกครั้ง ซึ่งเราก็ไม่เห็นด้วย ท่ามกลางบรรยากาศตึงเครียดควบคุมในเรื่องการเมือง และ เสรีภาพสื่อในการตรวจสอบผู้มีอำนาจรัฐที่มากขึ้น การตัดสินเรื่องเนื้อหาว่าอะไรผิดหรือถูกเป็นเรื่องการใช้ดุลยพินิจของ กสทช.อยู่แล้ว แต่ไม่ได้มีเกณฑ์ที่ชัดเจนเหมือนเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค การตัดสินว่าอะไรคือความจริง ความเท็จสุดท้ายเป็นอำนาจศาล ซึ่งต้องให้แต่ละฝ่ายได้นำข้อมูล ข้อเท็จจริงมาโต้แย้งกันจนถึงที่สุดตามหลักนิติธรรม ส่วนเรื่องการแสดง ‘ความคิดเห็น’ เชียร์หรือค้าน ชอบหรือชัง เป็นสิทธิมนุษยชน ตราบเท่าที่ไม่กระทบสังคม (ความมั่นคง-ศีลธรรม) ซึ่งเป็นดุลยพินิจเช่นกัน

บอร์ด กสทช.มีอำนาจในการใช้ดุลยพินิจตาม กม. โดยที่เอกชนไปฟ้องศาลฐานใช้ดุลยพินิจผิดได้ แต่ในเคสการเมือง เขาฟ้อง กสทช.ไม่ได้ เพราะมี ม.44 คุ้มครอง กสทช.อยู่ ถ้าตัดสินตามฐานความผิดของ กสทช.เอง เช่น ม.37 เอกชนฟ้องได้ แต่ถ้าตัดสินตามประกาศ คสช.จะฟ้องการใช้อำนาจไม่ได้ ดิฉันจึงไม่เห็นด้วยตรงจุดนี้ การที่ผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจ กสทช. ไม่สามารถจะตรวจสอบถ่วงดุลเช่นการฟ้องผู้ใช้อำนาจได้ ดิฉันเห็นว่าขัดหลักนิติธรรม (Rule of Law) เมื่อเราใช้อำนาจ เราควรพร้อมถูกตรวจสอบได้ เช่นเดียวกัน เมื่อเราควรใช้อำนาจแต่กลับไม่ใช้ เราก็ควรโดนตรวจสอบได้ตามหลักกฎหมาย #กสทช. ที่ผ่านมามีโทรทัศน์หลายช่องโดนร้องเรียนเรื่องการนำเสนอข่าว ส่วนใหญ่ กสท.เห็นว่ายังไม่ล้ำเส้นกฎหมาย แต่มี @Voice_TV ที่โดนแบนรายการเป็นระยะ (ทั้งที่ กสทช. ไม่มีอำนาจตามปรกติในการแบนรายการ แต่กรณีนี้ใช้อำนาจตามประกาศ คสช. ที่มีมาตรา 44 รองรับ) การใช้ดุลยพินิจเป็นเรื่องไม่ง่าย ดิฉันจะอิงจากดุลยพินิจของอนุกรรมการที่เป็นสายวิชาการสื่อ ซึ่งเคส @Voice_TV รอบนี้ ท่านบอกว่ายังไม่ถึงขั้นผิด

ทั้งนี้จุดยืนส่วนตัวของดิฉัน เปิดกว้างต่อการใช้เสรีภาพสื่อในการวิจารณ์ผู้มีอำนาจรัฐในทางการเมืองอยู่แล้ว ในกรอบแบบไม่ล้ำเส้นยั่วยุ ปลุกปั่น รวมถึงทุกช่อง เช่นเคส NationTV / AmarinTV ก่อนหน้านี้ ที่โดนร้องเรียนเนื้อหาเชิงกระทบอำนาจรัฐเข้ามา แต่ถ้าเป็นเรื่องความรุนแรง การละเมิดเด็ก ผู้ตกเป็นข่าว แนวละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดิฉันมีแนวโน้มจะใช้ดุลยพินิจลงโทษสื่อ แต่ก็ตามกระบวนการปรกติ เช่นการปรับ ไม่ใช่แบนรายการ ในภาวะปัจจุบันรัฐคุมสภาพ “สื่อโทรทัศน์” ได้เกือบเบ็ดเสร็จอยู่แล้วในมิติการเมืองการปกครอง ควรจะผ่อนคลายลง เปิดกว้าง รับฟัง โต้แย้งด้วยหลักการและเหตุผล การไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารจะได้สมดุลขึ้นบ้าง

เราไม่มีรายการโทรทัศน์แบบ “มองต่างมุม” ดีเบทเจาะลึกกันในเรื่องการเมืองการปกครองมาเป็นปีๆแล้ว จะให้ทุกช่องเสนอแต่ข่าวอาชญากรรม คงไม่สมดุล แน่นอนถ้ากลับสู่ระบบรัฐสภา ช่องแบบ @Voice_TV คงต้องถูกจับตา กำกับเข้มขึ้น ซึ่ง กสทช./กกต. ก็ต้องวางเกณฑ์กำกับความเป็นกลางทางการเมืองไม่ให้เอื้อพรรคใดเป็นพิเศษ แต่ตอนนี้ประเทศไทยไม่มีระบบรัฐสภา อีกทั้งมี ม.44 ที่ใช้สิทธิ์ตรวจสอบทางศาลไม่ได้ ก็เหลือแต่สื่อมวลชนที่จะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร ถ้าเราไม่ส่งเสริมให้มีกลไกตรวจสอบฝ่ายบริหารเลย แล้วเราจะอยู่ในสังคมที่มีความสมดุลไม่เอียงข้างอำนาจ ได้อย่างไร เราไม่ใช่สังคม Totalitarian (หรือใช่) ถ้าสื่อโทรทัศน์ไม่ทำหน้าที่ตั้งคำถาม ตรวจสอบผู้มีอำนาจ เราจะมีแต่สื่อที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐ และ สื่อบันเทิงใจ วาไรตี้ สายลมแสงแดดไปวันๆ ช่องข่าวฟรีทีวีดิจิตอลส่วนใหญ่ตอนนี้ เล่นข่าวอาชญากรรมเป็นหลัก จะเปิดดูแนววิเคราะห์เจาะลึกการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ก็หายากมาก เศร้าแต่เข้าใจ เวลาผ่านไปข้ามคืนอีกแล้ว ยังไม่ได้สรุปงานวันนี้เพื่อทราบ ขอยกยอดไปรวมสรุปวันพรุ่งนี้ต่อนะคะ รวมประเด็นอื่นๆที่ค้างมาด้วย…