“สุภิญญา”ชูภาระกิจคุ้มครองผู้บริโภค สร้างกลไกรับเรื่องร้องเรียน ทำงานเชิงรุกรับทีวีดิจิตอล

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ในปีหน้า  อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ จะต้องทำงานอย่างเข้มข้นขึ้น เพราะจะมีธุรกิจเคเบิล และทีวีดาวเทียมได้รับใบอนุญาตดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพิ่มขึ้น รวมทั้งการเกิดขึ้นของ ทีวีดิจิตอล ดังนั้น อนุกรรมการต้องสร้างกลไกการรับเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้ผลในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม และต้องเร่งสร้างความรู้เท่าทันสื่อผ่านเครือข่ายผู้บริโภค

พร้อมกันนี้จะต้องสร้างเครือข่าย “นักร้อง(เรียน)ในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์” เพื่อเป็นตัวแทนของประชาชนในการรับเรื่องร้องเรียน ซึ่งมีจำนวนเครือข่ายอยู่ประมาณ 100-150 คน ที่พร้อมประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประสานงานกับสำนักงานกสทช. ที่ต้องพัฒนากลไกการทำงานร่วมกันทั้งภาคประชาสังคม หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งแก้ไขปัญหาทั้งในรายกรณี และผลักดันสู่การแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้าง

ทั้งนี้ การทำงานของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในปี 2556 ได้มีการวางกรอบไว้ 3 ด้าน คือ 1.การสร้างกระบวนการรู้เท่าทันสื่อ โดยดำเนินการสร้างโครงสร้างหลักสูตรรู้เท่าทันสื่อ ในเบื้องต้น 2 ประเด็น คือ รู้เท่าทันละคร และรู้เท่าทันโฆษณา โดยเตรียมขอเข้าหารือกับ กระทรวงศึกษาการในต้นปีหน้า   ซึ่งจะเป็นการช่วยให้มีการเฝ้าระวังในการรับรู้ข่าวสารมากยิ่งขึ้น 2.ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอาหารและยา ที่โฆษณาโอ้อวดเกินจริง โดยการร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ (อย.)

ในขณะที่ กสท.เปิดให้ผู้ประกอบการเคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม และวิทยุชุมชน เข้าสู่กระบวนการใบอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยคาดว่าจะออกใบอนุญาต ประมาณเดือนมกราคม2556  ดังนั้น กรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์(กสท.) จึงต้องเข้ามากำกับดูแลอย่างเต็มที่ เนื่องจาก กสท.มีฐานข้อมูลของผู้ประกอบการช่องรายการทั้งหมดจากการเข้ามารับขอใบอนุญาต ประกอบกิจการ และ3.สนับสนุนการให้บริการกลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มผู้พิการ  ที่ได้รับความร่วมมือกับผู้ประกอบการทีวี อาทิ สถานีวิทยุกองทัพบกช่อง 7 เพิ่มภาษามือในหน้าจอโทรทัศน์ เพื่อให้บริการผู้พิการในปี 2556

น.ส.สุภิญญา ยังกล่าวถึงสถิติการรับเรื่องร้องเรียนในกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์(บรอดแคส) ในปี 2555 ที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนรวม 437 เรื่อง ยุติแล้ว 361 เรื่อง คิดเป็น 82.60%  และเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ 76 เรื่อง หรือคิดเป็น 17.40% เรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นเรื่องทรูวิชั่นส์ ในกรณี “จอดำ” นอกจากนี้ยังเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการโฆษณาเกินจริง และการโฆษณาผิดกฎหมาย

ด้าน ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.เตรียมรับมือกับการขยายตัวของเคเบิล ทีวีดาวเทียม และทีวีดิจิตอล ในหลายระดับ ตั้งแต่การปรับปรุง พ.ร.บ.อาหาร ยา และเครื่องสำอาง โดยเพิ่มโทษปรับความผิดด้านโฆษณา จาก 5,000 บาท เป็นหลักแสนบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ คณะกรรมการกฤษฎีกาขั้นสุดท้าย ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ คณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป

นอกจากนี้ จะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กสทช. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ทั้งในเรื่องของการรับเรื่องร้องเรียน ผ่านคอลล์ เซ็นเตอร์ 1556 ของอย. และ 1200 ของกสทช. รวมไปถึงการจัดทำฐานข้อมูลในพิจารณากระบวนการโฆษณาร่วมกัน เพื่อเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบ รับเรื่องร้องเรียนต่อไป

 

ข้อมูลข่าวจาก  แนวหน้า