รวมความเห็น “ทางเลือกการคุ้มครองผู้บริโภคเมื่อสัญญาสัมปทานบริการมือถือสิ้นสุด”

 “ทางเลือกการคุ้มครองผู้บริโภคเมื่อสัญญาสัมปทานบริการมือถือสิ้นสุด”

——————————-

                   ในวันที่ 15 กันยายน 2556 นี้ อายุสัญญาให้ดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า DIGITAL PCN (Personal Communication Network) 1800 ที่บริษัท ทรู มูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด ได้รับสัมปทานจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กำลังจะสิ้นสุดลง ซึ่งหมายความว่านับตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2556 เป็นต้นไป บริษัททั้งสองไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 1800 MHz อีกต่อไป

เนื่องจากในระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งผู้ให้บริการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการทราบเรื่องการสิ้นสุดของอายุสัญญาสัมปทานอย่างจริงจัง และระบบการโอนย้ายเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ใช้บริการหรือบริการคงสิทธิเลขหมาย (Mobile Number Portability-MNP) มีข้อจำกัด ไม่สามารถรองรับการโอนย้ายในปริมาณที่มากได้ จนถึงปัจจุบันจึงเป็นที่คาดว่ายังคงมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ บจ. ทรู มูฟ มากกว่า16 ล้านเลขหมาย ส่วนผู้ใช้บริการของ บจ. ดิจิตอล โฟน มีประมาณ 80,000 เลขหมาย ดังนั้นหากการให้บริการของทั้งสองบริษัทจะต้องยุติลงจริงๆ ภายในกำหนดระยะเวลาที่สัญญาสัมปทานสิ้นสุด จึงน่าจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก

เพื่อหลีกเลี่ยงความโกลาหลจากปัญหาดังกล่าวและลดผลกระทบต่างๆ ที่จะติดตามมา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) จึงมีแนวคิดที่จะดำเนินมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคจากกรณีดังกล่าว โดยการร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ…. ขึ้น โดยประกาศดังกล่าวมีข้อกำหนดหลักคือ เมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงแล้ว และในระหว่างที่ กสทช. ยังไม่ได้จัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าวใหม่ ให้ผู้ให้บริการมีหน้าที่ให้บริการต่อไปเป็นการชั่วคราว เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการให้สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง และมีระยะเวลาเพิ่มในการโอนย้ายไปสู่ผู้รับใบอนุญาตที่ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ โดยในระหว่างระยะเวลาความคุ้มครองดังกล่าว ผู้ให้บริการจะไม่มีสิทธิรับผู้ใช้บริการรายใหม่ และต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการทราบเรื่องเวลาสิ้นสุดการคุ้มครอง ตลอดจนเร่งรัดการโอนย้ายผู้ใช้บริการ

อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวของ กสทช. มีประเด็นท้าทายเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย ทั้งในมิติของฐานอำนาจในการออกข้อกำหนดดังกล่าว และมิติที่ว่าข้อกำหนดดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายเพียงใด เนื่องจากตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 บัญญัติไว้ว่า การจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อใช้ในกิจการโทรคมนาคมจะต้องดำเนินการโดยวิธีการประมูลเท่านั้น ประกอบกับแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ไม่ได้กำหนดให้ กสทช. สามารถพิจารณาขยายระยะเวลาการใช้งานคลื่นความถี่ได้ ดังนั้น เมื่อระยะเวลาการใช้งานคลื่นความถี่ของ บมจ. กสท โทรคมนาคม สิ้นสุดลง กสทช. จึงไม่อาจพิจารณามอบหมายให้มีผู้รับผิดชอบให้บริการเป็นการชั่วคราวโดยไม่ได้ดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ตามได้

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน กสทช. อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศดังกล่าว โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน ที่ผ่านมา และมีกำหนดจัดการรับฟังในวันที่ 25 กรกฎาคม ณ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี กรุงเทพฯ

เพื่อให้การรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวเป็นไปอย่างเปิดเผย โปร่งใส และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ อย่างแท้จริง รวมทั้งเพื่อให้เกิดการขบคิดถึงในมิติที่กว้างขึ้น ว่า เพื่อบรรลุในจุดประสงค์เดียวกัน ยังมีทางเลือกอื่นใดหรือไม่สำหรับที่จะรองรับเรื่องการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานและการยุติบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในครั้งนี้ โดยเฉพาะภายในระยะเวลาที่เหลืออยู่น้อยมากแล้ว

ด้วยเหตุนี้ ส่วนงานเลขานุการ กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ร่วมกับส่วนงานเลขานุการ กสทช. สุภิญญา กลางณรงค์ ในฐานะ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จึงได้กำหนดจัดเวทีเสวนาสาธารณะ NBTC Public Forum ครั้งที่ 3 ประจำปี 2556 ในหัวข้อ “ทางเลือกการคุ้มครองผู้บริโภคเมื่อสัญญาสัมปทานบริการมือถือสิ้นสุด” ในวันอังคารที่ 30 กรกฎาคม 2556 และ จัดการประชุมเฉพาะประเด็น เรื่อง “ปัญหาทางกฎหมาย กรณี การิส้นสุดสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 MHz และแนวทางแก้ไขปัญหา” ที่จัดโดย โครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมกับส่วนงาน กสทช.ประวิทย์ฯ สำนักงาน กสทช. ขึ้น เพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ให้บริการ ผู้ใช้บริการ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และหน่วยงานด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนที่สนใจทั่วไป ได้ร่วมกันให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคอันเนื่องมาจากการสิ้นสุดอายุสัญญาสัมปทานดังกล่าว ตามที่ กสทช. กำหนดเป็นเป้าหมายการดำเนินงานเอาไว้ จึงได้นำความคิดเห็น ข้อวิเคราะห์จาก นักนิติศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ ของวิทยากรในงานทั้งสองดังกล่าว มาเผยแพร่เพิ่มเติม เพื่อความเข้าใจต่อกรณีนี้มากขึ้น

อ่าน! ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ….

Download (1800.pdf,PDF, Unknown)

อ่าน!ปัญหาทางกฎหมายกรณีการสิ้นสุดสัมปทาน 1800 MHz ระหว่าง บมจ.กสท. กับบริษัททรูมูฟ และบริษัทดิจิตอลโฟน โดย ผศ.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

Download (Jantajira_1800.pdf,PDF, Unknown)

อ่าน!ความเห็นเกี่ยวกับอำนาจของ กสทช. ในการกำหนดกฎเกณฑ์ว่าด้วยการใช้คลื่นความถี่ หายหลังสิ้นสุดสัมปทาน 1800 MHz ระหว่าง บมจ.กสท. กับบริษัททรูมูฟ และบริษัทดิจิตอลโฟน โดย รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์

Download (Worajade1800.pdf,PDF, Unknown)

อ่าน!ประเด็นทางกฎหมายที่ กสทช. พึงระวัง กรณี(ร่าง) มาตรการคุ้มครองผุ้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุยาต สัมปทาน หรือสัญญา โดย วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ อนุกรรมการ กสทช. ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการถือครองคลื่นความถี่ฯ

Download (Weerapat_1800.pdf,PDF, Unknown)

อ่าน!พาวเวอร์พ้อยท์ ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค นางสาวบุญยืน ศิริธรรม

Download (Boonyuen_1800.ppt,PPT, Unknown)

อ่าน!มุมมองหลากมิติต่อประกาศมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีสิ้นสุดสัมปทานมือถือ ของ กสทช……จุดแข็งและจุดอ่อนคืออะไร โดย ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผอ.วิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

Download (Duenden_1800.pdf,PDF, Unknown)

อ่าน! พาวเวอร์พ้อยท์ :ขยายระยะเวลาคืนคลื่น 1800 MHz เยียวยาผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการ? โดย วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม

Download (Worapoj_1800.pdf,PDF, Unknown)