กสท. : ยอมถอน ร่างประกาศคุมเนื้อหา รอทบทวนใหม่

กสท.  : ยอมถอน ร่างประกาศคุมเนื้อหา รอทบทวนใหม่

วันที่ 30 ต.ค.2556 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช.  เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่ผ่านมา พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านเนื้อหาและผังรายการ ได้ขอถอนวาระ การพิจารณาร่างประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. … หรือร่างฯกำกับเนื้อหาทางทีวีวิทยุ ตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 (ที่ระบุว่า ห้ามนำเสนอเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง อีกทั้งยังกำหนดมาตรการที่สามารถสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตแก้ไข หรือพักใช้ใบอนุญาตได้) ออกไปจากการพิจารณาครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ตนยังไม่ทราบว่าร่างประกาศฉบับนี้จะกลับเข้าสู่การพิจารณาอีกเมื่อใด โดยก่อนหน้านี้ในเวทีวิชาการ นักกฎหมายหลายคนได้ระบุตรงกันว่า ร่างประกาศฯฉบับนี้ไม่มีฐานอำนาจทางกฎหมาย จึงอาจเกิดปัญหาต่อการกำกับดูแลต่อไปในอนาคต ซึ่งการตัดสินใจถอนวาระนี้ออกไป ถือเป็นสัญญาณที่ดีและรู้สึกขอบคุณที่ไม่เร่งพิจารณา ไม่เช่นนั้นต้องอาศัยการโหวตเสียงข้างมากแบบเดิม ที่ผ่านมา มีเสียค้านจากหลายฝ่าย ทั้งองค์กรวิชาชีพ นักวิชาการด้านสื่อและกฎหมาย ซึ่งได้ส่งข้อเสนอให้คณะอนุกรรมการพิจารณาแล้ว ส่วนเหตุของการถอยครั้งนี้ว่า ตนมองว่า กสท.คงไม่อยากเปิดศึกหลายด้าน เพราะขณะนี้อยู่ในช่วงการเตรียมประมูลทีวีดิจิตอล ซึ่งมีจุดละเอียดอ่อนที่ต้องให้ความสำคัญ แต่หลังประมูลทีวีดิจิตอล รวมถึงการเมืองที่ร้อนแรงขึ้นมาอีก สังคมก็อาจจะเรียกร้องให้กำกับเนื้อหาก็เป็นได้

ทั้งนี้ หากมองอีกมุมหนึ่ง ต่อกรณีการออกร่างประกาศฯฉบับนี้ ทำให้สื่อช่องต่างๆ ตอบรับดีขึ้น เช่น ไทยทีวีสีช่อง 3 ผู้บริหารไปเข้าร่วมหลายเวที สื่อทีวีเริ่มพูดเรื่องการกำกับกันเอง เพื่อไม่ให้รัฐเข้ามายุ่ง ในปลายเดือน พ.ย. ทางสมาคม – องค์กรวิชาชีพสื่อ เตรียมจะประกาศเจตนารมณ์ เรื่อง การกำกับดูแลกันเองขององค์กรวิชาชีพสื่อในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ถือเป็นจุดเริ่มของความร่วมมือกันที่จะสนับสนุนสิทธิในการจัดตั้งองค์กรเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรม รวมถึงการมีกลไกควบคุมกันเองขององค์กรวิชาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นที่ยอมรับในการปฏิบัติและยึดถือร่วมกัน ถือเป็นการยกระดับของผู้ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพฯ ในการนำเสนอข่าวสารและแสดงความคิดเห็น อย่างมีความรับผิดชอบและปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ…