จับตาวาระกสท. : กสทช.สุภิญญาฯ ชงวาระให้ กสท.พิจารณาฐานอำนาจ กสทช.ในการออกร่างประกาศฯ ตามมาตรา ๓๗

จับตาวาระกสท. :  

กสทช.สุภิญญาฯ ชงวาระให้ กสท.พิจารณาฐานอำนาจ กสทช.ในการออกร่างประกาศฯ ตามมาตรา ๓๗

           กสทช.สุภิญญาฯ ชงวาระให้ กสท.พิจารณาฐานอำนาจของ กสทช.ในการออกร่างประกาศหลักเกณฑ์การกำกับเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ตามมาตรา ๓๗ ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑  จันทร์นี้ 

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า  หลังจากที่มีการจัดทำร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์  เป็นการขยายความตามมาตรา ๓๗ ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑  ปรากฏว่ามีกระแสการคัดค้านจากทั้งองค์กรวิชาชีพ  นักวิชาการ  รวมทั้งคณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเด็นเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายในการออกร่างประกาศดังกล่าวและเนื้อหาในร่างหลักเกณฑ์ส่วนใหญ่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน   ดังนั้นในฐานะที่ตนเป็น กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนจึงเห็นว่าควรรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย  โดยเฉพาะในแง่มุมด้านกฎหมายจากผู้เชี่ยวชาญ จึงจัดการประชุมเสวนา เรื่อง เสรีภาพสื่อกับการใช้กฎหมายในการกำกับดูแล  เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคมที่ผ่านมา พบว่าแม้ พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ มาตรา ๕ จะให้อำนาจ กสทช.ในการออกประกาศเพื่อปฏิบัติงานได้ตามกฎหมายกำหนด   แต่ กสทช.ไม่สามารถออกประกาศในเรื่องต่างๆ ได้โดยอิสระ  จะออกประกาศได้เฉพาะแต่กรณีที่ พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ให้อำนาจไว้เท่านั้น  และร่างดังกล่าวสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดรัฐธรรมนูญ  รวมทั้งมีการขยายสาระเรื่องประมวลจริยธรรม ตามมาตรา ๓๙ มาบรรจุในร่างนี้ด้วย

จากข้อเสนอของวงเสวนาในวันนั้นมีประเด็นที่ กสท.ต้องรับฟังเพื่อให้การออกร่างประกาศดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย  ตนเห็นว่ามีข้อชี้แนะที่น่าสนใจจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจึงเสนอให้บอร์ดพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อส่งให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กสทช.     นำไปพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ในการออกร่างประกาศฯ นี้

นอกจากนี้ยังมีวาระที่ กสทช.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ เสนอให้ กสท. เร่งรัดให้มีการอนุญาตให้ผลิตหรือนำเข้าเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว  ให้ดำเนินการไปพร้อมกับการพิจารณาอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล  ซึ่ง กสท.เคยมีมติทราบผลการรับจดทะเบียนเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลแบบมีจอภาพแสดงผล  (Integrated Digital TV : iDTV)  ไปแล้วจำนวน ๕๔ แบบ / รุ่น   แต่สำนักงานยังไม่เสนอผลการรับจดทะเบียนเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลแบบไม่มีจอภาพแสดงผล ( Set- top Box )  มาให้ กสท.พิจารณา    เพื่อให้จำหน่ายในตลาดปกติได้   ดังนั้นหากดำเนินการได้อย่างรวดเร็วจะเป็นแรงส่งในการรับชมทีวีในระบบใหม่ จากกลุ่มผู้บริโภคที่สนใจเทคโนโลยีใหม่ๆ  และไม่มีปัญหาในการซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ และ Set- top Box

เรื่องนี้ตนเห็นว่า สำนักงาน กสท. ควรเร่งทำความเข้าใจเรื่องเครื่องรับโทรทัศน์ และ Set-top Box กับประชาชนให้รับรู้อย่างกว้างขวาง  เมื่อมีการประมูลโทรทัศน์ประเภทธุรกิจในเดือนธันวาคม  อีกไม่นานเราก็จะสามารถรับชมทีวีในระบบดิจิตอล   แต่ต้องมีความพร้อมในเรื่องเครื่องรับ  และความชัดเจนในวิธีการแจกคูปองเพื่อให้เกิดความทั่วถึงและเป็นธรรม  ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ”  กสทช.สุภิญญาฯ กล่าวทิ้งท้าย