พอวันแรกที่ออนแอร์ทีวีดิจิตอล ภาระการกำกับดูแลก็จะนับหนึ่งทันที ซึ่งเราต้องตั้งหลักให้ดี

27 ธ.ค. 56

Sum up today after the auctions ended: It had been so smooth & rather good indeed, in term of competition & bringing new comers. No complaints so far. 

So it shows the world that *We (NBTC) Can actually Do a real AUCTION!*
Yes, We made it!
To recap more in English later.

กลับมา สนง. (ฝั่งวิทยุ-โทรทัศน์มาเช่าอยู่ตึกนี้) เพื่อเก็บของ รับวาระการประชุมบอร์ด กสท. ของวันที่ 6 มกราคม 57 ก่อนหยุดปีใหม่ และ เตรียมตัวกลับบ้านต่างจังหวัด

ในที่สุดการประมูลคลื่นโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลตามกฎหมายครั้งประวัติศาสตร์ได้ผ่านพ้นไปแล้ว ดีใจกับว่าที่ผู้ชนะทุกท่าน เสียใจกับผู้พลาดหวัง (ถ้าไม่พบความผิดปรกติและไม่มีเรื่องร้องเรียน บอร์ด กสท.ก็คงรับรองผลการประมูลได้ใน15 วัน) จากนั้นจะนำเรื่องเข้าบอร์ดใหญ่และมีกระบวนการออกใบอนุญาตต่อไป ขั้นตอนต่อจากนั้นของผู้ประกอบการคือต้องเลือกผู้ให้เช่าโครงข่าย(MUX) เลือกหมายเลขช่อง เตรียมจ่ายเงินก้อนแรก และ เตรียมการออกอากาศครั้งแรกไม่เกินไตรมาสแรกปีหน้า

สำหรับประชาชนสามารถซื้อกล่องรับหรือทีวีดิจิตอลได้แล้วตามห้างร้านทั่วไป แต่ให้ขอดูสัญลักษณ์ของ กสทช. เพื่อเป็นการรับรองมาตรฐานเทคนิคว่าดูได้แน่นอน ถ้าท่านใดยังไม่อยากซื้อเองก่อน อดใจอีกนิด หลังรับเงินก้อนแรกจากผู้ที่ได้รับใบอนุญาต รายได้ดังกล่าวก็จะคืนกลับไปเป็นคูปองในการซื้อกล่องรับหรือทีวีใหม่ การประมูลได้เงินมากกว่าราคาตั้งต้นเยอะมาก ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะมีการเพิ่มมูลค่าของคูปองให้กับ 22 ล้านครัวเรือน หลังปีใหม่คงจะยุ่งเรื่องนี้กัน ฝากเครือข่ายผู้บริโภคช่วยจับตาด้วย เพื่อให้สิทธิของประชาชนได้รับการคุ้มครอง

ผลการประมูลสองวันที่ผ่านมา ยอมรับว่า เกินความคาดหมายสำหรับ กสทช. เพราะการแข่งขันคึกคักมาก สะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมฟรีทีวียังเป็นที่ต้องการสูงและเติบโตไปได้อีกมาก ประเมินจากความพร้อมลงทุนของผู้ประกอบการ แม้จะเสี่ยงขาดทุนในช่วงปีแรกๆ และ แม้จะลงทุนไปในทีวีดาวเทียมแล้วก็ตาม ทั้งนี้การผลิตในระบบฟรีทีวีคงต้องเพิ่มรายละเอียดเชิงคุณภาพและความหลากหลาย เพราะจะเป็นสื่อทีวีที่เข้าถึงประชาชนทั้งประเทศ มูลค่าจากการประมูลได้ประมาณ 50,862 ล้านบาท สังคมต้องจับตาว่า กองทุนก้อนนี้จะถูกบริหารจัดการอย่างไรโดยบอร์ดกองทุนฯ ร่วมกับ กสทช. อย่างไร อีกทั้งความยากท้าทายในการกำกับดูแลเนื้อหา ซึ่งบอร์ด กสท.ได้ข้อตกลงร่วมกันระดับหนึ่งแล้ว ว่าการเข้าไปควบคุมโดยรัฐแบบใช้อำนาจตรงคงเป็นไปได้ยาก

ดังนั้นบอร์ด กสท.คงมีการพิจารณาทบทวนร่างประกาศการกำกับเนื้อหาตามมาตรา 37 ในการประชุมวันที่ 6 มกราคม 57 พร้อมวาระการรับรองผลการประมูลไปด้วยเลย เพื่อสร้างบรรยากาศเข้าสู่การปลดแอกอิสรภาพให้กับฟรีทีวีในยุคดิจิตอล แต่เราจะต้องส่งเสริมการกำกับดูแลตนเอง/กันเองขององค์กรสื่อและการกำกับร่วมกันระหว่าง กสทช. และ ผู้รับใบอนุญาตให้จริงจังมากขึ้

ตอนนี้ว่าที่ผู้ประกอบการทั้ง 24 ช่องก็เหมือนนักเรียนจะเปิดเทอมใหม่ มีจุดเริ่มนับหนึ่งในกติกาใหม่และเวทีใหม่พร้อมๆกัน ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่ กสทช.จะได้ใช้จังหวะนี้ในการเปิดเวทีพูดคุย เพื่อวางกติกาหรือ Code of Conduct/Practice ต่างๆร่วมกัน อันจะนำไปสู่การสร้างดุลยภาพระหว่างสิทธิเสรีภาพของสื่อและความรับผิดชอบต่อสังคม
สรุป
1. โล่งใจที่ในที่สุดที่งานสอง วันนี้เกิดขึ้นได้และผ่านไปได้ด้วยดี ราบรื่นมาก ไม่มีสะดุด ปัญหาหรืออุปสรรค

2. ดีใจที่เห็นผู้ประกอบการในวงการโทรทัศน์ทุกราย มุ่งมั่นตั้งใจในการแข่งขันตามกติกาอย่างเปิดเผย โปร่งใส อย่างมีศักดิ์ศรี โดยเฉพาะฟรีทีวีรายเดิม ซึ่งในที่สุดไม่คัดค้านการเปลี่ยนผ่านนี้และเต็มใจเข้าสู่กติกาใหม่พร้อมกับรายใหม่ ถือเป็นสปิริตร่วมกันของวงการสื่อ ช่วยสร้างวัฒนธรรมใหม่ เพื่อค่อยๆลบล้างภาพลักษณ์แบบเดิมที่เขากล่าวหากันเช่น วัฒนธรรมฮั้วการประมูล วัฒนธรรมวิ่งเต้น จ่ายเงินใต้โต๊ะ ระบบอุปถัมภ์ต่างๆ เป็นต้น

 

วันนี้สะท้อนให้คนไทยและชาวโลกเห็นว่า กสทช. และ อุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนก็สามารถทำการ *ประมูล* ที่เป็นการประมูล ตามกฎหมายได้จริงๆ

ปล. มีหลายท่านถามว่าทำไมต้องใช้การประมูลที่เอาทุนเป็นตัวตั้ง เพราะ พ.ร.บ. กสทช.บังคับให้ต้องประมูลคลื่นอย่างเดียวเท่านั้น ใช้วิธีอื่นไม่ได้ เนื่องจากเป็นวิธีที่เปิดเผย โปร่งใสที่สุด แต่ กสทช.ก็ได้ออกแบบให้มีการกำหนดประเภทของช่องเพื่อความหลากหลาย อาทิ ช่องทั่วไป ช่องข่าว และ ช่องเด็ก รวมทั้งการห้ามรายใหญ่ที่ประมูลช่องความคมชัดสูง HD แบบพรีเมี่ยมไม่ให้มาประมูลช่องข่าวอีก จึงทำให้มีผู้เล่นมากขึ้นรวมทั้งมีรายใหม่เข้าร่วมแข่งและชนะได้ด้วย

 

3. โอเคที่การจัดประมูลคราวนี้ นอกจากเป็นการแข่งขันที่แท้จริงในทุกรอบแล้ว ยังสามารถเปิดพื้นที่ให้รายใหม่เข้าสู่วงการฟรีทีวีกว่า 10 ราย หวังว่ารายใหม่เหล่านี้จะมาช่วยสร้างทางเลือกให้กับคนดูมากขึ้นในเชิงคุณภาพ

วันนี้แม้ทุกบริษัทที่ชนะการเคาะประมูลจะดีใจแต่เชื่อว่าอีกมุมหนึ่งคือ *ทุกขลาภ* เพราะมีภาระตรงหน้าให้สร้างสรรค์ฟันฝ่ากันต่อไป เช่นเดียวกับ กสทช.ที่โล่งใจได้ถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า พอวันแรกที่ออนแอร์ทีวีดิจิตอล ภาระการกำกับดูแลก็จะนับหนึ่งทันที ซึ่งเราต้องตั้งหลักให้ดี 

สุดท้าย งานวันนี้ผ่านไปได้ด้วยการทำงานหนักกว่า 2 ปีเต็มของ พนง. กสท./กสทช. ทุกคน โดยเฉพาะคนที่ทำงานเบื้องหลัง ปิดทองหลังพระ รวมช่วงสัปดาห์นี้ ที่ จนท. กสท.กว่า 200 คนต้องทำทุกอย่างตั้งแต่ดูแลที่จอดรถ เสริฟน้ำ เฝ้าหน้าห้องผู้ประมูล พาผู้ประมูลไปห้องน้ำ ฯลฯ คุมงานทุกรายละเอียด เพราะต้องใช้คนในเท่านั้นเป็นเจ้าหน้าที่การประมูลตามกฏหมาย จึงไม่ได้จ้างคนนอก ทุกคนเหนื่อยกันมาก ด้วยความขอบคุณอีกครั้งและหวังว่าคงหายเหนื่อย ผลของงานนี้มาจากทุกคนและรวมถึงภาระที่ต้องแบบรับร่วมกันด้วย

 

เช่นเดียวกับบอร์ด กสท. อีก 4 ท่าน ที่ทะเลาะกันบ้าง ดีกันบ้าง ตลอดสองปีที่ออกแบบการประมูลครั้วนี้ ส่วนตัวเป็นเสียงข้างน้อยบ่อย โหวตแพ้ไปหลายรอบ แต่ก็ยอมรับว่าผลที่ออกมาวันนี้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก

ขอบคุณ กรรมการ กสท. และ จนท.ทุกท่าน ที่ไม่โกรธเวลาทะเลาะกัน อย่างน้อยก็เพื่อให้กติกาทุกอย่างออกมารอบคอบที่สุด
ยังมีงานต้องทำด้วยกันอีกมาก ขอให้ทุกคนพักผ่อนเต็มที่
เจอกันปีใหม่ค่ะ

ดาวน์โหลด! ตารางสรุปรายชื่อผู้มีสิทธิเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต 24 ช่อง

Download (+ทั้ง+24+ราย1.xls,XLS, Unknown)

ที่มาจากเวบไซต์ กสทช.