5 ปี กสทช.เสียงข้างน้อย ทำไมคุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้

ขอบคุณที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

5 ปี กสทช.เสียงข้างน้อย ทำไมคุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้

เป็นอีกหนึ่งในกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่มีบทบาทและสื่อสารกับสังคมผ่านโซเชียลมีเดียตลอดเวลา แม้จะอยู่ในฐานะบอร์ดเสียงข้างน้อยสำหรับ “สุภิญญา กลางณรงค์” กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคบรอดแคสต์ “ประชาชาติธุรกิจ” พาคุยถึงสารพัดปัญหาเกี่ยวกับภารกิจที่รับผิดชอบ รวมถึงกรณี “ซีทีเอช” ดังนี้



- ช่วงนี้กิจการบรอดแคสต์งานเข้ามาก

มันเป็นยุคของการกำกับดูแลที่จริงจังหลังจัดสรรคลื่นและออกใบอนุญาตไปแล้วเป็นเรื่องจุกจิกหยุมหยิมมากต้องกำกับทั้งโครงข่ายเทคนิค คุณภาพสัญญาณ คอนเทนต์ทั้งโฆษณา ละคร การเมือง

ประเภทกิจการค่อนข้างเยอะ ธรรมชาติแต่ละกิจการไม่เหมือนกัน ภาระจึงมาตกด้านผู้บริโภค แม้จะมีส่วนที่เกี่ยวกับการแข่งขันเสรีเป็นธรรม เงื่อนไขใบอนุญาต แต่ปลายทางที่กระทบคือผู้บริโภค ทั้งบรอดแคสต์เริ่มเป็นช่วงขาลง ทีวีดาวเทียมปิดตัวเยอะ เคเบิลทีวี ปัญหาประเดประดังมา อำนาจ กสทช.ได้มาไม่เต็มที่คนจึงดูว่าไม่ค่อยถึงใจ

-งานกำกับด้านอื่น

เงื่อนไขใบอนุญาตละเอียดมากแต่การชงว่าผิดเงื่อนไขใบอนุญาตจะมีน้อยและไม่ค่อยมีผลอะไรมากหลายเรื่องต้องโยนให้ฝั่งผู้บริโภคมาฟันธงว่าเป็นการละเมิดผู้บริโภค แต่หลายเรื่องก็ไม่ได้กำกับเข้มข้นจริง ๆ ไม่ได้ทำเชิงรุกในทุกประเด็น ต้องรอให้มีปัญหาเกิดขึ้น มีคนร้องเรียนก่อนถึงจะเข้ากระบวนการ คือได้แค่ตามสภาพ ไม่ได้มอนิเตอร์ทุกสิ่งอย่าง บางเรื่องร้องเรียนแล้วยังต้องใช้เวลากว่าจะเชิญมาชี้แจงกว่าจะพิจารณา กว่าจะตัดสินใจนานมากกว่าจะมีคำสั่งทางปกครอง เรื่องใหญ่ ๆ อย่างโครงข่าย เรียงช่อง พวกนี้ใช้วิธีตีปิงปองกันไปมากว่าจะจบ

- ช้าเพราะอะไร

ระบบราชการช้าอยู่แล้ว จะเร็วต้องมีไฟเขียวมาอย่างเรื่องการเมือง เรื่องอื่น มีประเด็นเรื่องข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อย่างแผนเยียวยาก็โยนให้กลับไปแก้ ความล่าช้าส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมทั้งการกำกับดูแล และมาตรฐานในการกำกับ ทำให้สังคมเบื่อหน่าย คนไม่เชื่อมั่น คนที่เอาเปรียบก็ได้เปรียบจากความล่าช้า ที่มีความพยายามจะแก้กฎหมาย กสทช. ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องนี้

คือการจัดสรรคลื่นการออกใบอนุญาตเป็นล่ำเป็นสันส่งผลดีกับอุตสาหกรรมที่จะได้ทำธุรกิจที่ง่ายขึ้นแต่ไม่ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลทั้งการออกแบบที่ต้องให้ทุกเรื่องทุกการตัดสินใจมาอยู่ที่บอร์ดกว่าเรื่องจะมาก็ช้า ยังมีสิทธิให้ชี้แจงอีก 15 วัน 30 วัน ขอเลื่อนขอผ่อนผันได้อีก

- เป็นปัญหาร่วมของระบบราชการ

เคสมหากาพย์และมหาโหดสุดตอนนี้เป็นเรื่อง CTH ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก เริ่มทยอยยุติบริการจนมาถึงการยุติการให้บริการทั้งหมด ความหงุดหงิดตอนนี้ คือทุกอย่างตีปิงปองกันไปมา บอร์ด กสท.ไม่เด็ดขาด บอกว่าต้องเตือนก่อน ดูเป็นเคสบายเคสของการร้องเรียน ซึ่งที่ผ่านมาเห็นแล้วว่าเรื่องร้องเรียนผู้บริโภคถ้าไกล่เกลี่ยบางทีใช้เวลาข้ามปี แล้ว CTH เหมือนอยากให้เราเพิกถอนไลเซนส์จะไม่ได้มีอำนาจบังคับอะไรได้อีก

- มี กสทช.การคุ้มครองผู้บริโภคไม่ดีขึ้น

คนไทยใช้บริการทีวีดาวเทียมกับเคเบิลมาเป็น 10 ปี เมื่อก่อนไม่มีระบบใบอนุญาต ผู้บริโภคเหมือนต้องทำใจว่า เป็นธุรกิจที่ไม่ได้ถูกกฎหมาย 100% ต้องไป สคบ.อย่างเดียว ส่วนเพย์ทีวีเพิ่งมาบูมจริง ๆ ตอนมี กสทช. และเหมือนจะแผ่วในยุคนี้ เพราะมีดิจิทัลทีวีมาแข่งด้วย จะเห็นความเจ็บปวด

อย่างกรณีจอดำบอลยูโร ส่วนใหญ่คอนเทนต์กีฬามีปัญหาเยอะ ทำให้คนต้องย้ายมา CTH เพื่อดูกีฬา มาดู GMM Z ก็ขายกล่องได้เป็นล้าน เพราะ กสทช.ลงมติอะไรไม่ได้ จอดำ ทำให้เอกชนบางรายเกิดขึ้นได้จากยอดขายล้านกว่ากล่อง แล้วสุดท้ายเขาเดินมาถึงจุดที่เลิกกิจการ

โอเคว่า 3-4 ปี ในแง่กล่องก็คุ้มแล้ว แต่ระหว่างทางยังมีการขาย มีผู้บริโภครายใหม่ซื้อแพ็กเกจเพิ่มจากจุดนั้นทำให้เห็นช่องว่างในการกำกับ บอร์ดแก้ปัญหาจอดำด้วยการออกกฎมัสต์แครี่ ต่อมามีเรื่องมาตรฐานสัญญาการให้บริการสำหรับเพย์ทีวี ซึ่งแก้ได้ระดับหนึ่งแต่เริ่มลุกลามมาถึงการยกเลิกกิจการ ก็ต้องดูว่าจากนี้ที่เคยมีการปรับปรุงจนเรื่องร้องเรียนลดลงเยอะมากจะเป็นอย่างไรต่อ

- มีการหารือในบอร์ดเพื่อหาแนวทางป้องกัน

ในอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีการคุยกันเรื่องผลกระทบผู้บริโภคแต่ภาพรวมในบอร์ดกสท.ยังคุยกันน้อย เป็นการแก้ไปตามเนื้อผ้าว่าเป็นเคส ๆ ช่วงนี้เป็นช่วงที่มีความไม่แน่นอนของกฎหมาย จุดร่วมในการขับเคลื่อนงานร่วมกันก็น้อย ไม่เหมือนตอนดิจิทัลทีวีที่มีเป้าหมายร่วมกันบรรยากาศดูซบเซา ยังประชุมบอร์ดทุกจันทร์ แต่อยู่ที่ว่าใครจะชงเรื่องเข้าไป

- เหมือนเกียร์ว่าง

(หัวเราะ) เรื่องกำกับดูแลก็เหมือนจะเป็นแบบนั้น เพราะประมูลคลื่นกันไปแล้ว ไม่ค่อยมีใครอยากมารับหน้า เป็นเรื่องที่ต้องทะเลาะกับคน ทั้งผู้ประกอบการ ผู้บริโภค แต่ปัญหาบรอดแคสต์อย่างไรก็ต้องลงมากระทบผู้บริโภค

- พ.ร.บ.ใหม่ไม่ล็อกโควตาด้านผู้บริโภค

บอร์ดชุดหน้ามีแค่ 7 คน คงไม่มีเวลามาดูเรื่องจุกจิกพวกนี้แน่ ๆ

- งานที่ผลักดันได้ดังใจ

เรียกว่าเป็นจุดที่น่าพอใจดีกว่า แม้ใช้เวลานานมาก คือเรื่องโฆษณาอาหารและยา ที่ผลักดันให้ กสทช. ลงโทษปรับในระดับที่สูงได้เป็นหลักล้านบาท ถ้าผิด อย.ก็ถือว่าผิดทันที มีประกาศเกี่ยวกับการเอาเปรียบผู้บริโภค มีกำหนดโทษชัดเจน มีการบังคับตั้งแต่ช่องจนถึงโครงข่าย มีมาตรฐานเดียวกัน มีบทลงโทษที่จริงจัง รวมถึงการโฆษณาเกินเวลา ที่มีการวางบรรทัดฐานว่า ผิด เริ่มจากเตือน แจ้งใบเหลืองใบแดง แล้วสั่งปรับแต่ยังไม่ได้รวมโฆษณาประเภทไทด์อินที่มีการยกร่างหลักเกณฑ์แล้ว กว่าจะมาถึงวันนี้ก็ดันกันมา 4-5 ปี

- ที่ไม่ได้ดังใจ

เรื่องเพย์ทีวี ยังไม่เคยมีการลงโทษแรง ๆ ที่ผ่านมาเตือนให้ระงับ เป็นการแก้เป็นเคส ๆ ไปตามที่มีการร้องเรียน กลายเป็นต้องรอให้เลิกกิจการแบบที่เกิดขึ้นตอนนี้ ก็ยังไม่รู้ว่ากรรมการท่านอื่นจะเห็นอย่างไร เขาจอดำไปแล้ว เรามาออกคำสั่งทีหลัง ไม่ว่าจะสั่งปรับหรือเพิกถอนใบอนุญาตจะมีผลอะไรกับเขาไหม

โดยส่วนตัวอยากให้กรณีนี้มีโทษทางแพ่งที่แรงเหมือนต่างประเทศแต่เขาจะมีจ่ายไหมถ้าเข้ากระบวนการล้มละลายผู้บริโภคต้องไปต่อคิวรอชำระหนี้จากรายใหญ่อีกแนวทางกองทุนเยียวยาจึงดูเป็นทางออกที่ไม่เลว เป็นเหมือนวางแบงก์การันตีไว้ตั้งแต่ก่อนเปิดบริการ เป็นรูปธรรมกับผู้บริโภคมากกว่าการออกคำสั่งทางปกครอง ต่อให้ลงโทษสูงสุด แต่ผู้บริโภคจะได้อะไร โทษทางปกครองมีผลกับผู้ประกอบการที่ยังอยากทำธุรกิจอยู่เท่านั้น

- ก่อนหมดวาระคิดว่าทำอะไรได้บ้าง

พูดตรง ๆ ใกล้ถอดใจแล้ว ยิ่งกฎหมายใหม่ไม่รู้ต้องเจอกับอะไรบ้างเมื่อรวมเป็นบอร์ดเดียว

- การเรียกคืนคลื่น

เดาว่าบอร์ดคงลุ้นให้ พ.ร.บ.ใหม่ออกก่อน 5 เม.ย. ที่เป็นวันครบ 5 ปีแผนแม่บท ก็จะเปิดช่องให้จ่ายค่าเยียวยาเรียกคืนคลื่นได้ แต่ถ้าไม่ทันก็ต้องรับหน้าเสื่อไปว่าทำไมยังไม่เรียกคืน จริง ๆ ถ้าบอร์ดทั้งหมดโหวตให้เรียกคืนได้ก็ทำได้เลย กฎหมายค่อนข้างเคลียร์

- เป็นเสียงข้างน้อยตลอด

ก็ใกล้พีกสุดแล้ว เรื่องคุ้มครองผู้บริโภคเป็นสิ่งถนัดน้อยสุด เข้ามาหวังจะเดินหน้างานปฏิรูปสื่อ แต่ไม่คืบสักอย่าง แผนแม่บทคลื่นก็ไม่คืบจะครบ 5 ปีแล้ว สำหรับคลื่นวิทยุอายมากนะ จนวันนี้ยังเรียกคืนคลื่นอะไรไม่ได้เลย แม้แต่ 1 ปณ.ของ กสทช.เอง

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์