จี้ กสทช. อย่าดูดาย ปล่อย “ซิมดับ”

จี้ กสทช. อย่าดูดาย ปล่อย “ซิมดับ”

                27 พ.ค. 57 – กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา และ กสทช. สุภิญญา กลางณรงค์ ในฐานะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ร่วมกันจัดเวที NBTC Public Forum ครั้งที่ 2 เรื่อง ร่วมเตรียมการป้องกันปัญหา “ซิมดับ” โดยมีตัวแทนบริษัท ทรูมูฟ จำกัด เจ้าหน้าที่ กสทช. นักวิชาการ และผู้บริโภค ร่วมกันระดมความเห็นเพื่อหาทางออกกรณีที่มาตรการเยียวยาฯ ของ กสทช. สิ้นสุดลง ซึ่งลูกค้าบริษัททรูมูฟ จำกัด และบริษัทดิจิตอลโฟน จำกัด จะประสบกับปัญหาซิมดับในทันทีหากโอนย้ายออกจากระบบไม่ทัน

คาดว่าเลี่ยงไม่พ้นลูกค้าทรูมูฟตกค้างหลายล้าน

จากเหตุที่สัญญาให้ดำเนินการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัททรูมูฟ และบริษัทดิจิตอลโฟน บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ต ซึ่งได้รับสัมปทานจากบริษัท กสท โทรคมนาคม (มหาชน) จำกัด ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2556 แต่ กสทช. กลับไม่ได้จัดประมูลคลื่นความถี่เพื่อหาผู้ให้บริการรายใหม่มารองรับและไม่ได้เตรียมการใดๆ ให้การเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นอย่างราบรื่น โดย ณ เวลานั้น บริษัททรูมูฟรายงานว่า ยังมีผู้ใช้บริการตกค้างอยู่ในระบบกว่า 17 ล้านเลขหมาย กสทช. จึงอ้างเป็นเหตุในการออกประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 หรือที่เรียกกันว่ามาตรการเยียวยาฯ โดยอนุญาตให้ผู้ให้บริการรายเดิมใช้คลื่นความถี่ให้บริการต่อไปได้อีก 1 ปี เพื่อแก้ปัญหากรณีที่ผู้ใช้บริการไม่สามารถโอนย้ายเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตนออกจากระบบไปยังผู้ให้บริการรายอื่นได้ทัน ซึ่งในปัจจุบันเหลือระยะเวลาอีกไม่ถึง 4 เดือนที่มาตรการเยียวยาฯ จะหมดลง นั่นหมายความว่าหากยังมีผู้ใช้บริการตกค้างในระบบ ก็จะประสบปัญหาซิมดับในทันที

นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ ตัวแทนจากบริษัท ทรูมูฟ จำกัด เปิดเผยว่า ตัวเลข ณ สิ้นสุดเดือนมีนาคม ยังคงมีผู้ใช้บริการค้างอยู่ในระบบที่ยังไม่แจ้งความประสงค์ในการโอนย้ายมากกว่า 9 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นผู้ใช้บริการแบบรายเดือนประมาณ 40,000 เลขหมาย และผู้ใช้บริการแบบเติมเงินอีกประมาณ 9 ล้านเลขหมาย ในจำนวนนี้เป็นเลขหมายที่มีการใช้งาน 6.29 ล้านเลขหมาย โดยเป็นเลขหมายที่มีการใช้งานประจำ 3.37 ล้านเลขหมาย และเลขหมายที่ไม่ค่อยได้ใช้ 2.92 ล้านเลขหมาย ที่เหลือเป็นเลขหมายที่ไม่มีการใช้งาน

นายจักรกฤษณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางบริษัทได้พยายามประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการทราบหลายช่องทาง รวมถึงการส่ง SMS แจ้งว่าลูกค้าจะสามารถใช้บริการได้ถึง 15 ก.ย. 57 และมีแคมเปญจูงใจต่างๆ ให้ย้ายมาทรูมูฟเอช เช่น แจกเครื่องโทรศัพท์ ร่วมชิงโชครถยนต์ แต่ก็ยอมรับว่าการส่ง SMS มีอัตราการส่งสำเร็จเพียง 10 – 20% เท่านั้น

“SMS เป็นช่องทางเดียวที่เราจะสื่อสารกับลูกค้าได้โดยตรง โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้ระบบเติมเงิน เนื่องจากมีลูกค้าจำนวนมากที่ไม่ได้จดทะเบียนซิมไว้ ทำให้เราไม่มีที่อยู่ ซึ่งคาดว่าในวันสิ้นสุดประกาศมาตรการเยียวยาฯ จะยังมีผู้ใช้บริการค้างอยู่ในระบบจำนวน 4 ล้านเลขหมาย และเชื่อว่าน่าจะเหลือลูกค้าที่ใช้งานประจำถึง 2 ล้านเลขหมาย” จักรกฤษณ์ชี้แจงถึงสถานการณ์

ด้านนายชัยยุทธ มังศรี ผู้แทนคณะทำงานติดตามและกำกับดูแลการดำเนินการตามมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 ของสำนักงาน กสทช. เปิดเผยว่า แผนการคุ้มครองผู้บริโภคถือเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการ แต่ทางสำนักงาน กสทช. มีหน้าที่ติดตามการดำเนินการตามแผนของผู้ประกอบการ เช่น ในระหว่างมีมาตรการเยียวยา ผู้ประกอบการยังคงให้บริการด้วยคุณภาพคงเดิม มีการกำหนดแผนการโอนย้ายลูกค้า และมีแผนการประชาสัมพันธ์ เป็นต้น ซึ่งทางสำนักงานก็ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาติดตามแผน และให้ผู้ประกอบการรายงานความคืบหน้าทุกเดือน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าปัจจุบันอัตราที่ผู้ใช้บริการโอนย้ายค่ายลดลงและต่ำกว่าขีดความสามารถการโอนย้ายที่ผู้ประกอบการเคยตกลงกันไว้ที่ 6 หมื่นเลขหมายต่อวัน จึงเชื่อว่า ณ เวลาสุดท้าย ต้องมีผู้ใช้คงค้างอยู่ในระบบอย่างแน่นอน ดังนั้น กสทช. คงจำเป็นต้องทำประชาสัมพันธ์ในวงกว้างมากขึ้น และเร่งผู้ประกอบการให้ประชาสัมพันธ์อย่างเข้มข้นขึ้นเช่นกัน

ส่วนประเด็นเรื่องเงินค้างในระบบในกรณีที่ผู้ใช้บริการไม่ได้โอนย้ายแล้วบริการถูกปิดไปเสียก่อน นายชัยยุทธ กล่าวว่า ได้กำหนดแผนให้ผู้ประกอบการจัดทำข้อมูลว่ามีเงินของผู้ใช้บริการแต่ละรายค้างอยู่ในระบบเท่าใด และรายงานมาที่สำนักงาน กสทช. ในลักษณะเป็นข้อมูลดิบ ซึ่งคาดว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในอนาคตได้

 

อนุคุ้มครองผู้บริโภคเสนอเปลี่ยนวิธีแก้ปัญหา

นางสาวสุภัทรา นาคะผิว อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ถ้าพูดถึงหลักการคุ้มครองผู้บริโภคที่สำคัญในเรื่องนี้ คือ “จอต้องไม่ดำ เลขหมายยังคงอยู่ และเงินไม่หายไปไหน” โดย 4 เดือนที่เหลือ ถ้า กสทช. และบริษัททรูมูฟ ทำแบบเดิมก็จะได้ผลแบบเดิม ถ้าต้องการผลแบบใหม่ก็ต้องทำแบบใหม่

ทั้งนี้ นางสาวสุภัทรา เสนอว่า กสทช. และบริษัททรูมูฟควรเร่งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสาธารณะในวงกว้าง และเปิดให้ผู้ใช้บริการสามารถโอนย่ายเครือข่ายผ่านร้านสะดวกซื้อ 7-11 ได้ รวมทั้งทำงานร่วมกับองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม และสื่อสารผ่านเครือข่ายขององค์กรภาคประชาชนในพื้นที่ เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา การสื่อสารกับผู้บริโภคในพื้นที่ หากไม่มีเครือข่ายในพื้นที่ก็จะทำงานยาก ซึ่งในเรื่องนี้เชื่อว่าองค์กรผู้บริโภคพร้อมให้ความร่วมมือ

“หลัง 15 ก.ย. นี้ ถ้าเกิดปัญหาจอดำ คนที่น่าจะรับผิดชอบคือ กสทช. หลักการการย้ายค่ายนั้นถือเป็นสิทธิผู้บริโภค แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ถือเป็นสถานการณ์พิเศษ เมื่อถึงเวลานั้นควรมีการโอนย้ายผู้ที่ยังอยู่ในระบบแบบยกล็อตไปที่ไหนสักแห่งเพื่อให้ใช้งานได้ต่อเนื่อง และมีกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนด้วยว่าจะคืนเงินที่ค้างอยู่ในระบบกันเมื่อไร” นางสาวสุภัทรากล่าว

 

นักกฎหมายชี้ หาก กสทช. ไม่มีมาตรการชัดเจน เสี่ยงถูกผู้บริโภคฟ้องกลับ

ผศ.ดร.ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แสดงความเห็นว่า ประกาศมาตราเยียวยาฯ ของ กสทช. มีเจตนารมณ์ยึดหลักการเรื่อง Opt In คือยึดเจตนาในการโอนย้ายของผู้ใช้บริการเป็นแกนสำคัญ คือต้องให้ผู้ใช้บริการแสดงความประสงค์ในการโอนย้าย ผู้ให้บริการจึงจะสามารถดำเนินการโอนย้ายให้ได้ ดังนั้นหากเปลี่ยนไปใช้วิธีการโอนย้ายแบบยกล็อต ก็เท่ากับเป็นการขัดกับประกาศฉบับนี้ นอกจากนี้ การย้ายผู้ใช้บริการแบบยกล็อตก็จะทำให้เลขหมายที่ไม่มีผู้ใช้บริการถูกโอนย้ายไปด้วย ซึ่งเลขหมายถือเป็นทรัพยากรสาธารณะ ซึ่งถ้าไม่มีการใช้งานก็ควรถูกนำมาจัดสรรใหม่

สำหรับทางออกของปัญหา ผศ.ดร.ปิยะบุตร เสนอว่า กสทช. ควรต้องกระชับวงล้อมและกำหนดมาตรการรองรับด้วยการแบ่งกลุ่มผู้ใช้บริการที่ค้างอยู่ในระบบเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มที่ยังใช้งานเลขหมายเป็นประจำ โดยการจัดการปัญหากลุ่มนี้ กสทช. ต้องเปลี่ยนหลักการของประกาศมาตรการเยียวยาฯ จาก Opt In เป็น Opt Out คือย้ายแบบยกล็อตไปยังผู้ให้บริการรายอื่น และเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการสามารถย้ายค่ายได้อีกในภายหลัง 2) กลุ่มที่ยังใช้งานเลขหมาย แต่ไม่ค่อยได้ใช้งาน กลุ่มนี้ กสทช. ควรใช้คำสั่งทางปกครองบังคับให้บริษัททรูมูฟต้องส่งข้อมูลเกี่ยวกับเงินที่ค้างอยู่ในระบบให้กับ กสทช. และต้องเตรียมคืนเงินให้กับลูกค้าในทันที 3) กลุ่มที่เลขหมายไม่มีการใช้งาน กสทช. ต้องนำเลขหมายเหล่านี้กลับคืนมา แล้วนำไปจัดสรรใหม่

“นอกจากเรื่องประกาศเยียวยาฯ อยากตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ผู้ประกอบการยังมีพันธะกับผู้บริโภคในเรื่องสัญญาให้บริการ แม้ประกาศเยียวยาฯ จะสิ้นสุด แต่ความสัมพันธ์เชิงสัญญาให้บริการยังคงอยู่ ซึ่งสัญญาก็ไม่ได้ระบุว่าผู้บริโภคต้องใช้บริการอยู่บนคลื่นความถี่อะไร เพราะฉะนั้นเขามีสิทธิ์เรียกร้องเพื่อให้ได้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้หาก กสทช. ไม่มีการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน ก็อาจมีผู้บริโภคออกมาฟ้องร้องได้ในภายหลัง” ผศ.ดร.ปิยะบุตรตั้งข้อสังเกต

 

ราคาที่สังคมต้องจ่าย อยากให้เป็นบทเรียนอันมีค่า

นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิชาการกลุ่ม NBTC Policy Watch กล่าวเท้าความถึงสถานการณ์เมื่อปีที่แล้วก่อนหน้าที่สัญญาสัมปทานจะหมดอายุ ว่า ทางโครงการ NBTC Policy Watch ได้เคยเสนอว่า หากจัดประมูลไม่ทันจริงๆ ก็ให้โอนย้ายผู้ใช้บริการไปยังผู้ให้บริการรายอื่น และนำคลื่นย่าน 1800 ของ DTAC มารองรับลูกค้าก่อน ซึ่งลูกค้าเองก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนโทรศัพท์ใหม่ เพราะคลื่นความถี่อยู่ในย่านใกล้เคียงกัน แต่สุดท้าย กสทช. ก็เลือกใช้วิธีการประกาศมาตรการเยียวยาฯ ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่เห็นว่าผู้บริโภคได้ประโยชน์อะไร และขณะนี้ปัญหาก็วนกลับมาคล้ายเดิม

นายวรพจน์ ยังสะท้อนปัญหาต่อเนื่องว่า ในช่วงแรกที่ กสทช. ประกาศมาตรการเยียวยาฯ ผู้บริโภคมีความตื่นตัวในการโอนย้ายค่าย แต่ก็ติดปัญหาขีดความสามารถในการโอนย้ายที่จำกัด ซึ่ง กสทช. ไม่ยอมขยาย จนผู้ประกอบการหยุดส่ง SMS ประชาสัมพันธ์ไปพักหนึ่ง ทำให้เสียโอกาสในช่วงเวลาที่ผู้บริโภคกำลังตื่นตัว ซึ่งการแก้ปัญหาของ กสทช. ในครั้งนี้ คงไม่สามารถขยายระยะเวลาเยียวยาต่อไปได้อีก กสทช. จึงต้องแก้ปัญหาอย่างจริงจังด้วยการจัดทำแผนคุ้มครองผู้บริโภคของตนเองได้แล้ว ไม่ใช่รอแต่ให้ผู้ประกอบการส่ง SMS แล้วติดตามปัญหา

“ตามหลักการ การโอนย้ายผู้ใช้บริการ ต้องทำตามความสมัครใจของผู้ใช้บริการ การโอนย้ายอัตโนมัติทำไม่ได้ และอยากตั้งข้อสังเกตว่า หากบริษัททรูมูฟทำได้ ก็คงทำได้ตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว ประเด็นคือทำไม่ได้ ซึ่งสุดท้ายยังไงก็ต้องมีคนที่ซิมดับอยู่แล้ว จึงคิดว่าช่วงเวลาที่เหลือ ทุกฝ่ายควรเร่งประชาสัมพันธ์ และเมื่อถึงเวลาสุดท้ายก็ค่อยดูว่ามีผู้ใช้บริการคงค้างมากน้อยแค่ไหน หากมีปริมาณมาก ส่วนตัวก็ยังคงอยากเสนอข้อเสนอเดิมคือให้ กสทช. ย้ายผู้ใช้บริการที่ตกค้างไปยังคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตที่ยังว่างอยู่” นายวรพจน์กล่าว