อังคาร 27 พ.ค.นี้ มีเสวนา“ร่วมเตรียมการป้องกันปัญหา “ซิมดับ””

ขอเชิญร่วมงาน

เวทีเสวนา NBTC Public Forum ๒/๒๕๕๗: ร่วมเตรียมการป้องกันปัญหา “ซิมดับ”

จัดโดย ส่วนงานเลขานุการ กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา สำนักงานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

—————————————

วันอังคารที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๓.๐๐ – ๑๖.๓๐ น.

ณ ห้อง Sapphire ชั้น ๒ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพมหานคร

 

๑๓.๐๐ – ๑๓.๓๐ น.      ลงทะเบียน

๑๓.๓๐ – ๑๓.๔๕ น.      เปิดการสัมมนาและกล่าวต้อนรับ

โดย กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา และ กสทช.สุภิญญา  กลางณรงค์

๑๓.๔๕ – ๑๓.๕๐ น.      “ชะตากรรมผู้ใช้บริการหลังสิ้นสุดมาตรการเยียวยาฯ”

๑๓.๕๐ – ๑๖.๐๐ น.      เสวนา ร่วมเตรียมการป้องกันปัญหา “ซิมดับ”

โดย   -    ผู้แทนบริษัท ทรูมูฟ จำกัด

-          ผู้แทนคณะทำงานติดตามและกำกับดูแลการดำเนินการตามมาตรการ

คุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต

สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ๒๕๕๖

สำนักงาน กสทช.

-          นางสาวสุภัทรา นาคะผิว อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการ

โทรคมนาคม

-          ผศ.ดร. ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง  รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

-          อาจารย์วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง  นักวิชาการกลุ่ม NBTC Policy Watch

ดำเนินรายการเสวนาโดย นางสาวจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์*

 

(พักรับประทานอาหารว่างระหว่างการเสวนา)

 

๑๖.๐๐-๑๖.๓๐ น.         การแลกเปลี่ยนและระดมความเห็นของผู้เข้าร่วม

๑๖.๓๐ น.                 ปิดการประชุม

 

 

 

เวทีเสวนาสาธารณะ NBTC Public Forum ครั้งที่ ๒/๒๕๕๗

“ร่วมเตรียมการป้องกันปัญหา “ซิมดับ””

——————————-

๑.        หลักการและเหตุผล

จากกรณีที่สัญญาให้ดำเนินการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ บจ. ทรู มูฟ และ บจ. ดิจิตอลโฟน (ดีพีซี) ซึ่งได้รับสัมปทานจาก บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้สิ้นสุดลงไปตั้งแต่เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๖ โดยที่ยังคงมีผู้ใช้บริการค้างอยู่ในระบบจำนวนมากนับสิบล้านคน เป็นเหตุให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ๒๕๕๖ อนุญาตให้ผู้ให้บริการรายเดิมใช้คลื่นความถี่ย่านดังกล่าวให้บริการต่อไปอีก ๑ ปี โดยในระหว่างระยะเวลาที่ขยายบริการออกมานี้ก็เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดประมูลคลื่นความถี่และการโอนย้ายผู้ใช้บริการไปสู่ผู้รับใบอนุญาตที่ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ ทั้งนี้ได้มีการกำหนดหน้าที่ของผู้ให้บริการที่จะต้องแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการใช้บริการคงสิทธิเลขหมายโอนย้ายหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตนออกจากบริการของ บจ. ทรู มูฟ และ บจ. ดิจิตอลโฟน

มาถึงบัดนี้ ระยะเวลาเยียวยาตามประกาศดังกล่าวได้ดำเนินมากว่า ๘ เดือนแล้ว โดยที่ผู้ใช้บริการจำนวนมากของทั้งสองบริษัทมีการโอนย้ายออกไป ทั้งด้วยความสมัครใจดำเนินการเองและที่ถูกโอนย้ายโดยบริษัท ดังปรากฏเป็นข่าวอยู่ทั่วไป จนปรากฏผลว่า จำนวนผู้ใช้บริการคงเหลือของ บจ. ดิจิตอลโฟน มีเพียงระดับพันราย แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ใช้บริการของ บจ. ทรู มูฟ ยังคงเหลืออีกหลายล้านเลขหมาย ซึ่งแม้ไม่ใช่ว่าทุกเลขหมายที่มีการใช้งาน แต่ตามข้อมูลของบริษัทก็ระบุว่า มีเลขหมายที่ยังคงมีการใช้งานเป็นประจำประมาณ ๓.๕ ล้านราย

ประเด็นที่น่าเป็นห่วงก็คือ ด้วยระยะเวลาที่คงเหลืออีกเพียง ๓ เดือนเศษ กับประสิทธิภาพการให้บริการคงสิทธิเลขหมายที่ทำได้จำกัดประมาณ ๖๐,๐๐๐ เลขหมายต่อวัน ในขณะที่ปริมาณการโอนย้ายจริงเท่าที่ผ่านมาเกิดขึ้น โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพียงเดือนละประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ กว่าเลขหมายเท่านั้น ดังนั้นเมื่อพ้นจากวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๗ อันเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาการเยียวยาแล้ว ย่อมจะต้องมีผู้ใช้บริการที่ตกค้างอยู่อีกไม่น้อย ซึ่งก็จะประสบความเดือดร้อนจากการไม่มีบริการให้ใช้อีกต่อไป หรือที่อาจเรียกว่าอยู่ในภาวะ “ซิมดับ”

เพื่อเป็นการเปิดเผยสถานการณ์ดังกล่าวให้สังคมวงกว้างรับทราบ ตลอดจนมุ่งแสวงหาแนวทางหรือมาตรการป้องกันปัญหาที่คาดว่าอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ มิให้เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นโดยก่อความเดือดร้อนเสียหายน้อยที่สุด กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา และ กสทช. สุภิญญา กลางณรงค์ ในฐานะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จึงเห็นควรที่จะจัดให้มีการสื่อสารข้อมูล-ข้อเท็จจริง ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความรู้และมุมมองจากผู้เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ให้บริการ สำนักงาน กสทช. อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม นักวิชาการ รวมทั้งตัวแทนผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลข้อเท็จจริงและข้อคิดอันเป็นการหาทางออกร่วมกันต่อไป

ด้วยเหตุนี้จึงกำหนดให้มีการจัดประชุม Public Forum ประจำปี ๒๕๕๗ ครั้งที่ ๒ ในหัวข้อ “ร่วมเตรียมการป้องกันปัญหา “ซิมดับ”” ขึ้นในวันอังคารที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ณ โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค กรุงเทพมหานคร

 

๒. วัตถุประสงค์

๒.๑ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องและสังคมได้รับทราบและตื่นตัวกับสถานการณ์ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาขยายการให้บริการตามประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ๒๕๕๖

๒.๒ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องและผู้มีความรู้ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อกำหนดแนวทางหรือมาตรการป้องกันและบรรเทาปัญหาที่อาจเกิดขึ้น

๒.๓ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อการดำเนินงานของ กสทช.

๒.๔ เพื่อสนับสนุนภารกิจของ กสทช. ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและประเทศชาติ

 

๓. กลุ่มเป้าหมาย

๓.๑ จำนวนกลุ่มเป้าหมายประมาณ ๑๕๐ คน

๓.๒ องค์ประกอบของกลุ่มเป้าหมายได้แก่ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ผู้ปฏิบัติงานในสำนักงาน กสทช. ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ สื่อมวลชน ตัวแทนจากผู้ใช้บริการ ตัวแทนจากหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และประชาชนที่สนใจ

 

๔. รูปแบบและวิธีการดำเนินงาน

การจัดเวทีเสวนาเป็นเวลาครึ่งวัน โดยมีวิทยากรนำประเด็น และมีผู้ดำเนินรายการ รวมทั้งเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมการเสวนา

 

๕. วัน เวลา และสถานที่จัดงาน

เวทีเสวนา NBTC Public Forum ครั้งที่ ๒ ประจำปี ๒๕๕๗ หัวข้อ “ร่วมเตรียมการป้องกันปัญหา “ซิมดับ”” กำหนดจัดขึ้นในวันอังคารที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ณ โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค กรุงเทพมหานคร

๖. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

๖.๑ ผู้เกี่ยวข้องและสาธารณชนได้รับทราบสถานการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการสิ้นสุดบริการ ตลอดจนแนวทางจัดการกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น

๖.๒ มีข้อเสนอเชิงแนวคิดและวิธีการสำหรับเตรียมการเพื่อป้องกันและรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น

๖.๓ สร้างความเข้าใจในภารกิจของ กสทช. ต่อภาคส่วนต่างๆ

๖.๔ เพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคสังคมต่อภารกิจของ กสทช.

 

๗. หน่วยงานที่รับผิดชอบ

ส่วนงานเลขานุการ กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

 

—————————————