ในฐานะองค์กรกำกับดูแลควรแสดงจุดยืนอย่างไรในสถานการณ์ที่เราถูกต้อนไปจนถึงทางตันในทุกวันนี้?

20 พ.ค. 57

อรุณรุ่งวันนี้พร้อมกับการประกาศกฎอัยการศึก เป็นเดจาวูแบบสโลโมชั่นที่ท้ายสุดอาจนำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้ง เศร้าลึกซึ้ง

วันนี้ยุ่งทั้งวันกับงานที่ กสทช. ตามกำหนดการเดิม เช้ามีเวทีเรื่องสัมปทาน ทรู วิชั่นส์ หมดลง กับการดูแลผู้บริโภค บ่ายประชุมอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ แต่ไม่มีสมาธิเลย

จริงๆช่วงบ่ายทางกองทัพ หรือ กอ.รส. เขาเรียกตัวแทนหน่วยราชการรวมองค์กรอิสระไปเข้าพบเพื่อหารือ มีบอร์ดบางส่วนและเลขาธิการ กสทช. ไปร่วมประชุมด้วย แต่ดิฉันไม่ไปร่วมและคงไม่ไปแม้ถูกบังคับ …. ยืนยันทำงานตามหน้าทีปรกติของเราไปจนกว่าจะมีเหตุให้ทำไม่ได้ในอนาคตถ้ามีการฉีกรัฐธรรมนูญ ถึงขั้น ยุบ กสทช.หรืออื่นใด

ถ้ากรรมการ กสทช. ท่านใดไปรับแนวทางของ กอ.รส. มา ดิฉันเสนอให้นัดประชุมบอร์ดเพื่อหารือร่วมกันด้วย เพราะดิฉันอาจไม่เห็นด้วยกับแนวทางทั้งหมดก็ได้

ดิฉันเข้าใจเหตุผลของการประกาศกฎอัยการศึกที่ต้องการยุติเหตุความรุนแรงและการเผชิญหน้าที่อาจสูญเสียเลือดเนื้อ ถึงจุดหนึ่งจำเป็นต้องมีการควบคุมสถานการณ์ แต่ไม่เห็นด้วยที่ให้กองทัพใช้อำนาจได้แบบเบ็ดเสร็จในหลายเรื่อง เช่นเดียวกับการควบคุมสื่อสารมวลชนที่มักจะเริ่มต้นจากการขอความร่วมมือเป็นการขยายความเข้มข้นมากขึ้น การจำกัดเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ 45 อาจทำได้ แต่ต้องไม่ล้ำเส้นหรือละเมิดหลักการ ถามว่าตอนนี้ความพอดีอยู่ตรงไหน ตอบยากมากจริงๆ

สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมการเมือง และ สถานีวิทยุที่โดน กอ.รส. สั่งปิด ส่วนหนึ่งเป็นสถานีที่ออกอากาศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือผิดกฎหมายอยู่แล้ว กรณีนี้จึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายปรกติของ กสทช.

แต่สถานีอื่นๆที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. แล้ว ดิฉันคิดว่าเขาได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญระดับหนึ่ง ดังนั้น ถ้าเขาเห็นว่าการถูกปิดไม่เป็นธรรม เขาควรที่จะร้องเรียนมาที่ กสทช. ในฐานะผู้ถือใบอนุญาต หรือกระทั่งร้องไปที่ศาลได้

การใช้อำนาจต้องมีการถ่วงดุลกันเสมอ ไม่ว่าใครจะมีอำนาจในขณะนั้นๆก็ตาม

ดิฉันเห็นด้วยว่า ที่ผ่านมาในบางเรื่องเกินขอบเขตอำนาจของ กสทช. หรือ กสทช.ล้มเหลวในการกำกับดูแลสื่อการเมืองที่สร้างความเกลียดชัง ยั่วยุความรุนแรง แต่การให้อำนาจกองทัพสั่งปิดเลยแบบเต็มสูบถือเป็นการแทรกแซงสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญมาตรา 45 คุ้มครองหรือไม่ อย่างไร จุดถ่วงดุลมีไหม ใครตอบได้บ้าง

ในขณะที่รัฐธรรมนูญยังมีชีวิตอยู่ ทั้ง กอ.รส. — กสทช. — สื่อ ต่างได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจุดสมดุลย์ของการใช้อำนาจ หรือ ทางออกควรเป็นอย่างไร

ผู้บริโภคที่เป็นแฟนประจำของสถานี Bluesky หรือ Asia Update และ อื่นๆ ถ้าสถานีถูกปิดไปเรื่อยๆท่านคิดว่าสมควรหรือไม่ หรือ คิดว่าดีแล้ว?

การปิดทีวีดาวเทียมการเมืองให้หมดทุกสีอย่างเท่าเทียม หรือแม้กระทั่งควบคุมอินเทอร์เน็ต
ประเทศชาติจะได้สงบ จริงหรือไม่ ?

จุดที่ถูกต้อง ควรเป็นอย่างไร? แม้เราจะยอมรับอำนาจรัฐที่มีอยู่จริง แต่เราก็ต้องไม่หยุดตั้งคำถามเหล่านี้ เพื่อสิ่งที่เรียกกว่า check & balance จะได้ดำเนินต่อไป

กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแลที่ต้องธำรงสิทธิเสรีภาพของสื่อ และ รับผิดชอบต่อสังคมด้วย ควรแสดงจุดยืนอย่างไรในสถานการณ์การเมืองที่เราถูกต้อนไปจนถึงทางตันในทุกวันนี้?

ในฐานะเป็น กสทช. ด้านสิทธิเสรีภาพของสื่อและผู้บริโภค ดิฉันเห็นว่า อำนาจของ กอ.รส. ทับซ้อนกับ อำนาจของ กสทช. ระดับหนึ่ง ซึ่งเราต่างมีอำนาจตามกฎหมายระดับ พ.ร.บ. ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่ง กสทช. ควรธำรงความเป็นอิสระในการทำงาน ยึดเอาผลประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง และ ถ่วงดุลกับกลุ่มอำนาจทางการเมืองต่างๆ รวมทั้งอำนาจที่เบ็ดเสร็จของทหารด้วย

กสทช. ต้องเป็นองค์กรที่ยืนข้างสิทธิเสรีภาพสื่อและประชาชน แต่ก็ต้องหาทางออกให้สังคมในวันที่สื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ สร้างความเกลียดชัง หรืออาจนำไปสู่ความรุนแรง …. ในขณะที่เรากำลังรอดูอยู่ว่า การรัฐประหารจะเกิดขึ้นอีกครั้งในสังคมไทยหรือไม่ กสทช. ต้อง ร่วมกับ สถานีวิทยุ และ โทรทัศน์ที่ได้รับใบอนุญาตในการหาจุดที่สมดุลย์ระหว่าง เสรีภาพกับความรับผิดชอบ

พูดง่ายแต่ทำยาก แต่ก็ต้องทำไปเรื่อยๆ จนกว่าวันหนึ่งจะไม่ต้องทำอีกแล้ว เพราะคำสั่งคณะปฏิวัติอาจจะมายึดอำนาจจาก กสทช.ไปทั้งหมดแล้วควบคุมทุกอย่างเอง เมื่อถึงวันนั้นจริงสังคมส่วนหนึ่งอาจจะดีใจ บางส่วนอาจจะเสียใจ ส่วนตัวก็จะถือเสมือนว่าได้ตายในหน้าที่คือทำงานด้วยความเป็นอิสระจนถูกยึดอำนาจไปในที่สุด

วันนี้เป็นวันที่ ผู้นำกองทัพได้ประกาศกฎอัยการศึกผ่านโทรทัศน์ระบบคมชัดสูงแบบ HD และในวันที่ 25 พ.ค.นี้จะเป็นวันที่ กสทช.ให้ 24 ช่องใหม่ออกอากาศเต็มรูปแบบผังรายการในระบบดิจิตอลแล้ว …

แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นการเริ่มต้นใหม่ระบบดิจิตอลในภาวะกฎอัยการศึก ถ้าไม่ยอมรับว่าเศร้าก็ไม่รู้ว่าจะรู้สึกอะไรอีกแล้ว แม้จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่ก็รู้สึกหดหู่กับสิ่งที่เกิดขึ้น หดหู่กับตัวเอง เหมือนนั่งรอระเบิดเวลา ที่จะมาถึงไม่ช้าก็เร็ว ความหวังริบหรี่ลง แต่ยังมีอยู่และบอกตัวเองว่าทำหน้าที่ในวันนี้ให้ดีที่สุด จนกว่าวันที่อาจจะไม่ได้ทำหน้าที่นี้อีกแล้ว ….