วัดใจกสท. Must Carry ช่อง 3 แอนะล็อก ในดาวเทียม – เคเบิ้ล

1 ก.ย. วัดใจกสท. Must Carry ช่อง 3 แอนะล็อก ในดาวเทียม – เคเบิ้ล
ด้านช่อง 3 ทำหนังสือสอบถามการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีคลื่นสัมปทาน

 

จับตาวาระ กสท. จันทร์ 1 ก.ย. 57 – คสช.ส่งหนังสือสอบถาม กสท. เรื่องมติขยาย 100 วันเกี่ยวข้องกับคำสั่ง คสช.27/57 และช่อง 3 หรือไม่อย่างไร ด้านช่อง 3 ขอหารือเรื่องต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีในฐานะช่องสัมปทานหรือไม่ // และวาระอื่นๆ

 

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. เปิดเผยว่า วันจันทร์ที่ 1 ก.ย. นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ครั้งที่ 36/57 เตรียมพิจารณาหนังสือ คสช. ที่สอบถามมายัง กสท. ตามที่ช่อง 3 ได้มีหนังสือถึงหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช.  เพื่อสอบถามถึงแนวปฏิบัติตามมติกสท.ครั้งที่ 21 วันที่ 28 พ.ค. 57 ที่กำหนดให้ช่อง 3 ยุติการเผยแพร่รายการผ่านทีวีดาวเทียมและเคเบิล ตามประกาศ Must Carry ที่จะครบ 100 วัน ในวันที่ 1 ก.ย.นี้ หรือ ช่อง 3 จะยังมีสิทธิในการออกอากาศทุกช่องทางตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 27 ลงวันที่  24 พ.ค 57  เรื่อง การถ่ายทอดออกอากาศของสถานีวิทยุโทรทัศน์ ภาคพื้นดิน ระบบดิจิตอล และสถานีโทรทัศน์ที่ได้รับในอนุญาต สัญญาหรือสัมปทานจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ สาระที่เกี่ยวข้องคือ ข้อ1. ที่ให้ ผู้ให้บริการโทรทัศน์ดังต่อไปนี้ ออกอากาศได้ตามปกติ ผ่านทางระบบการใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดิน ดาวเทียมและเคเบิล ได้แก่ ผู้ให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ระบบแอนะล็อกตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 23/2557 และ ผู้ให้บริการโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ทั้งนี้ คสช.ได้ขอให้สำนักงาน กสทช.ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า มติกสท.เกี่ยวข้องกับประกาศ คสช.หรือไม่อย่างไร ซี่ง นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า กรณีดังกล่าว การตอบหนังสือยังมีความคลุมเครืออย่างชัดแจ้ง ซึ่งบอร์ดกสท. จะต้องถกเถียงกัน

“เรื่องนี้มีความสำคัญมากที่เราต้องยืนตามแนวทางสู้คดีในศาลปกครอง เพราะไม่อย่างนั้นเราจะไม่เชื่อมั่นในทางที่เรายืนมาเอง ซึ่งจะเป็นเดิมพันอนาคตของการปฏิรูปสื่อจากระบบสัมปทานมาเป็นรับใบอนุญาตด้วย และยังเป็นตัวชี้วัดในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีระบบดิจิตอล อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องที่ กสท.เองจะต้องทำให้ช่อง 3 แอนาล็อกออกอากาศคู่ขนานในระบบดิจิตอล เพราะไม่เช่นนั้นเกรงว่า คูปองที่จะแจกให้กับประชาชนจำนวน 11 ล้านในเดือนต.ค.นี้ จะไม่สามารถรับชมช่อง 3 แอนะล็อกได้ เพราะจะทำให้คนจำนวนมากเกิดปัญหาในโครงข่ายระบบดิจิตอลที่เป็นโครงข่ายหลักของประเทศ แน่นอนว่าจะเกิดปัญหาอื่นๆก็จะเกิดตามมา เพราะฉะนั้นในวันจันทร์ที่ 1 ก.ย. นี้จะเป็นการชี้ชะตาสำคัญที่ กสท.จะต้องยืนร่วมกันเป็นเอกภาพตามหลักการที่เราสู้มาตลอด” นางสาวสุภิญญา กล่าว

พร้อมกันนี้มีวาระช่อง 3 บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ได้ทำหนังสือขอหารือเกี่ยวกับการชำระค่าธรรมเนียมให้แก่ กสทช.หรือไม่ ในฐานะผู้รับใบอนุญาตในระบบแอนาล็อก ส่วนวาระอื่นน่าสนใจ ได้แก่ แผนการยุติการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกของผู้ได้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล วาระการอนุมัติผังรายการหลัก (ภายหลังแก้ไข) ของทีวีดิจิตอลช่อง MCOT Kid Family  วาระ แนวทางการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงหรือวิทยุ กรณีปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย วาระพิจารณา (ร่าง) ประกาศ สำนักงาน กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ตามข้อ ๕ (๑๐) ของประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๕ ซึ่งร่างฉบับนี้ จะเกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลระดับเสียงทีวีเฉลี่ยของรายการปกติและระดับเสียงเฉลี่ยของโฆษณาอยู่ในระดับที่เท่ากัน เป็นมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้ เรื่องการยกเลิกการเรียง 10 ช่องแรกในทีวีดาวเทียมและเคเบิ้ล ในการประชุมครั้งนี้ กสท. เตรียมพิจารณาเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ พ.ศ. …  ฉบับใหม่  ซึ่งผลการประชุมทั้งหมดเป็นอย่างไร ชวนจับตา…

 

 

ลำดับเวลา กรณีช่อง 3

วันที่

เหตุการณ์

3 ก.พ. 57 มติกสท.ครั้งที่ 4/57 ให้ ฟรีทีวีอะแนล็อกทั้ง 6 ช่อง ได้แก่ ช่อง 3 5 7 9 11 ไทยพีบีเอส หรือที่ กสทช.เรียกว่า ผู้รับใบอนุญาตตามบทเฉพาะกาลแห่ง พรบ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ได้สิ้นสุดการทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป หรือ ฟรีทีวี ตามข้อ 8 ของประกาศฉบับหนึ่งที่เรียกย่อๆว่า  Must carry นับจากวันที่เริ่มต้นออนแอร์ในระบบดิจิตอลทีวีแล้ว 30 วัน(ราวๆปลายเดือน พ.ค.57)
24 พ.ค. 57 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้ออกคำสั่ง ประกาศ ฉบับที่ 27/2557 เรื่อง การถ่ายทอดออกอากาศของสถานีวิทยุโทรทัศน์ ภาคพื้นดิน ระบบดิจิตอล และสถานีโทรทัศน์ที่ได้รับในอนุญาต สัญญาหรือสัมปทานจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ สาระที่เกี่ยวข้องคือ ข้อ1. ที่ให้ ผู้ให้บริการโทรทัศน์ดังต่อไปนี้ ออกอากาศได้ตามปกติ ผ่านทางระบบการใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดิน ดาวเทียมและเคเบิล ได้แก่ ผู้ให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ระบบแอนะล็อกตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 23/2557 และ ผู้ให้บริการโทรทัศน์ระบบดิจิตอล
28    พ.ค. 57 มติ กสท. 21/57 มีมติเกี่ยวข้อง 3 ข้อ ดังนี้

  1.  ขยายระยะเวลาการเป็นผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์เป็นการทั่วไป ตามประกาศ Must Carry ของฟรีทีวีแอนะล็อกทั้ง 6 ช่อง ออกไปอีก 100 วัน นับแต่วันที่ 25 พ.ค. โดยจะสิ้นสุด ณ วันที่ 1 ก.ย. เพื่อให้การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปสู่ประชาชนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทันต่อสถานการณ์ ปราศจากการบิดเบือนอันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดจนส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อย รวมถึงเพื่อป้องกันความสับสนของผู้บริโภคในระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล อย่างไรก็ดี เพื่อประโยชน์สาธารณะ กสท.อาจพิจารณาความจำเป็นในการขยายระยะเวลาในการทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปดังกล่าวอีกก็ได้
  2. ให้สำนักงานแจ้งคำสั่ง ข้อ 1 ไปยังผู้รับใบอนุญาต
  3. ขอให้สำนักงาน กสทช. นำข้อมูลการขยายระยะเวลาข้างต้นยื่นต่อศาลปกครองเพื่อชี้แจงประกอบการพิจารณาคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ก่อนการพิพากษา
30 พ.ค. 57 ศาลปกครอง มีมติรับคำฟ้องของช่องสามในคดีปกครองหมายเลขดำที่ 686/57 เรื่องขอให้เพิกถอนมติ กสท. วันที่ 4 ก.พ. 57
23 มิ.ย. 57 ศาลปกครองมีคำสั่งรับ ส.ส.ท. หรือ ไทยพีบีเอส เข้าเป็นคู่ความในคดีเป็นผู้ถูกฟ้องที่ 3 ส.ส.ท. หรือไทยพีบีเอสให้เหตุผลว่า “หากศาลจะมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่ง มติ กสท. วันที่ 4 ก.พ. ที่ให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ตามบทเฉพาะกาลของ พรบ.ประกอบกิจการฯ สิ้นสุดการเป็นผู้ให้บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป จะส่งผลกระทบต่อ ส.ส.ท.และผู้รับใบอนุญาตกิจการโทรทัศน์ดิจิตอลที่เป็นผู้ให้บริการรายใหม่ไม่สามารถเข้าถึงและเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนได้ และยังทำให้ ส.ส.ท.เกิดมีภาระค่าใช้จ่ายและต้นทุนจากการที่จะต้องออกอากาศทั้งในระบบแอนะล็อกและระบบดิจิตอลควบคู่กันต่อไปจนกว่าการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาให้ประกอบกิจการโทรทัศน์ของบ.บางกอกฯ หรือช่อง 3 จะสิ้นสุดลง ซึ่งอาจทำให้การประกอบกิจการโทรทัศน์ของ ส.ส.ท.ดำเนินไปไม่ได้ และยังก่อให้เกิดข้อได้เปรียบ เสียเปรียบในการแข่งขันในกิจการโทรทัศน์อย่างมาก โดยกำหนดให้เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ”
7 ก.ค. 57 กสท.29/57 รับทราบเรื่องการเข้าเป็นคู่ความในคดีปกครองหมายเลขดำที่ 686/57 ของ ส.ส.ท. หรือไทยพีบีเอส
13 ส.ค. 57 กสท. 33/57 มีมติแจ้งเพื่อทราบว่า “คำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว คดีหมายเลขดำที่ 686/2557 : “ตามที่ บริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด ยื่นฟ้อง กสทช. และ กสท.ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 686/2557 โดยบริษัท บางกอกฯ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาให้ศาลมีคำสั่งชะลอหรือระงับการปฏิบัติตามมติ กสท.ครั้งที่ 4/2557 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 ในการยุติการเป็นผู้ให้บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป ตามข้อ 8 ของประกาศ Must carry นั้นในการนี้ศาลปกครองได้พิจารณาคำร้องขอดังกล่าวแล้ว เห็นว่ากรณียังรับฟังไม่ได้ในชั้นนี้ว่า มติ หรือ คำสั่ง จะไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด กรณีจึงไม่อาจมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองตามคำขอได้ จึงมีคำสั่งยกคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของบริษัท บางกอกฯ
25 ส.ค. 57 ที่ประชุม กสท. 34/57 ได้เสนอวาระเพื่อทราบ เรื่องประกาศ คสช.ฉบับที่ 27/2557
1 ก.ย. 57 ที่ประชุมกสท. 36/57 เตรียมทำหนังสือตอบ ช่อง 3 และคสช. ถึงแนวปฏิบัติตามมติกสท. ครั้งที่ 21 วันที่ 28 พ.ค. 57 ที่กำหนดให้ช่อง 3 ยุติการเผยแพร่รายการผ่านทีวีดาวเทียมและเคเบิล ตามประกาศ Must Carry ที่จะครบ 100 วัน ในวันที่ 1 ก.ย.นี้ หรือ ช่องสามมีสิทธิออกประกาศได้ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 27

ดู ประกาศคสช.ฉบับที่ 27/57