สุภิญญา กลางณรงค์…สู้เพื่อทีวีดิจิตอล

สุภิญญา กลางณรงค์…สู้เพื่อทีวีดิจิตอล

รับชมคลิป คลิ้กที่นี่

การเริ่มต้นของทีวีดิจิตอลในประเทศไทย ของกสทช. มีความท้าทายต่างๆ ต้องต่อสู้กับผู้ประกอบการเดิมอย่างช่อง 3 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช.และกสท. คือบุคคลที่ขึ้นมาต่อสู้ จนนำไปสู่การฟ้องร้อง ซึ่งการปฏิรูปสื่อ เป็นสิ่งที่เธอเรียกร้องตั้งแต่เมื่อเป็น NGO จนถึงปัจจุบัน และวอยซ์ทีวี ยกให้เป็น 1 ในบุคคลแห่งปี 2557 

จากบทบาทของ NGO เพื่อเรียกร้องการปฏิรูปสื่อ มากกว่า 10 ปี สุภิญญา กลางณรงค์ มีชื่อเสียง เมื่อกลุ่มชินคอร์ปอเรชั่น ยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาท และเรียกค่าเสียหาย 400 ล้านบาท จากการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน ก่อนที่ศาลจะตัดสินยกฟ้องในอีกหลายปีต่อมา โดยเห็นว่าให้สัมภาษณ์เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบทบาทการคัดค้านสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อการรัฐประหารเมื่อปี 2549

ก่อนเข้าสมัครและได้รับเลือกเป็น กรรมการ กสทช. และกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ กสท. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จึงถือเป็นการเปลี่ยนบทบาทจาก NGO สู่ผู้กำกับดูแลที่มีอำนาจองค์กรอิสระ กว่า 3 ปีในตำแหน่ง  การลงคะแนนในบอร์ด กสทช. และ กสท. ของเธอมักเป็นเสียงข้างน้อย ที่ต่างจากกรรมการส่วนใหญ่ที่เคยเป็นทหารมากกว่าครึ่งหนึ่ง เธอมักชี้แจงและตอบคำถาม ผ่านสังคมออนไลน์ ถึงการตัดสินใจต่างๆ

แต่ปีที่ผ่านมา การเกิดของทีวีดิจิตอล สุภิญญามีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะการต่อสู้กับช่อง 3 เพื่อให้ออกอากาศคู่ขนานในระบบทีวีดิจิตอล ซึ่งตามมาด้วยวิวาทะระหว่างเธอกับช่อง 3 จนตามมาด้วยการฟ้องในคดี ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หมิ่นประมาท และกระทำผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ แม้ในที่สุด จะจบลงด้วย การออกคู่ขนานและการถอนฟ้องของช่อง 3 แต่ก็ตามมาด้วยการยื่นฟ้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ของช่อง 7  ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ ป.ป.ช.

สุภิญญา กล่าวว่า การเกิดของทีวีดิจิตอล ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงธุรกิจโทรทัศน์จากระบบสัมปทานของรัฐ เป็นการแข่งขันในระบบใบอนุญาต และการมีมติแตกหักกับช่อง 3 เพื่อให้ทีวีดิจิตอลเกิดขึ้น แต่ภารกิจข้างหน้าก็คือ การให้ทีวีดิจิตอลอยู่รอดและตั้งหลักได้ในอนาคต

ในฐานะผู้เรียกร้องการปฏิรูปสื่อในไทย สุภิญญาบอกว่า วันนี้ 3 ส่วนสำคัญ คือ รัฐ เอกชน และ ชุมชน ทำได้เพียงส่วนของเอกชน เพราะการเรียกคืนคลื่นความถี่ของรัฐยังไม่สามารถทำได้ ส่วนสื่อภาคชุมชน หรือ ประชาชน ก็ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งเวลาที่เหลือของสุภิญญา จะพยายามให้เกิดทีวีดิจิตอลชุมชนให้ได้

ขณะที่การเกิดรัฐประหารในปี 2557 ส่วนตัวเธอรู้สึกเสียใจ ในฐานะคนที่เคยเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพ แต่การเป็น กสทช.ยังทำให้เธอได้มีโอกาสที่จะทำให้สื่อได้รับคืนเสรีภาพ

ขณะที่การแก้กฎหมาย กสทช.ที่อาจส่งผลต่อการทำหน้าที่ หรือ ต้องสรรหา กสทช. ที่อาจทำให้สุภิญญา ไม่สามารถอยู่ครบวาระ 6 ปี เธอบอกว่า ขอให้ยังคงอำนาจ กสทช. ที่ยังคงเป็นอิสระ  เพิ่มการตรวจสอบ หรือ การสรรหากรรมการ กสทช. ที่รัดกุมมากขึ้น และเธอถือคติที่ว่า ทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพราะไม่รู้ว่าเมื่อถึงเวลานั้น จะกลับเข้าสู่ NGO การสอนหนังสือ หรือ บทบาทใหม่ในอนาคต

นี่คือบุคคลที่ยังคงต่อสู้การปฏิรูปสื่อ ทั้งบทบาทของ NGO และกรรมการองค์กรอิสระ ที่เธอยังคงยึดมั่นแนวทางนี้ เพราะการปฏิรูปสื่อ ไม่ใช่แค่การเปิดให้มีการแข่งขันทางธุรกิจ หรือ ความหลากหลายของสื่อเท่านั้น แต่สื่อก็สะท้อน สิทธิ และเสรีภาพ ของประชาชนในประเทศด้วยนั่นเอง

ขอบคุณที่มา Voice TV