กสทช.สอบตกดูแลผู้บริโภคเหลว

หลายฝ่ายเห็นตรง กสทช.สอบไม่ผ่าน ผลงานในรอบปีไม่เข้าตาผู้บริโภค นักวิชาการจี้เรื่องคุ้มครองผู้บริโภค
นายอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท สยามอินเทลลิเจนต์ยูนิต จำกัด กล่าวในงานเสวนา NBTC Public Forum ครั้งที่ 11 หัวข้อ “1 ปี กสทช.กับความสมหวังหรือไม่สมหวังของสังคมไทย” ว่า ผลงานที่ผ่านมาของ กสทช.ถือว่ายังสอบไม่ผ่าน ทุกวันนี้ในส่วนของการคุ้มครองผู้บริโภคยังทำไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร ยังมีเครือข่ายล่มบ่อยครั้ง ปัญหาเรื่องการหมดอายุของบัตรเติมเงิน เรื่อง Number Portability (ย้ายเครือข่ายเบอร์เดิม) ยังมีการจำกัดจำนวนอยู่
โดยในงานเสวนา นายอิสริยะได้มีการเปิดเผยตัวเลขงบประมาณรายจ่าย กสทช.ตั้งแต่ ม.ค.-พ.ย.2555 แบ่งเป็นค่าบุคลากร 960 ล้านบาท ค่าดำเนินการ 1,416 ล้านบาท ค่าสิ่งก่อสร้าง-ครุภัณฑ์ 93 ล้านบาท และเงินสมทบกองทุน 175 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 2,690 ล้านบาท
“การประมูลคลื่น 1800 ในครั้งต่อไปคาดว่าจะมีปัญหามากกว่าการประมูล 3 จี แน่นอน อยากให้ กสทช.แก้ปัญหาที่มีให้เสร็จก่อนที่จะมีการประมูลครั้งต่อไป” นายอิสริยะกล่าว
ด้านนายวรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวในมุมมองทางด้านเศรษศาสตร์ว่า ปีที่ผ่านมาถ้าให้เกรด กสทช.คือ I ไม่ใช่ F ส่วนตัวมองว่า ไม่ไว้วางใจ กสทช. ยกตัวอย่างเรื่อง เงื่อนไขการลดราคาค่าบริการ 3 จี ลง 15% ถามว่ามีรายละเอียดหรือไม่ ควรเขียนให้ชัดเจน ส่วนเรื่องเร่งด่วนที่ กสทช.ต้องทำ 1.เตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาการใช้สมาร์ทโฟนที่มีแนวโน้มว่าจะมี มากขึ้นในอนาคต 2.แนวโน้มดิจิตอลทีวี และ 4 จี ที่จะตามมาในปี 2556 โดยประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นและออกแบบ 3.การไว้วางใจ ต้องทำให้ปรากฏขึ้นจริง สร้างความน่าเชื่อถือ ใครทำผิดต้องลงโทษ ไม่ใช่เป็นแค่เสือกระดาษ 4.เชื่อว่าทุกคนที่ได้มาเป็น กสทช.ต้องมีเกียรติ ส่วนความคิดเห็นที่แตกต่างกัน หรือเป็นเสียงส่วนน้อยนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ต้องอธิบายและมีเหตุผลประกอบ
ด้านนายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  เปิดเผยว่า ภายหลังที่ กสทช.ได้ออกใบอนุญาต 3 จี ให้กับผู้ประกอบการที่ชนะการประมูลไปแล้ว คาดว่าเมื่อมีการเปิดให้บริการ 3 จี อย่างเต็มรูปแบบแล้ว สิ่งที่จะตามมาก็คือ ข้อพิพาทระหว่างผู้บริโภคที่ใช้บริการกับผู้ให้บริการ ดังนั้น กสทช.จะเร่งปรับปรุงหลักเกณฑ์การรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนข้อพิพาท ระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบการ ตลอดจนนำระบบไกล่เกลี่ยมาใช้เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค เพื่อทำให้ผู้บริโภคได้รับการดูแลอย่างรวดเร็ว.

 

ข้อมูลข่าวจาก  ไทยโพสต์