กสทช.เปิดเวทีไตรภาคี ‘จรรยาบรรณสื่อกับการโฆษณา’

กสทช.จัดเสวนาความร่วมมือไตรภาคี หัวข้อ “จรรยาบรรณสื่อกับการโฆษณาในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์” ร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค หวังส่งเสริมกระบวนการตรวจสอบกันเอง คาดสรุปรายละเอียดช่วงต้นปี 56…

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดเสวนาความร่วมมือไตรภาคี เพื่อกำกับดูแลกันเองในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ 5 หัวข้อ “จรรยาบรรณสื่อกับการโฆษณาในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์” โดยมีตัวแทนผู้ประกอบการวิชาชีพด้านกิจการกระจายเสียงจากสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 โมเดิร์นไนน์ ทีวี สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย และตัวแทนผู้ประกออบการจากภาคผู้บริโภคและนักวิชาการเข้าร่วม พร้อมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะด้วย

พ.อ.กิตติ สมสนั่น ตัวแทนจากสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 กล่าวว่า การโฆษณาผ่านสื่อจะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความเหมาะสมก่อนออกอากาศเสมอ ส่วนการนำเสนอสินค้าในละครนั้นไม่ได้เป็นการโฆษณาแฝง แต่คือการดำเนินชีวิตปกติของตัวละคร พร้อมยอมรับว่า โฆษณามีอิทธิพลต่อผู้บริโภคค่อนข้างมาก แต่เชื่อว่าผู้รับชมมีวิจารณญาณในการรับและเสพสื่อต่างๆ ได้

นายเสน่ห์ ห้องสุวรรณ ตัวแทนจากสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 กล่าวว่า สำหรับช่อง 7 มีการจัดตั้งคณะกรรมการดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว โดยยืนยันว่าพิจารณาภายใต้กฎหมายทุกอย่าง ไม่ได้ตัดสินใจโดยใช้ความรู้สึก พร้อมทั้งเชื่อว่าทุกช่องมีการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แต่ร่างประกาศตรงนี้ได้ยุติไป แต่ทุกช่องได้ใช้กฎเกณฑ์เดียวกันปฏิบัติ และยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่โฆษณาแฝง แต่เป็นการสนับสนุน

นางสาวพฤกษา อุทธมล นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า โฆษณาแฝงในสื่อโทรทัศน์ของสินค้าประเภทต่างๆ พบได้จำนวนมาก โดยนำเสนอสินค้ารวมไปกับเนื้อหาของละคร หรือรายการนั้นๆ อย่างละเอียด

นางสาวอัญญาพร พานิชพึ่งรัถ ตัวแทนเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าวว่า การโฆษณาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มักจะยกเพศหญิง หรือเด็กขึ้นมาประกอบ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นการดูหมิ่นศักดิ์ศรีเพศหญิง ขณะที่ภาพโฆษณาบางชิ้นนำเด็กมาออกอากาศในพฤติกรรมที่มีลักษณะที่เกินวัยอันควร และเมื่อผู้ปกครองเห็นจึงได้ร้องเรียน สุดท้ายโฆษณาช่วงนั้นก็ถูกลบออก และแทนที่ด้วยรุ่นแทน

นางสาวณัฐกร แก่นจันทร์ ตัวแทนจากโมเดิร์นไนน์ทีวี กล่าวว่า ในการโฆษณายอมรับว่าในแง่ของเด็กและสตรีน่าเป็นห่วง แต่มองได้ 2 แง่คือ ด้านศาสตร์ ซึ่งไม่ถูกต้อง และด้านศิลป์ ที่อาจคิดน้อยไป ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าประเทศไทย ไม่ให้โอกาสกับผู้หญิงนักและยกย่องเพศหญิง ขณะเดียวกัน ช่อง 9 มีนโยบายและมีคณะกรรมการตรวจพิจารณาชัดเจน ถ้าโฆษณาไหนผิดจรรยาบรรณอย่างชัดเจน จะไม่ออกอากาศให้ แม้จะผ่านการพิจารณามาแล้วก็ตาม

“ถามว่าโฆษณาดีๆ ก็มี ผู้ผลิตก็อยากให้โฆษณาของเขาออกอากาศ ผู้ผลิตก็มีการเลือกออกมาแล้ว แต่สุดท้ายถ้าถามหาความรับผิดชอบก็เป็นความรับผิดชอบร่วมกัน” ตัวแทนจากโมเดิร์นไนน์ทีวี กล่าว

นางสาวสิริพร สงบธรรม ตัวแทนจากบริษัท เอ็มจีเอ มีเดีย จำกัด กล่าวว่า คิดว่าทุกวิชาชีพเข้าใจจรรยาบรรณดี แต่อิทธิพลของสื่อทำให้คนทั้งรักกันและเกลียดกัน ซึ่งวันนี้ทุกคนมีความคิดแตก แต่ลืมคำว่า หน้าที่

ว่าที่ ร.ต.กำพล จิตตะนัง ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ การบิดเบือน ให้ข้อมุลครึ่งๆ กลางๆ แล้วผู้บริโภคเชื่อ ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่รอบด้าน ในส่วนที่ถูกละเลยไปไม่ได้รับการคุ้มครอง ดังนั้น ข้อเสนอแนะที่ตรงไปตรงมาคือ ถ้ามีการเสนอโฆษณาที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง หรือเกิดความความคิดแบ่งแยก สื่อก็ไม่ควรนำเสนอ


นายนิวัติ วงศ์พรหมปรีดา ตัวแทนจากสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความรับผิดชอบของสมาคมฯ ในส่วนของสปอตโฆษณาที่มีการซื้อโฆษณาและเวลา วันนี้การสื่อสารการตลาด การปรากฏของสินค้าในเนื้อหารายการเหล่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับสมาชิกของสมาคมฯ เลย และหากพูดเรื่องโฆษณาแฝง กสทช. ก็จะเชิญสมาคมฯ มาร่วมทันที ซึ่งหากมีคำว่า โฆษณาแฝงสมาคมฯ ก็ไม่อยากคุยแล้ว ทั้งนี้ มองว่าประเด็นของวันนี้ทั้งหมดเป็นความคิดเห็น ทุกคนมองต่างกันได้แต่หากมีเรื่องใดเข้ามา สมาคมฯ ก็ตรวจสอบอย่างรวดเร็ว

“ทุกวิชาชีพมีศักดิ์ศรี และมีผู้ร้ายทั้งนั้น ผมว่าสังคมต้องเปิดกว้าง ยอมรับข้อมูลข่าวสาร อยากปกป้องเด็ก แต่ต้องมีขอบเขต อย่าลิดรอนสิทธิ์ หรือถ้าตั้งแง่แล้วเปิดรับฟัง ผมก็ไม่รู้ว่าจะคุยทำไม” ตัวแทนจากสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย กล่าว

นายนิวัติ กล่าวต่อว่า ทุกเรื่องที่พูดมาเป็นเรื่องที่มีความคิดเห็น 2 ด้าน ลูกค้าบอกให้ทำ บริษัทก็ต้องทำตาม ซึ่งเรื่องดังกล่าวใครพูดจริง และเราต้องตัดสินใจเอง เพราะมีข้อมูลทั้ง 2 ด้าน ขณะที่มีบริษัทตัวแทนโฆษณาหลายรายปฏิเสธสินค้าแอลกอฮอล์ และเชื่อว่ามีหลายรายปฏิเสธทำโฆษณาการเมือง ซึ่งส่วนตัวเชื่อในสิทธิ และการแสดงความคิดเห็นเป็นพื้นฐาน

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า การเสวนาครั้งนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากปัจจุบันมีการโฆษณาแฝงผ่านสื่อโทรทัศน์ในรายการและละครต่างๆ จำนวนมาก เกินข้อกำหนดในการให้เวลาโฆษณาของฟรีทีวีในแต่ละชั่วโมง โดยมองว่าเป็นการละเมิดข้อปฏิบัติและสิทธิของผู้บริโภคในการรับชมสื่อสาธารณะในการมุ่งเป้าโฆษณาสินค้าไปยังผู้บริโภคมากเกินไป นอกจากนี้ ในเวทีเสวนาครั้งนี้ยังร่วมกันหาจุดสมดุลของการโฆษณาในภาคธุรกิจ ที่ไม่กระทบสิทธิผู้บริโภคจนเกินไป รวมทั้งให้เกิดการกำกับดูแลกันเองของวิชาชีพสื่อโทรทัศน์และการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ภายหลังการเสวนา นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า ขณะนี้ สิ่งที่สามารถทำได้เลยคือ การเรียกร้อง จริยธรรมบรรยาบรรณของสื่อ ซึ่งเวที่ครั้งนี้เป็นเวทีแรกที่ กสทช. ตั้งคำถามเรื่องนี้ แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่ผิดกฎหมาย แต่ต้องการให้เกิดความรับผิดทางสังคมที่ไม่ถูกเอาเปรียบ และเยียวยาให้แต่ละฝ่ายปรับตัว

ขณะที่กระบวนหลังจากนี้ คือ กสทช. ต้องการจะตั้งคณะทำงานร่วมกันให้ผู้ประกอบการ สมาคมโฆษณา มีช่องทางเปิดการรับเรื่องร้องเรียน ว่าต้นทางที่แท้จริงคือ บริษัทโฆษณาที่เป็นผู้ผลิต หรือเจ้าของผลิตภัณฑ์ แล้วมีการหารือร่วมกัน อย่างไรก็ตาม หากเรื่องดังกล่าวไม่มีความคืบหน้า กสทช.ก็ต้องออกประกาศเรื่องโฆษณาแอบแฝง ส่วนรสนิยมของการโฆษณาที่ไม่ตรงกัน กสทช.ยอมรับว่า กำกับดูแลยาก จึงต้องส่งเสริมกลไกจรรยาบรรณโดยให้เกิดการตรวจสอบกันเอง

กรรมการ กสทช. กล่าวต่อว่า สิ่งที่ กสทช. ต้องรีบดำเนินการมี 3 ประการ คือ 1.แก้ปัญหาโฆษณาผิดกฎหมาย โดยให้ผู้ประกอบการเคเบิลดาวเทียม เข้าสู่การกำกับดูแลโดยเร็วที่สุด 2.กำกับเวลาฟรีทีวี ซึ่งขณะนี้กฎหมายบอกว่าให้เวลาไม่เกิน ชม.ละ 12 นาที หรือ รวมทั้งวันไม่เกิน ชม.ละ 10 นาที 3.โฆษณาแอบแฝงที่ กสทช. ต้องพิจารณาว่าต้องออกกฎหรือไม่ ถ้าไม่ออกกฎจะมีทางแก้อย่างไรให้ผู้ประกอบการ หรือถ้าไม่ได้ต้องออกกฎ ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่ตัดสินใจในเชิงนโยบาย โดยคาดการณ์จะสามารถสรุปรายละเอียดได้ช่วงต้นปี 2556 หรือปีหน้า.

ข้อมูลข่าวจาก  Thairath Online