จับตาวาระ กสท. ส่งท้ายปี:เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยระบบการประมูล และเตรียมพิจารณาความชอบทางกฎหมายการถือครองคลื่นเดิม

จับตาวาระ กสท. ส่งท้ายปี
เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยระบบการประมูล
และเตรียมพิจารณาความชอบทางกฎหมายการถือครองคลื่นเดิม

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ครั้งที่ 47 วันจันทร์ที่ 23 ธ.ค. นี้ กสท.เตรียมออกมาตรการรักษาความปลอดภัยของระบบการประมูลเพิ่มเติม ภายหลังมีการทดสอบระบบการประมูลในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนจะมีการประมูลจริงในวันที่ 26 – 27 ธ.ค.ที่จะถึงนี้

นอกจากนี้ วาระส่งท้ายก่อนสิ้นปี กสท.เตรียมพิจารณาบทวิเคราะห์การพิจารณาความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่และกำหนดระยะเวลาการถือครองคลื่นความถี่ของกิจการโทรทัศน์บอกรับสมาชิกด้วยเทคโนโลยี MMDS ของกรมประชาสัมพันธ์ และบริษัทเวิลด์สตาร์ทีวี(ไทยแลนด์) จำกัด ที่เสนอโดยคณะอนุกรรมการพิจารณาความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และวาระ รายงานผลการพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของสัญญาทางธุรกิจเกี่ยวกับกิจการโทรทัศน์ ระบบ DVB-T/H บนคลื่นความถี่ UHF ช่อง 58 ระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับบริษัท อินเตอร์เนชั่นเนิลเอนจิเนียริ่ง จำกัด(มหาชน)(ไออีซี) เสนอโดยคณะอนุกรรมการพิจารณาสัญญาสัมปทานด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า “จันทร์นี้ เป็นการประชุมกสท.วาระส่งท้ายปีก่อนการประมูลทีวีดิจิตอลจะเริ่มขึ้น ซึ่งจากการซ้อมประมูลในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างราบรื่น แต่ยังมีความกังวลอยู่บ้างในเรื่องความปลอดภัยของระบบ ซึ่งจะมีการเสนอมาตรการเพิ่มเติมต่อไป รวมถึงเพิ่มจำนวนบุคลากรที่จะดูแลปัญหาต่างๆที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งป้องกันเหตุ หรือ อาจมีผู้ไม่หวังดีเข้ามาโจมตีระบบให้เกิดเหตุขัดข้องได้ 

นอกจากนี้ การพิจารณาความจำเป็นของหน่วยงานรัฐเดิมที่ยังถือครองคลื่นเดิมก็เริ่มมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ในวันจันทร์นี้จะมีการพิจารณาเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐเดิมบนคลื่นจะมีความชัดเจนมากขึ้นว่ามีความชอบด้วยกฎหมายในการถือครองหรือไม่ ซึ่งจะเป็นบรรทัดฐานในการถือครองสิทธิบนคลื่นความถี่ที่เหลือของหน่วยงานรัฐต่อไป

และแม้ว่าการประชุมครั้งนี้ กสท. ยังไม่นำวาระ ร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับเนื้อหาตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ เข้าพิจารณา ซึ่งตนมีความเห็นว่า สำนักงานควรนำข้อสังเกตจากคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย หรือ คปก. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นข้อบัญญัติต่างๆที่ขัดกับกรอบกฎหมายมาพิจารณาร่วมด้วย ซึ่งตนเองอาจเสนอแนวปฏิบัติเพื่อเป็นทางเลือกต่อ กสท. แทนร่างประกาศฯที่อาจสุ่มเสี่ยงตามข้อกฎหมายและขัดต่อสิทธิเสรีภาพ แนวปฏิบัติที่ควรทำนี้ เพื่อที่จะเป็นแนวพิจารณาของบอร์ดกสท.ทั้ง 5 คน รวมถึงการอิงความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆข้างนอกเข้าร่วมพิจารณาตัดสินตามมาตรา 37 ด้วย…” ทั้งหมดนี้ติดตามผลในการประชุมกสท. …