อนุคุ้มครองมีมติ ไม่ต่อใบอนุญาตช่องดาวเทียมที่โฆษณาผิดกม.อาหารและยาซ้ำซาก

คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีมติ
ไม่ต่อใบอนุญาตช่องดาวเทียมที่โฆษณาผิดกฎหมายอาหารและยาซ้ำซาก

 

          คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มีมติไม่ต่อใบอนุญาตให้กับช่องดาวเทียม OHO Channel  และช่องรายการ Mix 24 Variety   หลังพบการโฆษณาอาหารและยาที่ฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยอาหารและกฎหมายว่าด้วยยา     อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ชี้ว่าจงใจกระทำความผิดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรงต่อผู้บริโภค  ชงเข้าบอร์ดจันทร์นี้  และทำหนังสือเตือนอีก 20 ช่องรายการที่มีโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพหลอกลวงผู้บริโภคให้ระงับโฆษณาดังกล่าวด้วย

 

       น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์    กรรมการ กสทช.  ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์  กล่าวว่า   ในการประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ  ครั้งล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา มีวาระสำคัญพิจารณาใบอนุญาตของผู้ขอรับใบอนุญาต  2 รายที่เคยได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารและยาที่ไม่ได้รับอนุญาต  คือ บริษัทอาธีน่า มีเดีย จำกัด ออกอากาศชื่อช่อง OHO Channel และบริษัทมิกซ์  วาไรตี้ จำกัด ออกอากาศชื่อช่องรายการ Mix 24 Variety  ซึ่งในการประชุม กสท. เมื่อวันที่ 20  มกราคม  ที่ผ่านมามีมติให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ พิจารณาผู้ประกอบการที่มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นการขัดหรือแย้งกับการกำกับดูแลด้านการคุ้มครองผู้ใช้บริการ  ให้พิจารณาภายใน 30 วัน  เพื่อนำเสนอผลการพิจารณาไปประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตต่อ กสท.อีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ได้เชิญผู้แทนทั้ง 2 บริษัทมาชี้แจง ร่วมกับผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  มาร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาการร้องเรียนดังกล่าว และบริษัททั้งสองได้ส่งหนังสือชี้แจงมาว่าจะควบคุมและป้องกันการเผยแพร่โฆษณาผลิตภัณฑ์  ซึ่งก่อนหน้านี้ อย.และ กสทช.เคยทำหนังสือแจ้งระงับการออกอากาศหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปแล้ว แต่จากการติดตามการออกอากาศระหว่างวันที่ 1-7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมายังคงพบการโฆษณาอาหารและยาที่ผิดกฎหมายผลิตภัณฑ์เดิม

ที่ประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าควรเสนอต่อ กสท.ไม่ต่อใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการทั้ง  2 ราย หลังจากที่ใบอนุญาตเดิมสิ้นสุดลง  เนื่องจากมีการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาหารและยา และถือว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคฯ ตามประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ.2555  และพบการกระทำความผิดโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเสริมอาหารที่หลอกลวงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค  ซึ่งจะนำมติดังกล่าวเสนอในการประชุม กสท. ในวันจันทร์หน้านี้(17 ก.พ. 57)

ด้าน  นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม  รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา  กล่าวว่า  ที่ผ่านมา อย. ประสานงานและทำงานร่วมกับ กสทช.  โดยตลอด  โดยเฉพาะกรณีที่มีผู้บริโภคร้องเรียนการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารหรือยาทางดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี  หรือวิทยุกระจายเสียงต่างๆ   ซึ่งเมื่อ อย. ตรวจสอบพบว่าไม่ได้รับอนุญาตการโฆษณาหรือขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์กับ อย.  จะมีการส่งหนังสือแจ้งระงับโฆษณาไปยังผู้ประกอบการ และส่งมายัง กสทช.เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายที่ กสทช.มีอำนาจในการกำกับด้วย  ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาได้วางการทำงานประสานงานที่เป็นระบบมากขึ้น สำหรับโทรทัศน์ดาวเทียมทั้ง 2  ช่อง  อย. ได้รับการประสานจาก กสทช. เนื่องจากมีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามา     จากการตรวจสอบแล้วพบว่า มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพฝ่าฝืน มาตรา 41  พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522   อย.ได้ส่งหนังสือให้ระงับโฆษณาและให้มาจ่ายค่าปรับตามกฎหมาย    แล้ว  รวมถึงแจ้งข้อมูลการติดตามตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพช่องดาวเทียมที่เคยได้รับเรื่องร้องเรียนมาให้ กสทช.ประกอบการพิจารณาด้วย

ผมดีใจที่ข้อมูลจาก อย. เป็นประโยชน์ในการทำงานกำกับสื่อ ของ กสทช.  และร่วมกันแก้ไขปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกม.ในสื่อร่วมกันมาอย่างดีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา  ผมหวังว่าปัญหานี้จะค่อยๆ คลี่คลาย และผู้ประกอบการสื่อคงจะให้ความร่วมมือในการระมัดระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้บริโภคสื่อที่ไม่ต้องรับสื่อที่หลอกลวง  โอ้อวดเกินจริง ”  รองเลขาธิการ อย.กล่าวทิ้งท้าย

       ผศ.ดร.เอื้อจิต  วิโรจน์ไตรรัตน์  รองประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์  กล่าวว่า  ในการพิจารณาวาระนี้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณากันอย่างรอบคอบ และมีมติให้เสนอต่อ กสท. ไม่ควรต่อใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย  เนื่องจากมีข้อมูลยืนยันจาก อย.ว่ามีการกระทำความผิดจริง  และยังคงกระทำผิดอยู่เช่นเดิม  ถือว่าจงใจกระทำความผิดดังกล่าว   หากยังคงให้มีการออกอากาศต่อไปมีความเสี่ยงต่อผู้บริโภคที่จะถูกหลอกลวงจากโฆษณาต่างๆ เหล่านี้  เพราะเราเคยพบว่ามีผู้บริโภคไม่น้อยที่หลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์ไปแล้วต้องเสียสุขภาพ  เสียทรัพย์ และมีบางรายถึงกับเสียชีวิตก็มี

ในฐานะรองประธาน และนักวิชาการดูแลเรื่องสื่อ และเป็นผู้บริโภค  อย.ก็ทำหน้าที่มาอย่างยาวนาน และน่าเห็นใจ เพราะมีช่วงสุญญากาศ  ได้เกิดสื่อมากมาย  เรื่องที่เข้ามาสู่อนุฯ คือ วิทยุกระจายเสียง  และโทรทัศน์ดาวเทียม จากที่มอนิเตอร์  พบว่ามีหลายช่องเปิดขึ้นมา

นอกจากนี้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ รับทราบว่าสำนักงาน กสทช.ได้แจ้งเตือนผู้ประกอบกิจการช่องดาวเทียมไปแล้วอีก  20 ช่องรายการเพื่อขอให้ระงับการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารและยาที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยอาหารหรือกฎหมายว่าด้วยยา  ซึ่ง อย.ได้แจ้งเข้ามาว่าทั้ง 20 ช่องรายการนี้มีการกระทำความผิดจริง  และแจ้งข้อมูลไปยังกลุ่มงานการอนุญาตประกอบกิจการ ที่ดูแลเรื่องการให้ใบอนุญาตแล้ว  ดังนั้นเรื่องร้องเรียนที่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ  พิจารณาหากพบการกระทำที่เป็นความผิดจะถูกบันทึกไว้ซึ่งจะมีผลในการต่อใบอนุญาตครั้งต่อไปด้วย

 

—————————————–

ข่าวเกี่ยวข้อง
“สุภิญญา” ยืนกรานไม่ต่อไลเซนส์ช่อง “OHO-Mix 24 Variety”

“สุภิญญา”ชงกสท.ไม่ต่อใบอนุญาตทีวีดาวเทียม 2 ช่อง โฆษณาผิดกม.

ยึดไลเซนส์โฆษณาเกินจริง อนุฯ คุ้มครองผู้บริโภคฟัน 2 ช่องดาวเทียมผิดกฎหมาย