กสทช.เป็นองค์กรอิสระก็จริง แต่ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่แบบฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล…

Sum up today: 12 มี.ค. 57

วันนี้ให้สัมภาษณ์ Thai Deaf Channel รายการทีวีสำหรับคนหูหนวกที่ สำนักงาน กสทช.ให้การสนับสนุน เป็น Model ทีวีเพื่อส่งเสริมสิทธิคนพิการและขยายผลเป็นแบบอย่างให้ทีวีดิจิตอล 24 ช่องต่อไป

บ่ายเป็นประธานการหารือร่วมกับตัวแทนบรรณาธิการข่าวทีวีจากช่องต่างๆรวมฟรีทีวี ทีวีดาวเทียมและช่องทีวีการเมืองเพื่อจะยกระดับกรอบจรรยาบรรณการนำเสนอร่วมกัน

ดีใจที่ทุกช่องเห็นชอบร่วมกันให้มีการกำหนดกรอบจรรยาบรรณสื่อในการนำเสนอข่าวสารท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังจะยืดเยื้อไปอีกนาน

เย็นนั่งตรวจคำบันทึกสงวนความเห็นแย้งจากประชุมบอร์ดใหญ่ กสทช. เดือนที่ผ่านมาเพื่อส่งให้สำนักประชุมฯรวบรวมในรายงานการประชุมก่อนรับรองในการประชุมประจำเดือนนี้ในสัปดาห์หน้า

พรุ่งนี้ต้องไปต่างจังหวัดมีสัมมนาสรุปงานร่วมกับทีมของ กสทช.ประวิทย์ ที่ดูแลงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคม เพื่อการอัพเดทข้อมูลข่าวสารระหว่าง 2 บอร์ดที่พักหลังต่างคนต่างยุ่งกับงานในบอร์ดของตนเอง ไม่ได้แลกเปลี่ยนกันเลย จะได้รู้ว่ามีประเด็นอะไรควรเฝ้าระวังในบอร์ด กทค. ฝั่งโทรคมนาคมบ้าง รวมทั้งขอความเห็นจาก กสทช.ประวิทย์ในการเสนอแนะงานของบอร์ดฝั่ง กสท.ด้วย

ส่วนความคืบหน้าในเรื่องโครงการ subsidy คูปองเพื่อไปแลกซื้อกล่องรับสัญญาณหรือทีวีเครื่องใหม่ ตอนนี้บอร์ด กสท.กำลังเร่งสรุป 2-3ประเด็นสำคัญดังนี้

1. จะให้หน่วยงานรัฐใดเป็นคนจัดพิมพ์คูปอง
ให้หน่วยงานรัฐหรือเอกชนใดเป็นคนส่งคูปองถึงบ้านครัวเรือน
รวมทั้งกรรมวิธีในการขึ้นทะเบียนกล่องเข้าร่วมโครงการและการไปแลกคูปองเป็นเงินที่ธนาคารของผู้ประกอบการ เป็นต้น

มีข้อเสนอให้ใช้ฐานข้อมูลครัวเรือนจากผู้ใช้ไฟฟ้า เพราะจะครอบคลุมกว่าฐานตามทะเบียนราษฎร์ของกระทรวงมหาดไทย เพราะทุกเดือน ทุกครัวเรือนที่ดำรงชีวิตจริงๆต้องจ่ายค่าไฟกับการไฟฟ้าฯ เป็นต้น ถ้าให้ไปรษณีย์ช่วยส่งคูปองไปยังครัวเรือนเหล่านี้ก็จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้รับคูปองที่แทนค่าเงินสด จากนั้นต้องทำการประชาสัมพันธ์จุดที่ขายกล่องหรือทีวี รวมทั้งจัดฝึกอบรมขนานใหญ่ให้กับคนขายกล่องและทีวีตามห้างร้านต่างๆต่อไป

มีคนเสนอให้ใช้ร้านสะดวกซื้อหน้าปากซอย ในชุมชน เป็นจุดแลกคูปองด้วย แต่ก็ต้องดูว่าจะเป็นการกีดกันทางการค้ากับผู้ขายกล่องรายอื่นๆที่ไม่ได้มีการเจรจาธุรกิจกับร้านเหล่านั้นหรือไม่ อีกทั้งประเด็นยิบย่อยอื่นๆอีกมากมายที่บอร์ด กสท. ต้องสรุปให้ได้ฉันทามติ และ ส่งให้บอร์ดใหญ่ กสทช.อนุมัติ แล้วส่งไปบอร์ดกองทุนฯ เพื่อนำเงินในกองทุนออกมาจัดสรรตามโครงการต่อไป ซึ่งมีข้อเสนอจากองค์การผู้บริโภคให้ทำด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ฯลฯ

กสทช.เป็นองค์กรอิสระก็จริง แต่ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่แบบฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล ที่จะไปสั่งข้าราชการประจำอย่างกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงไอซีที หรือกระทรวงมหาดไทยได้ ดังนั้น กสทช.ต้องออกแบบการสนับสนุนคูปองซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของนโยบายประชานิยมให้กะทัดรัด จบในตัว ไม่ต้องพึ่งพากลไกของฝ่ายบริหารหรือการเมืองมาก เพราะช่วงนี้ยังอยู่ในช่วงการเลือกตั้งด้วย

แต่จุดอ่อนคือเราต้องแบบรับภาระการดูแลประชาชน 22 ล้านครัวเรือนเอง รวมประชากรพลัดถิ่นนอกระบบทะเบียนราษฏร์ ซึ่งเป็นภารกิจระดับชาติที่ใหญ่พอควร

2. กสท. ต้องสรุปว่า จะเพิ่มมูลค่าของคูปองจาก 690 บาทให้มากขึ้นหรือไม่ หรือจะให้กลไกตลาดที่ Demand เพิ่มขึ้นทำให้ราคากล่องและทีวีในท้องตลาดลงราคาลงมาเอง เพราะจะมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นทุกปี หรือจะขยายมูลค่าคูปองเพื่อรวมถึงค่าใช้จ่ายในการซื้อเสาอากาศเพิ่มเติมสำหรับครัวเรือนหรือบ้านที่อยู่ในจุดอับสัญญาณ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของผู้บริโภคอีก

3. กสทช.ต้องสรุปว่า จะขยายสิทธิ์ในการสนับสนุนคูปองไปยังครัวเรือนที่ไม่มีทะเบียนราษฎร์เพราะย้ายภูมิลำเนามานานแล้วด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานหรือคนมีรายได้น้อยต่างๆ รวมไปถึงการจัดทำโครงการพิเศษส่งเสริมการเข้าถึงสำหรับคนพิการ คนขาดโอกาส เป็นต้น กำลังจะเปิดให้มีเวทีระดมความเห็นจากกลุ่มภาคประชาชนอาทิผู้ใช้แรงงาน ชุมชนแออัด คนพิการ เร็ววันนี้

นอกจากนั้น ตอนนี้ 3 สิ่งที่ กสทช.ต้องเร่งทำตามลำดับคือ

1. ตรวจสอบความพร้อมของผู้ให้บริการโครงข่ายฯ (MUX) ในการส่งสัญญาณทั้ง 4 ราย คือ ThaiPBS – อสมท. – ททบ. – กรมประชาสัมพันธ์ จากข้อมูลล่าสุดคือยังมีบางรายไม่พร้อม 100%

2. ตรวจสอบความพร้อมของผู้ประกอบทั้ง 24 รายที่ชนะการประมูลว่าดำเนินการตามเงื่อนไขในใบอนุญาตครบหรือยัง ก่อนพิจารณาให้ใบอนุญาตภายใน 90 วัน เพื่อเริ่มการออกอากาศอย่างเป็นทางการ

3. สรุปแผนการแจกคูปองตาม 3 ข้อข้างต้น ประเด็นสำคัญคือ ต้องทำให้มีสัญญาณไปถึงบ้านรออยู่แล้วก่อนกล่องไปถึง จากนั้นให้ 24 ช่องส่งรายการออนแอร์ แล้วกล่องตามไป ถ้ากล่องไปรออยู่ก่อน แต่เปิดมาแล้วไม่เจอสัญญาณทีวีดิจิตอลจากผู้ให้บริการโครงข่ายฯ ประชาชนจะเซ็งทันที

ตอนนี้ผลการทดสอบสัญญาณของผู้ให้บริการโครงข่ายฯ ยังไม่เสถียร 100% แต่บอร์ด กสท. มีมติให้ สำนักงานเร่งหาคำตอบจากผู้ประกอบการทั้ง 4 รายในเร็ววันนี้

ส่วนแผนการประชาสัมพันธ์ความเข้าใจก็ให้ผู้ประกอบการโครงข่ายทั้ง 4 ราย รวมทั้งช่องทีวีดาวเทียมเสนอแนวทางที่จะให้สื่อทีวีที่มีอยู่ในการช่วยรณรงค์ทำความเข้าใจต่อประชาชน เพราะฟรีทีวีเข้าถึงประชาชนมากกว่า 90% อยู่แล้ว

ทางชมรมผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลฯ ก็จะส่งแผนการรณรงค์ทำความเข้าใจมาให้ กสทช.เช่นกัน หวังว่าจะทันเข้าบอร์ด กสท. เช้าวันจันทร์นี้ พร้อมวาระข้อเสนอจากองค์กรผู้บริโภคที่มายื่นหนังสือผ่านดิฉันเมื่อวานนี้ ได้มอบให้ สำนักงาน เสนอวาระเข้าบอร์ดแล้วเช่นกัน

ปล. ต้องจับตาความคืบหน้าการจัดสรรทีวีดิจิตอลประเภทบริการสาธารณะอีก 8 ช่อง ที่เริ่มมีความเคลื่อนไหวจากภายใน กสทช.แล้ว ส่วนตัวยังยืนยันความเห็นที่เคยค้านไปแต่เดิมว่า ก่อนจัดสรรคลื่นทีวีสาธารณะในระบบทีวีดิจิตอลอีก 8 ช่อง กสท./กสทช. ควรออกหลักเกณฑ์การประกวดคุณสมบัติหรือกติกา Beauty contest เพิ่มเติมก่อน

เพราะทีวีดิจิตอลธุรกิจใช้ระบบการประมูล แต่ทีวีดิจิตอลบริการสาธารณะ ไม่ใช้การประมูลแต่ใช้การประกวดคุณสมบัติ ถ้า กสทช.ยังไม่มีกรอบในการให้คะแนนตามกติกา Beauty contest อาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันและการใช้สิทธิในคลื่นความถี่ของสาธารณะได้