ซาอุดิอาระเบีย : งานประชุมสุดยอดสื่อมวลชนแห่งเอเชียแปซิฟิก

 

รายงานการเข้าร่วมประชุม Asia Media Summit 2014

ระหว่างวันที่ ๖ – ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๗

ณ กรุงเจดดะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย

โดย ส่วนงาน กสทช.สุภิญญา กลางณรงค์

———————————————————

        งานประชุมสุดยอดสื่อมวลชนแห่งเอเชียแปซิฟิก(Asia Media Summit หรือ AMS) เป็นการประชุมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยสถาบันพัฒนากิจการวิทยุโทรทัศน์แห่งเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Institute of Broadcasting Development หรือ AIBD) ซึ่งเป็นองค์กรสื่อสาธารณะระหว่างประเทศมีสมาชิกกว่า ๑๒๐ องค์กร จาก ๓๐ ประเทศทั่วภูมิภาค การประชุมนี้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์งานด้านสื่อสาร รวมทั้งสร้างความร่วมมือระหว่างกันเพื่อพัฒนากิจการด้านสื่อสารมวลชนในภูมิภาคเอเชียให้มีความก้าวไกล ซึ่งการประชุม AMS ๒๐๑๔ ครั้งที่ ๑๐ นี้ เป็นการดำเนินงานภายใต้แนวคิด สื่อและความหลากหลาย : เพิ่มคุณค่าและประสบการณ์ด้นกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์”  “Media and Diversity: Enriching the Broadcasting Experience” โดยมีผู้เข้าร่วมจากหลายภูมิภาค ๕๐ ประเทศ กว่า ๕๐๐ คน ในที่ประชุมได้มีการนำเสนอและแลกเปลี่ยนประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้

 

ความท้าทายในการกำกับดูแลข่าวสารที่หลากหลายผ่านโทรทัศน์ดาวเทียม

การเกิดขึ้นของกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมที่ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและข้อมูลข่าวสารระหว่างประเทศในปัจจุบัน ได้ทำให้คลื่นความถี่นำพาวัฒนธรรมไปทุกแห่ง ซึ่งเป็นการเปิดให้ผู้บริโภคสื่อได้รับรู้ถึงความหลากหลายของแนวคิด ความเห็น หรือมุมมองใหม่ และทำให้เกิดประโยชน์ด้านเศรษฐศาสตร์และการเมืองของประเทศที่เกี่ยวข้อง แต่สิ่งที่มาพร้อมกับประโยชน์เหล่านี้คือความเสี่ยงที่จะเกิดวัฒนธรรมที่มีรูปแบบแบบแผนเดียว และอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อวัฒนธรรมของแต่ละภูมิภาคที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา ทีวีดาวเทียมที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในหลายๆ ภูมิภาคของโลก ซึ่งในทางหนึ่งก็เป็นผลดีต่อความหลากหลายของสื่อ แต่ผลเสียของจำนวนช่องรายการที่มากขึ้น จึงทำให้ไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลในภาพรวมของบางประเทศ และภาพรวมของภูมิภาค หรือของโลก เช่น ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลในภาพรวมว่าควรจะมีการออกอากาศอะไร อย่างไร เมื่อใด จึงมีข้อเสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรกลางในการกำกับดูแล ทั้งในระดับภูมิภาค (กลุ่มประเทศอาหรับ) และระดับโลก ทำให้ปัจจุบันดูเหมือนว่า ใครก็ได้ที่มีเงิน ก็สามารถขึ้นไปออกอากาศได้โดยง่ายผ่านดาวเทียม (เปรียบได้ว่าไปบนฟ้าได้ Reach the sky) ซึ่งความรับผิดชอบเป็นสิ่งจำเป็นในปัจจุบัน ซึ่งอาจสร้างโดยการใช้กฎหมายกำกับดูแล แต่อีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็น คือ ต้องมีหลักปฏิบัติทางวิชาชีพ (Professionalism) ความหลากหลาย (Diversity) โดยการสร้างให้เกิดความตระหนักถึงสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ (Right of criticism)

ในงานประชุม ได้กล่าวถึงสถานการณ์สื่อในโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงจากกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ไปสู่กิจการผ่านอินเทอร์เน็ต การผูกขาดตลาดสื่อโทรทัศน์ค่อยๆ คลายลงเมื่อคนใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น คนใช้โทรศัพท์ในการรับชมโทรทัศน์มากขึ้น และในโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็มีความฉลาดและมี Application ด้านรายการมากขึ้น ตัวอย่างของประเทศจีน CNTV (China Network Television) ได้ทำ Application รายการ I love Africa เพื่อแข่งขันกับสื่อในรูปแบบเดิม (Traditional Media) http://africa.cntv.cn/

สถานี France 24 มุ่งเน้นการผลิตเนื้อหาข่าวที่เป็นอิสระและไม่ถูกแทรกแซง ไม่เน้นการนำเสนอข่าวในประเทศ (ฝรั่งเศส) มีความหลากหลายของมุมมองและความคิดเห็น มุ่งเน้นความชาญฉลาดของสังคมและ อภิปรายแนวคิดต่างๆ France 24 จึงมีความเป็นสากลในเชิงของคุณค่าและหลักการในการประกอบกิจการ โดยให้บริการกับหลายพื้นที่ทั่วโลก เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่ต้องการความหลากหลายของแนวคิด ความเห็น ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นสื่อจากประเทศที่มีอิทธิพล ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา หรือสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ โทรทัศน์ดาวเทียม ทำหน้าที่ในการสร้างความหลากหลายของสื่อในพื้นที่ต่างๆ ของโลก

สถานี Fiji TV ให้บริการในหลายพื้นที่ ทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบางส่วนของตะวันออกกลาง โดยมีช่องรายการ ได้แก่ Fiji One และกลุ่มรายการของ Sky Pacific ดำเนินการโดยมีนโยบายในการสร้างเนื้อหาที่เป็นของภูมิภาค (เนื่องจากกลุ่มประเทศที่เป็นเกาะขนาดเล็กในมหาสมุทรแปซิฟิก) และมีเนื้อหาจากต่างประเทศ ต่างพื้นที่บางส่วน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดผลกระทบของสื่อต่างประเทศที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมและความคิดเห็นของภูมิภาค มุ่งเน้นด้าน วัฒนธรรมและศาสนา กีฬา และครอบครัว

การเกิดขึ้นของโทรทัศน์ดาวเทียมจากประเทศต่างๆ ก่อให้เกิดความหลากหลายในเนื้อหารายการมากขึ้น ไม่ใช่มีเฉพาะสื่อที่มาจากสหรัฐอเมริกา หรือสหราชอาณาจักร หรือสื่อกระแสหลักเท่านั้น แต่มีสื่อใหม่ รวมทั้ง Application จำนวนมาก ที่ส่งเสริมให้สื่อมีความหลากหลาย ในขณะที่องค์กรสื่อจัดทำข้อปฏิบัติ (Code of Conduct) ซึ่งเป็นแนวทางในการทำให้สื่อมีความรับผิดชอบ และส่งเสริมเสรีภาพด้านการแสดงออกทางความเห็น (Freedom of Expression) เช่น ในประเทศตูนิเซีย ส่วนข้อกำหนดด้านการกำกับดูแล ซึ่งเป็นเหมือนการสร้างถนน (Set of the Road) สำหรับสื่อ เป็นแนวทางให้เดินร่วมกันตามกรอบ ซึ่งเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกทางความเห็น แต่กฎหมายต่างๆ ก็มีความจำเป็นเพราะการอยู่ร่วมกันต้องมีกรอบ มีแนวปฏิบัติทางวิชาชีพ ทุกฝ่ายต้องเข้าใจตรงกันว่า การกำกับดูแลเป็นไปเพื่อความสงบสุขของประเทศ โดยต้องยอมสละเสรีภาพบางส่วน ในกลุ่มประเทศอาหรับ มีข้อตกลงร่วมกันในเรื่องการกำกับดูแลและการแสดงอกทางความเห็น ซึ่งกำหนดในสิ่งที่จำเป็น

ในแง่ของการกำกับดูแลเนื้อหารายการที่มากมาย อาจถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความหลากหลาย แต่ขณะเดียวกันก็มีโอกาสที่จะเป็นความหลากหลายบนความวุ่นวายอยู่ไม่น้อย ทั้งนี้เนื่องจากมีหลายของรายการที่ไม่เคารพกติกาและมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นหลักปฏิบัติ และการจัดการร่วมกันจึงเป็นสิ่งจำเป็น รวมถึงการปกป้องเด็กและเยาวชนจากสื่อที่ไม่ดี ก็ต้องมีแนวปฏิบัติ มีข้อตกลงระหว่างประเทศเช่นกัน เพราะโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมไม่ได้ให้บริการภายในประเทศเท่านั้น การตกลงร่วมกันเป็นการคุ้มครองสิทธิของบุคคล ของครอบครัว และของเด็กและเยาวชน เพราะเป็นที่เข้าใจว่าสื่อมีอิทธิพลมาก ดังนั้นจึงต้องมีความรับผิดชอบ มีมาตรฐานทางจริยธรรม โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาหรับและประเทศมุสลิม

 

การปรับตัวขององค์กรกำกับ อุตสาหกรรม และผู้บริโภคภายใต้รูปแบบใหม่ ๆ ในการบริการข้อมูลข่าวสาร

ทุกวันนี้คงยากที่ทุกคนจะคิดถึงชีวิตที่ขาดโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคจำนวนมากใช้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ทั้ง ๒ สื่อต่างก็มีความใกล้ชิดกันและกัน และด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งโทรทัศน์และเว็บก็มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น มีการมีส่วนร่วมมากขึ้น และมีความคงอยู่นานขึ้น สำหรับโทรทัศน์ผ่านโทรศัพท์เป็นช่องทางใหม่ที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมากขึ้น อย่างสถานีโทรทัศน์ NHK ญี่ปุ่น เปิดให้บริการ “Hybrid-cast” ออกอากาศระบบร่วมกันของโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ต (Web) ซึ่งโทรทัศน์ปัจจุบัน Smart TV ทำให้โทรทัศน์กับเว็บ เชื่อมโยงกันง่ายขึ้น สามารถนำเสนอรายการพร้อมกับให้ข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นเพิ่มเติมได้ ซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกเปิดปิด เป็นความทันสมัยของเทคโนโลยี ในการทดลองออกอากาศนี้ มีบริการในลักษณะต่างๆ ได้แก่

๑) Multi-view Camera คือ มีการออกอากาศรายการโดยปกติ แต่สามารถไปเลือกมุมกล้องอื่นที่ต้องการได้ทางเว็บไซต์ของ NHK

๒) Highlight Scene คือ บริการที่สามารถเลือกกลับไปรับชมภาพในช่วงเวลาสำคัญได้ทางเว็บไซต์ของ NHK ในขณะที่รายการทางสื่อกระแสหลักก็ออกอากาศตามปกติ

๓) Join Quiz Show Program คือ การจัดรายการที่มีการถามตอบ และให้ผู้บริโภคสามารถโต้ตอบในรายการได้โดยผ่านเว็บไซต์

๔) Keyword Service (related data) คือ บริการที่ให้ผู้บริโภคสื่อสามารถเข้าเว็บไซต์ไปสืบค้นคำสำคัญ และเลือกรับชมรายการที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องได้

งานศึกษาจากประเทศออสเตรเลีย พบว่า ปัจจุบัน คนรับสื่อ ๓ ช่องทางในเวลาเดียว สื่อต้องปรับตัว เผชิญกับการผลิตเนื้อหา ซึ่งต้องมีมากขึ้นถึง ๓ เท่า มากกว่า ๒๔ ชั่วโมงในแต่ละวัน และยังพบว่า ผู้บริโภคสื่อไม่เพียงแต่รับสื่อ แต่ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ในระหว่างที่รับชมโทรทัศน์ด้วย เช่น e-mail ค้นหาข้อมูลทางเว็บไซต์ และติดต่อสื่อสารทางสังคมออนไลน์ ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของสื่ออย่างมาก โดยต้องปรับตัวให้มีเนื้อหาทางสังคมออนไลน์ควบคู่กัน เพื่อยังคงให้ผู้บริโภคสื่อมีความสนใจในรายการ และสื่อเองก็ต้องติดตามข้อมูลทางสังคมออนไลน์ด้วย ทั้งติดตาม มีส่วนร่วมและบริหารจัดการชื่อเสียงของสื่อ

ในการนำเสนอได้มีการเปลี่ยนแปลงเทคนิคต่างๆ อาทิ ทางโทรทัศน์ เช่น ละครจะใช้ภาพแทนกล้องโทรศัพท์เคลื่อนที่ และมีการนำเกมมาเล่นในรายการต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตสร้างแรงบันดาลใจในรูปแบบใหม่ๆ ดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงไปนำเสนอทางเว็บไซต์ด้วย

ประเทศเกาหลีใต้ เว็บและโทรทัศน์ หลอมรวมเข้าด้วยกัน ซึ่งคนจำนวนมากใช้สื่อทั้ง ๒ ชนิดในเวลาเดียวกัน เช่น ร้อยละ ๗๕ ใช้โทรศัพท์ต่ออินเทอร์เน็ตขณะที่รับชมโทรทัศน์ ร้อยละ ๗๐ ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในการรับชมวิดีโอ และร้อยละ ๔๙ ใช้ Application ช่วยในการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับรายการที่กำลังชมอยู่ พบว่าคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากยังคงเป็นคนรุ่นใหม่ ที่ใช้มากกว่าคนรุ่นเก่า

ด้านผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์เอง ต้องเผชิญกับความตึงเครียดที่เกิดจากการกำกับดูแลสื่อ ซึ่งโดยธรรมชาติการกำกับดูแลเป็นการจำกัดเสรีภาพ ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญในสังคมประชาธิปไตยหลายสังคม ซึ่งวัตถุประสงค์ของการกำกับดูแลสื่อ มีดังนี้

๑) คุ้มครองประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับรัฐ เช่น ความมั่นคงของรัฐ

๒) ปกป้องสาธารณะและความสงบเรียบร้อย

๓) ปกป้องไม่ให้เกิดอันตรายต่างๆ เช่น การปกป้องเด็กจากเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม

๔) ธำรงไว้ซึ่งพฤติกรรมที่เหมาะสม

๕) ปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศ

๖) ส่งเสริมมาตรฐานทางวัฒนธรรม ภาษาประจำชาติ เป็นต้น

๗) ป้องกันการครอบงำทางการค้า หรือพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมในตลาด

๘) คุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัว เช่น การได้รับการยอมรับ ชื่อเสียง

๙) คุ้มครองประโยชน์ที่ได้รับการจดแจ้งอื่นๆ เช่น ลิขสิทธิ์

๑๐) ส่งเสริมความมีประสิทธิภาพทางเทคนิค และการปฏิบัติอย่างมีมาตรฐาน

ด้านประเภทของการกำกับดูแล

๑) กฎหมาย (Legal) ซึ่งอาจเป็นกฎหมายที่กำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรหรือจารีตประเพณี โดยทั่วไปมีการกำหนดโทษอย่างชัดเจน และใช้ในการปกป้อง / ส่งเสริมประโยชน์ต่างๆ

๒) อาสาสมัคร (Voluntary) หรือการกำกับดูแลกันเอง / ตนเอง เป็นกฎในระดับ “Soft” เช่น มาตรฐานการปฏิบัติ (Codes of Conduct) ซึ่งจะไม่ใช้การกำหนดโทษที่รุนแรง (อาจไม่มีการลงโทษก็ได้) ใช้สำหรับการปกป้อง / ส่งเสริมประโยชน์ที่ไม่ได้กำหนดไว้ตามกฎหมาย

๓) ระบบร่วม (Hybrid) ขึ้นอยู่กับกลุ่มองค์กรของอุตสาหกรรม แต่ภาครัฐมีส่วนร่วม ซึ่งจะมีความแตกต่างของบทลงโทษตามแต่เรื่อง

กรณีประเทศไทย คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จัดตั้งขึ้นเมื่อ ๒ ปีกว่า โดยมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ในการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ แบ่งการอนุญาตเป็น ๒ ประเภทตามกฎหมาย คือ กิจการที่ใช้คลื่นความถี่ ซึ่งมีประเภทบริการสาธารณะ บริการชุมชน และธุรกิจ และกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ซึ่งมีประเภทช่องรายการ โครงข่าย และสิ่งอำนวยความสะดวก

ในช่วงก่อนการเกิดของ กสทช. มีวิทยุกระจายเสียงที่กระจายอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆ เลือกคลื่นความถี่เพื่อดำเนินการเองโดยยังไม่ได้รับการจัดสรร และช่องรายการโทรทัศน์ดาวเทียมเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่ง กสทช. เร่งออกใบอนุญาตเพื่อเข้าสู่ระบบการกำกับดูแล โดย กสทช. ส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง ลดการใช้อำนาจในบางเรื่อง เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการกำกับดูแลโดยใช้กฎหมาย กับการส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกทางความเห็น ตัวอย่างหนึ่งในการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง คือ การใช้ระบบการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์กับผู้ชมกลุ่มอายุต่างๆ (Classification) ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้กิจการฯ มีความรับผิดชอบ

การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอล เป็นภารกิจอีกประการหนึ่งที่ กสทช. ดำเนินการ ได้เปิดประมูลกิจการทางธุรกิจจำนวน ๒๔ ช่อง โดยมีทั้งความคมชัดในระบบ HD และ SD และจะออกใบอนุญาตให้กับกิจการบริการสาธารณะและชุมชนต่อไป รวม ๔๘ ช่อง

ในประเทศมาเลเซีย กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ประกอบด้วย ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มภาครัฐ กลุ่มผู้ประกอบกิจการในอุตสาหกรรม และสาธารณชน ซึ่งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม / วัฒนธรรม มีอิทธิพลต่อการดำเนินการของกิจการ ทุกกลุ่มต้องร่วมกันสร้างความสมดุลของการกำกับดูแลโดยคำนึงถึงอิทธิพลของกิจการในมิติต่างๆ การกำกับดูแลควรกำหนดโดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ โดยกระบวนการต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ กำกับดูแลให้น้อย มีความเป็นกลางทางเทคโนโลยี (Technology Neutrality) และมุ่งคุ้มครองผู้บริโภค ด้านมุมมองหลักของการกำกับดูแล คือ ๑) ต้องมีการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพ บนพื้นฐานความรับผิดชอบและสามารถตรวจสอบได้ ๒) ต้องกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม ๓) คำนึงว่าทรัพยากรต่างๆ มีอยู่อย่างจำกัด ๔) คำนึงว่าความต้องการและผลประโยชน์มีความหลากหลาย ๕) ต้องสร้างความมีประสิทธิภาพในทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี และ ๖) การกำกับดูแลมีความจำเป็นเพื่อสร้างความเจริญให้กับสังคมและอุตสาหกรรม

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ได้แก่ ๑) ภาครัฐ เช่น กระทรวง คณะกรรมการ หน่วยงานต่างๆ ๒) ผู้ประกอบกิจการในอุตสาหกรรม เช่น ช่องรายการ ผู้ให้บริการเคเบิล ดาวเทียม ไอพีทีวี ฯลฯ และ ๓) สาธารณะ ซึ่งมีความหลากหลาย เช่น ชนบท เมือง ศาสนา วัฒนธรรม ระดับการศึกษา ฯลฯ โดยมีปัจจัยภายนอกที่กำหนด คือ เศรษฐกิจ การเมือง และสังคมและวัฒนธรรม

ประเทศมาเลเซียส่งเสริมให้มีการกำกับดูแลกันเอง (Self-regulation) ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของ The Communications and Multimedia Act 1998

สถานีโทรทัศน์ NHK ใช้รูปแบบการดำเนินการกิจการบริการสาธารณะจากอังกฤษ คือ British Broadcasting Corporation (BBC) โดยใช้เงินจากการเก็บค่าธรรมเนียมการรับชม (License Fee) ในการประกอบกิจการ จึงมีความเป็นอิสระจึงทำให้ต้องรับผิดชอบต่อผู้ชมเป็นหลัก NHK ใช้ระบบการกำกับดูแลตนเอง (Self-regulation) ในเรื่องของเนื้อหามีการเปิดช่องทางให้ร้องเรียน และมีหลักประกันของการส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (Freedom of Expression) ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ไม่ได้มีการจัดตั้งองค์กรในการกำกับดูแลเนื้อหารายการ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ คือ กระทรวงข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารทำหน้าที่ในการตัดสินใจเชิงนโยบาย การออกใบอนุญาต การให้คำแนะนำในการบริหารจัดการ ข้อเสนอสำหรับญี่ปุ่น คือ ๑) การจัดตั้งหน่วยงานอิสระในการกำกับดูแลในญี่ปุ่น ๒) คงไว้ซึ่งระบบการกำกับดูแลตนเอง เพื่อให้มีเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็น

ประเทศจีนมีจุดมุ่งหมายหลักในการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ได้แก่

๑)      มุ่งให้เกิดข้อกำหนดให้มีการบริการสาธารณะที่มีคุณภาพสูงและให้มีส่วนร่วม

๒)      คุ้มครองสิทธิในการรับรู้และการแสดงออกของผู้รับสื่อที่สอดคล้องกับความต้องการสินค้าทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย

๓)      ลดข้อจำกัดทางนโยบายและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ของจีนในปัจจุบัน

๔)      สร้างความรับผิดชอบของสื่อ

๕)      เร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านข้อมูลข่าวสารและวัฒนธรรม

๖)      จัดตั้งระบบกำกับดูแลสื่อตามหลักวิทยาศาสตร์และหลักเหตุผล

นอกจากนี้ในการประชุมได้มีการอภิปรายถึงการทำหน้าที่ของสื่อในฐานะ “สุนัขเฝ้าบ้าน (Watchdog) มีบทเรียนที่สำคัญของบางประเทศที่น่าสนใจ ดังนี้

ประเทศตุรกี สื่อมวลชนมีเสรีภาพและมีความเป็นอิสระจากอิทธิพลต่างๆ สูง บทบาทของสื่อในการเป็นสุนัขเฝ้าบ้านขึ้นกับความเชื่อใจของสาธารณะที่มีต่อสื่อ (Public Trust) ประเทศจีน คนให้ความนิยมในการนำเรื่องราวส่วนตัว เรื่องจากประสบการณ์ของตนเองไปเผยแพร่ทางสื่อ สื่อจึงมีหน้าที่ในการสะท้อนเรื่องราวของสังคมจากความนิยมนั้น นอกจากนี้ สื่อยังทำหน้าที่ในการติดตามและรายงานเรื่องการทุจริต คอร์รัปชั่นให้กับสาธารณชนทราบ

ประเทศอินโดนีเซียแม้จะเป็นประเทศที่ไม่ได้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมายาวนาน แต่มีนโยบายในการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยในหลายๆส่วน โดยสื่อเป็นส่วนสำคัญในระบอบประชาธิปไตย และทำหน้าที่ในการส่งเสริมการบริหารจัดการภาครัฐที่ดี (Good Governance) มีรายการคุยกับประธานาธิบดี และเปิดให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ถามคำถามให้ประธานาธิบดีตอบได้

กรณี เหตุการณ์อาหรับสปริง (Arab Spring) แสดงให้เห็นถึงการทำหน้าที่สุนัขเฝ้าบ้านของสื่อในกลุ่มประเทศอาหรับ เพราะการที่สื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสาร เป็นการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ในซาอุดิอาระเบีย กิจการบริการสาธารณะหลายสถานีได้ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงาน ซึ่งต่างจากกิจการทางธุรกิจที่มุ่งทำหน้าที่ในการสร้างผลประโยชน์ให้กับบริษัทมากกว่าการทำหน้าที่สุนัขเฝ้าบ้าน ดังนั้น การทำหน้าที่สุนัขเฝ้าบ้าน เป็นการส่งเสริมให้เกิดเสรีภาพด้านการแสดงออกทางความคิดเห็น การเสนอแนวคิด และการพูด การปฏิรูปในด้านต่างๆไม่ได้เกิดจากการทำหน้าที่ของสื่อโดยตรง แต่เกิดจากประชาชนที่มีข้อมูลมากเพียงพอในการตัดสินใจ โดยสื่อเป็นเพียงเครื่องมือในการส่งผ่านข้อมูลข่าวสารจากการตรวจสอบ การอบรมผู้สื่อข่าว นักวิชาชีพ ที่ยังมีความจำเป็น โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจในบทบาทของสื่อมวลชนในการทำหน้าที่สุนัขเฝ้าบ้าน โดยเฉพาะในหลายประเทศไม่มีสื่อที่ทำหน้าที่ดังกล่าว หรือไม่มีผู้สื่อข่าวที่มีความรู้เรื่องการทำหน้าที่นี้มากเพียงพอ ในกลุ่มประเทศอาหรับ ไม่มีองค์กรกลางที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบและเฝ้าระวังการทำงานของภาครัฐ จึงต้องมีการส่งเสริมนโยบายและส่งเสริมการจัดตั้งองค์กร ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่ขึ้นตรงกับสถาบันสื่อ หรือการสร้างความตระหนักในบทบาทของสื่อในการทำหน้าที่ดังกล่าว กลไกหรือระบบในแต่ละประเทศอาจมีความแตกต่างกัน เนื่องจากประเทศต่างๆ มีลักษณะเฉพาะตัว ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และตัวสื่อเอง เพราะฉะนั้น จะมีรูปแบบ ข้อกำหนดที่เป็นแนวทางเดียวกันไม่ได้ รวมทั้งในบางประเทศ มุ่งเน้นการจัดการกับระบบการออกใบอนุญาตและกำกับดูแลสื่อเป็นสำคัญก่อน โดยถือว่าเรื่องบทบาทของสื่อเป็นสิ่งที่ตามมา

 

บทบาทสื่อมวลชนภายใต้สถานการณ์ภัยพิบัติ

ประเด็นเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่สื่อมวลชน ในการประชุมกล่าวถึงความสำคัญในการนำเสนอข่าวในช่วงเกิดเหตุภัยพิบัติ เพื่อให้คนมีข้อมูลในการตัดสินใจดูแลตัวเอง โดยแบ่งออกเป็นช่วงการนำเสนอข่าว ๓ ช่วง คือ ๑) ก่อนเหตุการณ์ (Prepare Before) เป็นการเตรียมการ เพราะไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดภัยพิบัติหรือความไม่สงบได้ ๒) ระหว่างเหตุการณ์ (Support During) เป็นการให้ข้อมูลสนับสนุนทั้งภายในพื้นที่ และนอกพื้นที่เหตุการณ์ ๓) หลังเหตุการณ์ (Inform After) เป็นการสนับสนุนการฟื้นฟูผู้ประสบภัย และพื้นที่

ประเทศฟิลิปปินส์ การได้ลงพื้นที่รายงานข่าวในช่วงพายุไต้ฝุ่น Haiyan ซึ่งถือว่ามีความรุนแรงมาก เกิดความสูญเสียมาก เนื่องจากผู้คนไม่ได้รับรายงาน ไม่มีการรายงานผลการพยากรณ์ล่วงหน้า ผู้คนจึงไม่ได้อพยพ จึงแสดงให้เห็นว่า การสื่อสาร ข้อมูลข่าวสารมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และการเตรียมตัวทำให้ลดการสูญเสียได้ รวมทั้งผู้สื่อข่าวที่จะทำหน้าที่ก็ต้องมีการเตรียมตัวเช่นกัน ทั้งในด้านของการมีข้อมูลสำหรับตนเอง ความปลอดภัย รวมไปถึงการเตรียมอุปกรณ์การรายงาน เตรียมอาหาร / น้ำดื่ม ฯลฯ ให้พร้อม บทบาทของสื่อหลังจากภัยพิบัติ คือ การทำหน้าที่รายงานพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือ เพื่อรณรงค์ให้เกิดความช่วยเหลือ และมีข้อมูลที่ความช่วยเหลือจะลงในพื้นที่ได้อย่างตรงจุด ในขณะเดียวกัน ก็สื่อสารถึงผู้ประสบภัยถึงความช่วยเหลือที่จะมาถึง ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวอาจพบเห็นภาพความเสียหายอันนำไปสู่ความโศกเศร้า เสียใจ หดหู่ จึงต้องมีความเข้มแข็งในการปฏิบัติหน้าที่ให้ลุล่วง

ประเทศศรีลังกาบทเรียนจากเหตุการณ์สึนามิ (Tsunami) แบ่งบทบาทของสื่อแบ่งได้เป็น ๒ ช่วงคือ ๑) ระบบการแจ้งเตือนล่วงหน้า และ ๒) ระบบการสื่อสารภายหลัง ต้องแยกบทบาทระหว่างการทำหน้าที่สื่อ กับการเป็นผู้ช่วยเหลือ โดยสื่อมีหน้าที่ในการรายงานข่าว การสื่อสาร เช่น การรายงานความเสียหาย การค้นหาผู้สูญหาย ใคร อยู่ที่ใด ต้องการความช่วยเหลืออะไร สื่อควรทำหน้าที่รายงานสถานการณ์ ดังนี้ การบริหารจัดการและการป้องกันภัยพิบัติ การสื่อสารไปยังผู้ประสบภัยและสังคมภายนอก ผลของภัยพิบัติที่มีต่อชุมชนแต่ละชุมชนและประเทศในภาพรวม โดยสรุปการทำหน้าที่ของสื่อในช่วงภัยพิบัติถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ต้องอยู่เคียงข้าง (Side by side) กับประชาชน เมื่อเกิดสถานการณ์ที่มีเหตุฉุกเฉิน สื่อมีบทบาทมาก คือ วิทยุ เนื่องจากโทรทัศน์ได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะเสาส่ง และสถานี ในขณะที่ประชาชนก็ไม่มีไฟฟ้าที่จะใช้ในการรับโทรทัศน์ ซึ่งวิทยุมีการใช้แบตเตอรี่ ทำให้สามารถรับฟังข้อมูลข่าวสารได้หรือรับวิทยุได้ผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ นอกจากนี้ วิทยุยังให้ข้อมูลในพื้นที่จริงได้ ซึ่งต่างกับโทรทัศน์ที่ครอบคลุมพื้นที่กว้าง ไม่สามารถรายงานได้ทั่วถึง และคนก็มีความรู้สึกมีส่วนร่วมกับวิทยุมากกว่า ส่วนบทบาทของโทรทัศน์ เป็นแหล่งข้อมูลข่าวในภาพกว้าง หลักสำหรับประชาชน เช่น ข่าวสถานการณ์ รายงานขจากภาครัฐ สภาพของผู้รอดชีวิต (เพื่อให้ครอบครัวมีการติดตามหากันได้) สภาพของการดำรงชีวิต (ไฟฟ้า การสื่อสาร การเดินทาง) บทบาทของอินเทอร์เน็ต เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ และใช้เชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารกับสื่อกระจายเสียงและโทรทัศน์ได้ด้วย เช่น รายละเอียดที่ไม่มีเวลามากพอ หรือภาพที่ไม่สามารถออกอากาศได้ สถานีฯก็สามารถนำไปลงในอินเทอร์เน็ตในการช่วยกระจายข้อมูลในรายละเอียดได้ ในการทำงานที่เป็นประโยชน์ภายหลังจากมีเหตุการณ์ภัยพิบัติแล้ว คือ “การจดจำและการย้อนรำลึก” (To Remember and To Remind) กล่าวคือ มีการสืบค้นมูลและรายงานเกี่ยวกับกลไกของภัยพิบัติที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นบทเรียน รวมถึงถอดบทเรียนกุญแจสำคัญในการมีชีวิตรอด และกระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อม นอกจากนี้ ยังเป็นเครื่องมือการส่งกำลังใจและความช่วยเหลือต่างๆ จากภายนอกประเทศได้ด้วย

 

ความท้าทายของสื่อใหม่

ในประเด็นความท้าทายของสื่อใหม่ เขตบริหารพิเศษมาเก๊า สถานี TDM มีห้องข่าว ๗ ห้อง ซึ่งมีศูนย์ข่าว (News Center) ที่สอดรับกับการไหลเวียนของข้อมูลข่าวที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีส่วนงานสื่อใหม่ (New Media Unit) เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ข่าว เพื่อทำหน้าที่ในการหาข้อมูลทางสื่อสังคม เพื่อเชื่อมโยงกับผู้รับสื่อรุ่นใหม่ รวมทั้งทำหน้าที่ในการฝึกอบรมนักข่าวในการใช้กระบวนการทางการสื่อสารรูปแบบใหม่ ใช้ Facebook / Wechat เป็นช่องทางในการเผยแพร่ข่าว Wechat เพื่อเชื่อมโยงกับผู้รับสื่อในจีนแผ่นดินใหญ่ที่ห้ามการใช้ Facebook) ความท้าทายคือ โครงสร้างมีขนาดเล็กจึงยากที่จะสร้างกลยุทธ์ทางการสื่อสารผ่านทางสื่อสังคมที่มีประสิทธิภาพได้ รวมทั้ง พนักงานบางส่วนอาจต่อต้านการเปลี่ยนแปลงไปสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่

ผู้บริโภคในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เริ่มพบว่า มีการอัพเดทข้อมูลข่าวสารตลอดเวลา ไม่ยอมที่จะพลาดข่าวสาร มีการแสดงความคิดเห็นและแบ่งปันประสบการณ์อย่างทันท่วงที และมักจะมีคำถามว่า “ทำไม” แล้วจึงใช้สื่อในการแสวงหาคำตอบ และเมื่อได้รับคำตอบแล้วก็พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมและแบ่งปันให้ผู้อื่นรู้ด้วย ดังนั้น เส้นแบ่งระหว่างการเป็นผู้ส่งสารและผู้รับสารจึงไม่ชัดเจน รวมทั้ง เส้นแบ่งระหว่างสื่อเก่า – สื่อใหม่ นักข่าว – ผู้ใช้สื่อสังคม อาชีพ – งานอดิเรก เป็นต้น ในเมื่อทุกอย่างเปลี่ยนไป ผู้บริหารสื่อจะต้องเข้าใจ ปรับองค์กรไปสู่แนวทางใหม่ เพื่อตอบรับต่อการเปลี่ยนแปลง โดยคำนึงว่า การใช้สื่อสังคมอาจไม่ใช่เรื่องของวัย (Age) อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของความสนใจใครรู้ (Curiosity) ในห้องข่าว (Newsroom) ประเทศฟิจิ คนหนึ่งคนจะทำหน้าที่หลายอย่าง จะต้องมีการฝึกอบรมให้คนทำงานเป็นทั้งในด้านโทรทัศน์และ Multimedia เปลี่ยนแปลงจากนักข่าวทั่วไป (Regular journalist) ไปสู่ Multimedia Journalist การทำงานในลักษณะห้องข่าวทำให้ประหยัดงบประมาณมากขึ้น

NHK ญี่ปุ่น มีแนวทางในการติดตามสื่อสังคม และใช้สื่อสังคมในการกระจายข้อมูลข่าวสาร และให้ข้อมูลในเชิงลึกที่สื่อโทรทัศน์ไม่สามารถทำได้เนื่องจากมีเวลาจำกัด เปิดช่องทางให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในการส่งข้อมูลต่างๆ ในรายการ Scoopbox โดยจะได้คัดเลือกและนำมาออกอากาศ (ประมาณร้อยละ ๑๐) ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องระวัง คือ ความน่าเชื่อถือของข้อมูล ต้องมีการตรวจสอบและระมัดระวังในการนำเสนอ

Radio Republik Indonesia (RRI), Indonesia RRI เป็นกิจการบริการสาธารณะ โดยมีความเป็นอิสระ และมุ่งเน้นการมีส่วนร่วม ในขณะที่คนต้องการประชาธิปไตย สื่อสามารถส่งเสริมให้เกิดกระบวนการทางประชาธิปไตย โดยต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ช่องทางที่หลากหลาย การมีส่วนร่วมของสาธารณะ การสร้างการวิจัย และความเป็นมืออาชีพ

ช่วงสุดท้ายของงานประชุมมีประเด็นน่าสนใจคือ ความเป็นอิสระ ไม่ได้รับอิทธิพลทางการเมือง ซึ่งเป็นปกติที่นักการเมืองพยายามมีอิทธิพลเหนือสื่อ พยายามสั่งให้สื่อนำเสนอในสิ่งที่ต้องการ สื่อจึงต้องมีความมั่นคงในการปฏิบัติตามจริยธรรมของสื่อ กฎหมายไม่ได้ตอบสนองต่อความต้องการของทุกคนได้ high standard of dignity and professionalism และเรื่องความหลากหลายมิติที่เกี่ยวข้อง อย่างในประเทศมาเลเซียมีความหลากหลายมากทั้งทางเชื่อชาติ และศาสนา ทำให้มาเลเซียต้องมีนโยบายในเรื่องของความหลากหลาย ทั้งในเชิงสังคมและสื่อ รวมไปถึงความหลากหลายของ platform เพราะปัจจุบันไม่ใช่มีแค่สื่อวิทยุ โทรทัศน์ เท่านั้น แต่ยังมีสื่อใหม่ด้วย และกระบวนการในการผลิตรายการต้องมีความหลากหลาย มีความท้าทาย ทั้งจากองค์กรสื่อภายในประเทศ และกระแสของโลก การพัฒนาบุคลากรจึงต้องรองรับต่อความหลากหลายนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสื่อและประเทศ รวมทั้งต้องมีการติดตามและประเมินผลว่าสื่อได้ดำเนินการตามแนวทางของการส่งเสริมความหลากหลายหรือไม่ อย่างไร

————————————

ดาวน์โหลดรายงานเดินทางราชอาณาจักรซาอุดีอารเบีย