ฝ่ายเซ็นเซอร์ช่องทีวีเปิดใจว่าเป็นงานที่ทำดีเสมอตัว แต่ถ้าพลาดจะโดนลงโทษทางกฎหมายและสังคม

Sum up 31 ส.ค. 57

Summary of the meeting with content screening teams from digital tv stations coaching for related regulations & content classification #1. More to develop self-regulation for a better standard balancing of freedom, laws & ethics.

วันนี้เช้ามีงานประชุม ร่วมกับทีมงานฝ่ายตรวจสอบเนื้อหาก่อนออกอากาศหรือทีมเซ็นเซ่อร์ของฟรีทีวีดิจิตอลน้องใหม่โดยมีช่อง7เป็นโคชแนะแนวเบื้องต้น

ดีใจที่ได้มีโอกาสเจอหน้าและพูดคุยกับคนที่ทำงานสำคัญจริงๆของสถานี คือผู้อยู่เบื้องหลังที่กลั่นกรองเนื้อหาก่อนออนแอร์ เป็นงานที่ยากและชวนเครียด

ตัวแทนฝ่ายเซ็นเซอร์ช่องทีวีเปิดใจว่าเป็นงานที่ทำดีเสมอตัว แต่ถ้าพลาดจะโดนลงโทษทางกฏหมายและทางสังคม ทำให้ช่องเสียชื่อ

วันนี้เวลาน้อยแต่ติวรวมๆ ทั้งแนวทางกลั่นกรองรายการทั่วไป และโฆษณาซึ่งช่อง7 จะมี Code ที่ค่อนข้างละเอียด

แทนที่จะให้ตัวแทนภาครัฐหรือนักวิชาการมาแนะแนวช่อง วันนี้เราให้ช่องเขาแนะแนวกันเอง ดูบรรยากาศดีกว่า คือเขาเข้าใจกันแต่ก็ได้เปรียบเทียบกัน (แบบว่าช่องเธอเข้มจัง มากกว่าช่องเรา ไรงี้)

หลังจากนี้จะมี workshop ต่อเนื่องลงรายละเอียด ให้แต่ละช่องนำตัวอย่างรายการหรือโฆษณาที่มีปัญหามาถกกัน ติวกัน ว่ามันเหมาะไหม อยู่เรตอะไร ผิดกฏหมายไหม

วันนี้ในวงมีคำถามน่าสนใจจากหลายช่องเรื่องความสับสนในการกลั่นกรองเนื้อหาที่ไม่ขัดกฏหมาย เราจะไปหาข้อมูลเพิ่มให้และจะประสานกับหน่วยงานที่ถือกฏหมายและมีความรู้เช่น อย. สสส. สคบ. และภาคประชาสังคมที่มอนิเตอร์เรื่องนี้ด้วย

ช่องดิจิตอลใหม่ๆยังไม่คุ้นเรื่องกฏหมายเฉพาะเช่นการควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กฏหมายอาหาร ยา เครื่องสำอางค์ เครื่องมือแพทย์ (อย่างถุงยางอนามัย หรือผ้าอ้อมผู้ใหญ่ก็ถือเป็นเครื่องมือแพทย์ด้วย)

จริงๆ โฆษณามีกฏหมายกำกับละเอียด ทางฝ่ายเซ็นเซ่อร์ช่องต้องทำการบ้านมากขึ้น แต่พวกรายการละคร วาไรตี้ มักจะเทาๆ ต้องใช้ดุลยพินิจสูง ส่วนแนวทางการจัดเรทความเหมาะสมด้านเนื้อหานั้น กสทช. มีแนวปฏิบัติให้แล้ว แต่ช่องอาจตีความและมีมาตรฐานต่างกันไป ก็ต้องทำ coaching ติวเข้มกันต่อเนื่อง หาจุดสมดุลย์ระหว่าง เสรีภาพ vs. กฏหมาย จรรยาบรรณ vs. ธุรกิจ

วันนี้สนุกดี ได้คุยกับคนทำงานเชิงลึกตัวจริงเสียงจริงในการตัดสินใจว่าจะเบลอฉากไหน ตัดฉากอะไรออก ทำให้เข้าใจหัวอกเขามากขึ้น ทางช่องคงต้องให้โอากาสทีมงานของตนได้เรียนรู้มากขึ้น แบบที่ส่งพนักงานมาร่วมกับ กสทช.ในวันนี้

ขอบคุณทีมวิทยากรช่อง 7 ที่มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์แนะแนวบทเรียนที่ดีและที่ผิดพลาดในอดีตให้กับช่องใหม่ๆ ได้ฟังแนวการเซ็นเซ่อร์ของช่อง 7 ก็อึ้งเหมือนกัน ละเอียดมาก เช่นเขาไม่ยอมปล่อยภาพขวดนมเด็กในการโฆษณานมผง เพราะขัดหลักเด็กทารกควรดื่มนมแม่

รายการประเภทเอาผู้หญิงมานั่งโฆษณาอาหารเสริม เมื่อก่อนช่อง 7 ก็เคยทำ แต่เมื่อเจอ อย. เตือนบ่อยๆ ก็เลิกทำมา 10 ปีแล้ว (จึงไปโผล่ในทีวีดาวเทียมแทน)

ช่อง ThaiPBS แม้ไม่มีโฆษณาแต่ก็โดนบอร์ดนโยบายสอบเรื่องถ่ายทอดสดกีฬาแข่งบอลแล้วเผลอไปเห็นแผ่นป้ายของสปอนเซอร์เบียร์ในสนาม (เขาดูละเอียดขนาดนั้นเลย)

หลังจาก coaching แนะแนวการกลั่นกรองเนื้อหาก่อนออก ระหว่างช่องกับช่องกันเองแล้ว ต่อไปจะจัดให้ฝ่ายเซ็นเซ่อร์ช่องมาพบกับคนดูผู้บริโภคบ้าง จะได้ถกกันหายคาใจ ว่าทำไมช่องถืงเบลอฉากนั้น แต่ไม่ตัดฉากนี้ มีเกณฑ์ชัดหรือนานาจิตตัง

จะทำให้งานของช่องร่วมสมัยแต่ระวังมากขึ้น จากนี้คงต้อง coaching ติวเข้มกันต่อเนื่อง ได้ฝากประเด็นของทุกท่านที่ได้ยื่นหนังสือและเสนอแนะมาแล้วด้วยค่ะ แต่จะต้องทำงานเพิ่มอีกโดยสำนักส่งเสริมการแข่งขันและกำกับดูแลกันเอง กสทช. ร่วมกับทุกช่องและภาคประชาสังคม

จริงๆอยากให้ทั้งฟรีทีวีดิจิตอล 24+ 3 ช่องตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองเนื้อหากลางขึ้นมา เมื่อมีปัญหา กสทช. จะได้ส่งไปให้ตัดสินก่อน ที่จะมาถูกตัดสินโดย กสทช. 5 คน โดยเฉพาะกรณีที่ต้องใช้มาตรา 37 นั่นเอง ….