*เราจะก้าวไปข้างหน้าได้ ต้องทิ้งบางอย่างไว้ข้างหลัง* @supinya

9 ธ.ค. 57
Summary about digital TV network providers, case sued by Ch7 & more.

ปัญหาเรื่องโครงข่ายทีวีดิจิตอล (MUX) มี 2 ประเด็น คือ
1. วางโครงข่ายแล้วแต่มีปัญหาล่มบ่อย
2. ประเด็นใหญ่กว่าคือวางโครงข่ายล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขใบอนุญาต

มติ กสท. วานนี้เป็นการพิจารณาเรื่องปัญหาการวางโครงข่ายล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดของ 2 หน่วยงาน คือ อสมท. และ กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งผิดเงื่อนไขใบอนุญาต

การทำผิดเงื่อนไขใบอนุญาตมีบทลงโทษทางปกครองไต่ระดับดังนี้คือ เตือนก่อนปรับ – ปรับรายวัน-ปรับขั้นสูงขึ้น -พักใช้ใบอนุญาต -เพิกถอนใบอนุญาต และต้องมีมาตรการเยียวยาแก้ปัญหาให้ช่องที่เช่าโครงข่าย และ คนดูด้วย ‪#‎MUX

000

ส่วนกรณีช่อง 7 ฟ้องบอร์ด กสท. 3 คน เรื่องให้ช่อง 3 ออกคู่ขนานดิจิตอล-อนาล็อก เราก็กำลังเตรียมพร้อมสู้คดีนี้ ไว้จะมาจัดเต็มเรื่องนี้

ให้ทีมทนาย/ที่ปรึกษากฎหมายเตรียมพร้อมสู้คดี หลังขอสำเนาการฟ้องของช่อง7มาดูก่อน งานนี้ถือว่าต้องสู้เต็มที่เพื่อการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอลในประเทศไทย

รอบที่แล้วอุตสาหกรรมทีวีร่วมสู้กรณีช่อง3 เรื่องออกคู่ขนาน รอบนี้สู้คดีช่อง7 คงต้องขอแรงทีวีดิจิตอลมาช่วยเป็นพยานเรื่องความจำเป็นของการออกคู่ขนาน

ใครจะฟ้องอะไรมาไม่เป็นไร ฟ้องมาเราก็สู้คดีไป แต่ก็อย่าให้การเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอลสะดุด การออกคู่ขนาน 2 ระบบ จำเป็นในช่วงเปลี่ยนผ่าน 3 – 5  ปีนี้

หลังจาก 5 ปีนี้ผ่านไป ถ้าใครจะทำให้การออกคู่ขนานเป็นโมฆะไปก็คงไม่เป็นไรแล้ว เพราะคนส่วนใหญ่คงอพยพ migrated ไปดิจิตอล ทิ้งระบบสัมปทานทีวีไว้ข้างหลัง

ขอเวลาประมาณ 5 ปี สำหรับการออกคู่ขนาน ใครอย่ามาทำให้การเปลี่ยนผ่านนี่้สะดุด ทั้งการเปลี่ยนจากอนาล็อกไปดิจิตอล+ระบบสัมปทานไประบบใบอนุญาต

000

กฏของนิวตันบอกว่า

*เราจะก้าวไปข้างหน้าได้ ต้องทิ้งบางอย่างไว้ข้างหลัง*

การจะไปสู่ระบบแข่งขันได้ ต้องทิ้งระบบสัมปทานกึ่งผูกขาดให้จบสิ้นไป

ก่อนจบวาระหรือพ้นตำแหน่งที่ กสทช. ความสำเร็จประการสำคัญที่อยากฝากให้กับสังคมไทย คือการทิ้งระบบสัมปทานทีวี สู่ระบบแข่งขันเต็มตัว

ตราบเท่าที่ยังอยู่ในวาระ กสทช. อะไรที่จะมาขัดขวางการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทาน สู่ระบบแข่งขันบนใบอนุญาตนี้ ข้าพเจ้าก็จะสู้เต็มที่เหมือนที่ทำมา

ถ้าเราไม่ทำให้ช่องใหญ่ๆ ที่อยู่ในระบบสัมปทาน ย้ายมาอยู่ในระบบใบอนุญาตแบบเด็ดขาด มันจะเป็นเหตุให้สัมปทานยืดออกไปได้ อ้างยังมีคนดู จอดับไม่ได้

ดังนั้น ถ้าเราปล่อยให้ช่องอนาล็อกเดิมออกอากาศในระบบสัมปทานไปโดยไม่คู่ขนานระบบใหม่ แล้วคิดว่าเขาจะหายไปเองหลังสัมปทานหมด มันยากมาก ดูกรณีคลื่น 1800 MHz

กรณีสัมปทานคลื่นมือถือ 1800 หลังสัมปทานหมดมาเป็นปีแล้ว ระบบเดิมก็ยังให้บริการอยู่ ด้วยเหตุผลว่าไม่อยากให้ซิมดับ การประมูลใหม่ก็ไม่เกิดสักที

ส่วนตัวถึงมีความเห็นไม่ลงรอยกับบอร์ด กทค. เรื่องคลื่น 1800 MHz เพราะปล่อยให้สัมปทานหมดก่อนโดยยังไม่มีการประมูลเพื่อเข้าสู่ระบบใบอนุญาต ผู้บริโภคก็ตกเป็นตัวประกัน

ได้ย้ำไปหลายครั้งแล้วว่า เป้าประสงค์ของการเปลี่ยนสู่ทีวีดิจิตอล ไม่ใช่แค่เปลี่ยนเทคโนโลยี แต่คือการปฏิรูประบบสัมปทานมาอยู่ในระบบใบอนุญาต

ฝั่งทีวี การประมูลเพื่อจัดระบบระเบียบโครงสร้างใหม่ให้ทุกรายเข้าสู่ใบอนุญาตเกิดขึ้นเรียบร้อยก่อนวันที่สัมปทานจะหมด

เวลานี้คือคู่ขนานรอการเปลี่ยนผ่าน

เมื่อวันที่คู่ขนานยุติลง คือวันจบสิ้นของระบบสัมปทาน ประเทศไทยจะเข้าสู่ยุคใบอนุญาตเต็มตัว ทำงานมาตลอดชีวิต เพื่อปฏิรูปสิ่งนี้ในเชิงโครงสร้าง มันยากสาหัส

ตอนช่อง 3 เองไม่ยอมออกคู่ขนาน เราก็ต่อสู้กันเต็มที่ มาวันนี้รายเดิมอย่างช่อง7 ฟ้องค้านเรื่องการออกคู่ขนานช่อง 3บ้าง ศึกนี้จึงไม่ธรรมดา

การคู่ขนานจำเป็นในช่วงเวลานี้ เพราะถ้าไม่เอารายเดิมมาผูกพันอยู่ในช่องดิจิตอลใหม่ จะเป็นการเปิดโอกาสให้ระบบสัมปทานแบบเก่าต่อเวลาตัวเองได้

ถ้าเราทยอยย้ายคนดูมาอยู่ในระบบดิจิตอลได้หมดแล้ว การดำรงอยู่ของระบบอนาล็อกหรือสัมปทานก็คงไม่มีความหมายอีก ทุกรายแข่งขันกันต่อในระบบใบอนุญาต

ระบบใบอนุญาตให้ สิทธิ์ในการใช้คลื่นความถี่ 15 ปีทุกราย เริ่มพร้อมกันจบพร้อมกัน เงื่อนไขพื้นฐานเหมือนกัน ต่างจากระบบสัมปทาน ‪#‎ทีวีดิจิตอล

000

จริงๆ มีคนเตือนว่า ไม่ควรโพสต์แนวทางสู้คดี เดี๋ยวคู่กรณีรู้ก่อนแล้วเอาไปแก้ทาง แต่นี่เห็นว่า เราสู้ด้วยเหตุผลแบบเปิดเผยมาตลอด ไม่รู้จะปิดทำไม

กรณีช่อง 7 ฟ้อง กสท.กรณีช่อง3อนาล็อก คนละนิติบุคคลกับช่อง3ดิจิตอล (แม้จะเจ้าของเดียวกัน) จะบอกว่าชื่อนั้นสำคัญน้อยกว่า *ความเป็นเจ้าของ* ด้วยเหตุผลรูปธรรม อาทิ สมมติวันนี้ทางบริษัทกรุงเทพฯ (ช่อง7)หรือบริษัทอื่นๆที่ชนะการประมูลทีวีดิจิตอล จะมาขอแจ้งเปลี่ยนชื่อบริษัทกับ กสทช. คือเป็นเรื่องง่ายๆ ทำได้เลย

ที่ผ่านมามีหลายบริษัทที่ชนะการประมูลทีวีดิจิตอล แล้วขอเปลี่ยนชื่อไปแล้วหลายบริษัท (ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ตราบเท่าที่ *เจ้าของหลัก* ไม่เปลี่ยน)

อาทิ

- บริษัททรู ดีทีที จำกัด ที่ชนะการประมูลช่อง True4U หลังการประมูลมาขอเปลี่ยนชื่อนิติบุคคลใหม่เป็นบริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด

- บริษัท จีเอ็มเอ็ม บิ๊ก ทีวีจำกัด พอหลังประมูลขอเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัทจีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด (ช่อง GMM Channel)

- บริษัท 3เอ มาร์เกตติ้ง จำกัด ขอเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทไบรท์ทีวี (ช่อง @BrightTV20) หลังจากการประมูล ชื่อใหม่ไปคนละทางกับชื่อเดิม แต่เจ้าของหลักไม่เปลี่ยน

การขอเปลี่ยนชื่อบริษัทของผู้รับใบอนุญาต ทั้งกิจการฟรีทีวีและทีวีดาวเทียม ทำกันตลอดเวลา เป็นวาระเพื่อทราบใน กสท.เท่านั้น (ถ้าไม่เปลียนเจ้าของ)

ดังนั้น *ชื่อ* นิติบุคคลของผู้รับใบอนุญาต ไม่เกี่ยวกับอะไรกับมาตรา 9 พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ กสท. แค่รับทราบเรื่องชื่อ แต่เราดูที่ *ความเป็นเจ้าของ* ที่บริหารจัดการการประกอบกิจการนั้นด้วยตนเอง คนที่อนุญาตให้จดทะเบียนหรือเปลี่ยนชื่อนิติบุคคลของบริษัทคือกระทรวงพาณิชย์ ไม่ใช่ กสทช.

ถ้ากระทรวงพาณิชย์ผ่านก็ไม่มีปัญหา กสทช. ดูความเป็นเจ้าของ และ การทำตามเงื่อนไขใบอนุญาต

นอกจากเปลี่ยนชื่อแล้ว การเปลี่ยนแปลงกรรมการหรือผู้ถือหุ้น ก็ทำได้ แต่ต้องขออนุญาตก่อน และต้องไม่กระทบต่อ *ความเป็นเจ้าของหลัก* ตามกติกา

ที่กล่าวมาทั้งหมด คือจะบอกว่า ชื่อนิติบุคคลนั้น ไม่สำคัญเท่า *ความเป็นเจ้าของ* ตามกฎหมาย ที่มีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการสถานีและเนื้อหานั้น ถ้าผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิตอล มีเอกสารครบถ้วน ยืนยันถูกต้องว่าเป็นเจ้าของและมีอำนาจเต็มในการ *บริหารจัดการ* สถานีนั้น ก็ถือว่าเป็นไปตามเงื่อนไขใบอนุญาต

000

หลักการ เหตุผล ข้อกฎหมายที่จะใช้สู้คดีช่อง 7 ก็คืออันเดียวกับที่ใช้สู้คดีช่อง 3 ต่อหน้าศาลปกครองนั่นล่ะ แต่งานนี้คือแปลกดี เป็นคู่แข่งกันแต่ฟ้องเรื่องเดียวกัน

เหนื่อยใจตรงต้องทำงานเดินไปข้างหน้า แล้วต้องมาเตรียมทีมกฎหมายสู้คดีต่างๆ งานนี้ต้องใช้ทั้งทีมกฎหมาย สำนักงาน กสทช. และทีมที่ปรึกษาหน้าห้องประกบกัน จริงๆตั้งใจว่าจะไปเข้าเรียน โครงการอบรมหลักสูตรกฎหมายปกครองสำหรับผู้บริหารระดับสูง ของศาลปกครอง แต่ปีนี้สมัครไม่ทันแล้ว รอดูปีหน้า

ยอมรับว่าไม่ได้เรียนกฎหมายมา ไม่ได้จบวิศวะ ไม่ได้เป็นนักเศรษฐศาสตร์ แต่งานทุกวันนี้ต้องใช้ทั้ง 3 ทักษะ ใช้การเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยตนเองทุกวัน

เมื่อวานประชุมคณะทำงานตรวจสอบโครงข่ายทีวีดิจิตอล(MUX) นั่งฟังช่างวิศวกรเถียงกัน ก็ได้ข้อมูลมากขึ้น กลางเดือนนี้จะมีทีมลงพื้นที่กรุงเทพก่อน

พรุ่งนี้วันหยุด ไว้มาทยอยทวิตความคืบหน้าเรื่องการกำกับดูแลโครงข่าย (MUX) จากมติ กสท.และ คณะทำงานร่วมตรวจสอบที่คุยกันเมื่อวานนี้แบบละเอียด

000

ส่วนการเปลี่ยนแปลงระบบสัมปทาน/เช่าช่วงแบบเดิมในส่วนของสื่อวิทยุกระจายเสียง ปีหน้าจะมีความเข้มข้น- คืบหน้ามากขึ้น โปรดจับตา ไว้จะทยอยเล่า

*** อีกเรื่องที่มีสัญญาณน่ากังวลใจคือ ร่างประกาศ กสทช. เรื่องการเรียงช่องฟรีทีวีให้ตรงกันทุกล่อง (1-36) ส่อเค้ามีปัญหา แม้ผ่าน กสท.ไปแล้ว เนื่องจากมีผู้ประกอบ เคเบิล-ดาวเทียมรายใหญ่บางราย แสดงจุดยืนคัดค้านอย่างเต็มกำลัง ไม่รู้ว่าจะส่งผลต่อการตัดสินใจของบอร์ด กสทช.หรือไม่อย่างไร ฝากอุตสาหกรรมทีวี คนดูผู้บริโภค ช่วยกันติดตามจับตา อนาคตการเรียงช่องทีวีให้ตรงกันตามมาตรฐานเพื่อประโยชน์ในการแข่งขันและคนดู ซึ่งยังมีทิศทางไม่แน่นอน ***