จันทร์นี้!จับตาวาระกสท.:โครงข่ายอสมท. เสนอแผนเยียวยาลูกค้าดิจิตอลทีวี

จับตาวาระ กสท.  : โครงข่ายอสมท. เสนอแผนเยียวยาลูกค้าดิจิตอลทีวี

                นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า วันจันทร์ที่ 26 ม.ค. 2558 มีวาระในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ครั้งที่ 4/58 สำคัญน่าจับตา ได้แก่  แนวทางและมาตรการเยียวยาการให้บริการโครงข่ายทีดิจิตอล แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ประเภทบริการทางธุรกิจ ที่ใช้โครงข่ายของบริษัท  อสมท. จำกัด(มหาชน)  ตามที่ กสท. มีมติเมื่อเดือน ธ.ค. 57  ให้ อสมท. จัดทำมาตรการเยียวยาแก่ผู้ประกอบการที่ใช้โครงข่ายของตนเองแล้วส่งให้ กสท.เพื่อทราบภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีมติ โดย อสมท.ได้มีการประชุมร่วมกับผู้ใช้บริการทั้ง 3 รายได้เสนอมาตรการเยียวยาวที่กำหนดเป็นตัวเงินและมาตรการเพิ่มเติมที่จะดำเนินการ รวมทั้งความเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมของผู้ใช้บริการโครงข่าย

วาระอื่นๆ น่าติดตามได้แก่ วาระการอนุมัติผังรายการดิจิตอลทีวี ช่องเด็ก ทั้ง 3 รายได้แก่ ช่องรายการ 3 Family ช่องรายการ MCOT Kids&Family และช่องรายการ LOCA รวมทั้ง ช่องรายการไทยรัฐทีวี หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูงได้ยื่นเสนออนุมัติผังรายการครั้งนี้ด้วย และ วาระการออกร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. …

นอกจากนี้ เรื่องการเป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอล หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ ตามที่ กสท. มีมติให้ศึกษาข้อมูล ตรวจสอบประเด็นข้อกฎหมาย พร้อมทั้งอาจหารือกับคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. นั้น นางสาวสุภิญญา เปิดเผยว่า ตนได้ทราบว่า ที่ประชุมอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย กสทช. ได้มีการประชุมพิจารณาแล้ว ตนจึงได้ทำหนังสือถึงรองเลขาธิการ กสทช. เพื่อนำผลการประชุมของคณะอนุกรรมการบรรจุเข้าเป็นวาระในที่ประชุม กสท. ต่อไป ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า บ. SLC จะร้องขอความเป็นธรรมนั้น กสท. ก็ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอยู่แล้ว ยินดีที่ทาง SLC กับช่องสปริงนิวส์ต้องการเข้ามาชี้แจง ตนอยากเสนอให้กสท. เชิญคู่กรณีมาชี้แจง พร้อมทั้งมีเวทีสาธารณะเชิญทุกฝ่าย โดยเฉพาะนักกฎหมาย นักวิชาการ มาช่วยกันวิเคราะห์ในเรื่องนี้

“ส่วนตนเองยืนยันว่า กสท. ต้องยึดกรอบ กติกาที่ออกแบบมาและทุกช่องรับรู้ร่วมกันเพื่อรักษาโรดแมปทีวีดิจิตอลที่กำหนดสัดส่วนช่องข่าว 7 ช่อง 7 ใบอนุญาตที่จำกัดผู้ถือหุ้นที่มีผลประโยชน์ร่วมกันตามกติกาก่อนการประมูล  ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายฯ เพราะถ้า กสท. หรือ กสทช. ไม่ยึดกติกาทั้งหมดที่วางมาก็จะส่งผลต่อการกำกับอุตสาหกรรมสื่อประเภททีวีดิจิตอลแน่นอน ซึ่งจะทำให้รวนเรทั้งระบบ ถ้าองค์กรกำกับไม่ยึดถือกติกาให้เสมอต้นเสมอปลายตลอดใบอนุญาต 15 ปี ซึ่งในอนาคต หากเกิดเหตุลักษณะนี้ กสทช. ก็ต้องยึดกติกาแบบนี้เช่นกัน ดังนั้น กรณีนี้จึงจะไม่ใช่เป็นความขัดแย้งกับช่องหรือบริษัทใดเป็นการเฉพาะ แต่เป็นการยืนยันหลักการเพื่อรักษามาตรฐานของกติกาการกำกับดูแล” นางสาวสุภิญญา กล่าว

ซึ่งผลการประชุมทั้งหมดเป็นอย่างไร  ชวนติดตาม …